เริ่มงานต้นปีหน้า "เป่าลี่-ชิงเป่า" นักการทูตจีนคู่ใหม่ถึงสหรัฐฯ แล้ว

ต่างประเทศ
18 ต.ค. 67
12:09
77
Logo Thai PBS
เริ่มงานต้นปีหน้า "เป่าลี่-ชิงเป่า" นักการทูตจีนคู่ใหม่ถึงสหรัฐฯ แล้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จีนเตรียมส่งแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ไทยปีหน้า เนื่องในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี ขณะที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนรับ "เป่าลี่-ชิงเป่า" ทูตขนปุยสีขาวดำคู่ใหม่ พร้อมยืนยันท่านทูตเตรียมตัวเริ่มงานต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียน ประกาศเชิญชวนชาวอเมริกันและนักท่องเที่ยว เตรียมเจอ "แพนด้ายักษ์" ทูตสันถวไมตรีคู่ใหม่จากประเทศจีน "เป่าลี่-ชิงเป่า" ซึ่งจะเผยโฉมในวันที่ 24 ม.ค.2568 หลังจากที่เดินทางโดยเครื่องบินโบอิง 777 Panda Express ลายแพนด้ากินไผ่ ยาวนานถึง 19 ชั่วโมง ของบริษัทขนส่งทางอากาศ FedEx ถึงสนามบินนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส รัฐเวอร์จิเนีย และ จะนั่งรถบรรทุกเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน

ก่อนออกเดินทางข้ามทวีป เจ้าหน้าที่จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศจีนระบุในแถลงการณ์ว่า เราได้เตรียมซาลาเปาข้าวโพด หน่อไม้ แครอท น้ำ และ ยา เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดการเดินทางของทูตทั้ง 2 จะราบรื่นและปลอดภัย 

แพนด้ายักษ์ทั้ง 2 ได้รับการฝึกร่างกายให้คุ้นชินกับการเดินทางระยะไกล ทุก ๆ เช้าทั้งคู่จะเดินเข้าไปในลังไม้ที่ใช้สำหรับขนส่งและมีอาหารให้กินเพียงเล็กน้อย ผู้ดูแลแพนด้ายักษ์ทั้ง 2 บอกกับ CNN ว่าดูเหมือนว่าเจ้าทูตขนปุยจะรู้สึกสบาย กรงที่พวกมันต้องเข้าไปนั้นกว้างพอสมควร พวกมันสามารถนอน ยืน ตีลังกากลิ้งไปมาได้

เมื่อเดินทางถึงพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน เป่าลี่ และ ชิงเป่า จะถูกกักกันโรคเป็นเวลา 30 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด และค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมเพื่อให้เจ้าหมีขาวดำคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ 

อ่านข่าว : ไขคำตอบ "แพนด้า" หมีที่ไม่ทำตัวเป็นหมี

คนหนึ่งกินเก่ง อีกคนไว้ตัว รู้จักท่านทูตคู่ใหม่จากจีน

  • เป่าลี่ 宝力 แพนด้ายักษ์เพศผู้ เกิดเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 อายุ 3 ขวบ 2 เดือน ในภาษาจีนกลาง "เป่า" แปลว่าสิ่งล้ำค่าหรือสมบัติ และ "ลี่" แปลว่าความมีชีวิตชีวา ความแข็งแกร่ง เมื่อรวมกันแล้ว "เป่าลี่" แปลว่า พลังที่กระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา เป่าลี่ เกิดที่มณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แม้จะเกิดในจีน แต่เขามีแม่ที่เกิดในวอชิงตัน ซึ่งเป็นผลผลิตจากคู่แพนด้ายักษ์คู่แรก "เสี่ยวฉีจี้" ที่จีนส่งให้สหรัฐฯ เมื่อ 23 ปีก่อน "เหมยเซียง และ เทียนเทียน" เป่าลี่เป็นแพนด้าที่กระตือรือร้น สนใจผู้คนที่เดินผ่านไปมา และกินเก่งมาก 
    Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

    Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

    Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute



  • ชิงเป่า 青宝 แพนด้ายักษ์เพศเมีย เกิดวันที่ 12 ก.ย.2564 อายุ 3 ขวบ 1 เดือน ชื่อของเธอหมายถึง "สีเขียว" และ "สมบัติ" ชวนให้นึกถึงถิ่นที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์และเป็นภูเขาของแพนด้าที่สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยและความรักที่มีต่อเธอ ชิงเป่าแพนด้าเพศเมีย มีบุคลิกที่ตรงกันข้ามกับเป่าลี่ เธอเป็นสาวน้อยที่ชอบเก็บตัว ชอบนอนพักผ่อนบนต้นไม้ หยิ่งมากเมื่อมนุษย์เรียกชื่อ 
    Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

    Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

    Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

ทำไมแพนด้ามาอยู่ที่สมิธโซเนียน

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียน ถือว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของสหรัฐฯ ที่จัดแสดงทูตซอฟต์พาวเวอร์จากจีน ได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตนำเข้าแพนด้ายักษ์ 2 ตัวจากจีนกับสำนักงานสัตว์ป่าและสัตว์น้ำของสหรัฐฯ โดย FedEx จะทำหน้าที่เป็นพันธมิตรด้านการขนส่งของสวนสัตว์ โดยใช้เครือข่ายทางอากาศและภาคพื้นดินแบบบูรณาการ 

เงื่อนไขของข้อตกลง แพนด้ายักษ์ตัวผู้และตัวเมีย จะถูกส่งจากจีนมายังพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน โดยที่กรรมสิทธิ์ทั้งแพนด้าที่โตเต็มวัยและลูกแพนด้าที่เกิดออกมา จะยังคงเป็นของประเทศจีน ลูกแพนด้าที่เกิดที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน จะต้องย้ายกลับไปยังประเทศจีนเมื่ออายุครบ 4 ปี 

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนจะจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี 1,000,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการอนุรักษ์ในประเทศจีน "เป่าลี่และชิงเป่า" จะเป็นคู่แพนด้ายักษ์ที่กลับมาทำให้ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนคึกคักอีกครั้ง หลังจากตู้โชว์ว่างเปล่ามานานร่วมปี 

แพนด้าที่มาจากโต๊ะอาหาร

ในการเดินทางเยือนจีนของ ปธน.ริชาร์ด นิกสัน ในช่วงสงครามเย็น ปี 1972 สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง "แพต นิกสัน" เกิดความหลงใหลใน "แพนด้า" ที่สวนสัตว์ปักกิ่ง

ไม่กี่วันต่อมา ขณะนั่งรับประทานอาหารร่วมกับนายกรัฐมนตรีจีน "โจวเอินไหล" แพต นิกสัน สังเกตเห็นกล่องบุหรี่บนโต๊ะที่มีรูปแพนด้า เธอชมว่าแพนด้าเป็นสัตว์ที่น่ารัก และนายกฯ จีนในขณะนั้นจึงตอบไปว่า "ผมจะให้คุณบ้าง"

หลายสัปดาห์ต่อมา แพนด้า 2 ตัว ชื่อ "หลิงหลิง และ ซิงซิง" มาถึงสวนสัตว์แห่งชาติในวอชิงตัน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ไปรับด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวติดตลกว่า "ฉันคิดว่าแพนด้าจะได้รับความนิยมอย่างมากที่สวนสัตว์แห่งนี้" และเธอก็พูดถูก ในวันแรกที่แพนด้าทั้ง 2 ตัวเปิดตัวต่อสาธารณชน มีรายงานว่าดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากถึง 20,000 คน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แพนด้ายักษ์ก็กลายมาเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ปีละหลายล้านคน

Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

นับจากนั้น ชาวอเมริกันและนักท่องเที่ยวต่างมีความสุข ที่ได้เห็นความน่ารักของทูตสันถวไมตรีจากจีน จนกระทั่งในเดือน พ.ย.2566 ส่วนจัดแสดงแพนด้าก็ต้องยุติการให้บริการ เพราะ "เหมยเซียง เทียนเทียน และเสี่ยวฉีจี้" ลูกแพนด้าตัวสุดท้อง เดินทางกลับประเทศจีนเพราะสัญญาการเช่าทูตขนปุยสีขาวดำหมดลง

แม้ว่าการอพยพของแพนด้าในสวนสัตว์สมิธโซเนียน และสวนสัตว์ที่อื่น ๆ ในสหรัฐฯ จะเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่หลายคนก็คาดการณ์ว่า นอกจากเรื่องของการหมดสัญญาเช่าแล้ว อีกส่วนอาจมาจากความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผู้สังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าปักกิ่งกำลังหยุด "การทูตแพนด้า" กับสหรัฐฯ และหันไปให้เงินกู้แพนด้าแก่ยุโรปและตะวันออกกลางแทน

Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

Credit : Smithsonian's National Zoo & Conservation Biology Institute

ไทยเตรียมรับแพนด้าคู่ใหม่ปีหน้า

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบ นายหาน จื้อ เฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยในการพูดคุย มีการหารือในประเด็นที่ปีหน้า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนจะครบรอบ 50 ปี ทั้ง 2 ฝ่ายจึงเห็นพ้องที่จะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปลายปีนี้ ไปจนถึงปีหน้า ทางจีน ยังได้ยืนยันว่า จะนำแพนด้ายักษ์คู่ใหม่มาไทย เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์อีกครั้ง

สำหรับประเทศจีน เคยส่งแพนด้ายักษ์คู่แรกได้แก่ "ช่วงช่วง กับ หลินฮุ่ย" มาไทยเมื่อ 21 ปีก่อน คือในเดือน ต.ค.2546 จากนั้น หลินฮุ่ย ได้ให้กำเนิดแพนด้าเพศเมีย 1 ตัวเมื่อปี 2552 คือ "หลินปิง" ก่อนจะถูกส่งกลับไปยังเมืองจีน โดยแพนด้า ช่วงช่วง ได้จากไปเมื่อปี 2562 ส่วน หลินฮุ่ย จากไปเมื่องเดือนเมษายนปี 2566 ทำให้ในปัจจุบันไม่มีแพนด้าที่อยู่ในประเทศไทย

อ่านข่าว : แพนด้า "หลินฮุ่ย" ตายแล้ว สวนสัตว์เชียงใหม่แถลงสาเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง