ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

20 ปี ตากใบบาดแผลรอวันเยียวยา บนเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้

อาชญากรรม
17 ต.ค. 67
17:29
610
Logo Thai PBS
20 ปี ตากใบบาดแผลรอวันเยียวยา บนเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผ่านพ้น 2 ทศวรรษ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ยังคงเป็นบาดแผลตราตรึงตามหลอกหลอนสังคมไทย และคนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หลังมีผู้สูญเสียจำนวน 85 คน แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้ว แต่แผลแห่งความเจ็บช้ำ ไม่ได้จางหายตามระยะเวลา และตอกย้ำให้เห็นว่า ไฟใต้ไม่ได้สงบลง ท่ามกลางคำถามสำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรม และกระบวนการสร้างสันติภาพที่แท้จริงไว้เบื้องหลัง

ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาการเมือง ผู้ศึกษาเรื่องอำนาจ อัตลักษณ์ และความขัดแย้งในชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์พิเศษ ไทยพีบีเอส เพื่อสำรวจร่องรอยความทรงจำ บทเรียนที่สังคมไทยพึงตระหนัก และความหวังในการแสวงหาทางออกจากวังวนความรุนแรง

มองตากใบ 20 ปี ในมิติการเมือง สังคม และกฎหมายอย่างไร

ตากใบ เป็น 1 ใน 3 เหตุการณ์ที่มักจะถูกนับการเปิดศักราชใหม่ของเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ จริงๆความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มี 2 กระแสบวกกัน คือ รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายที่เรียกว่า นโยบายกลืนกลายแกมบังคับ ทำให้คนมลายูมุสลิมรู้สึกว่าถูกเบียดขับ จนนำไปสู่ความไม่พอใจ ประกอบกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดกระแสการเรียกร้องเอกราชในบรรดาประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

และ 2 กระแสบวกดังกล่าว ผนวกเข้าด้วยกัน ทำให้คนในชายแดนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นกลุ่มแกนนำคล้าย ๆ กับตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวขึ้นมา เรียกว่า ขบวนการแยกดินแดนมลายู เดิมทีประสงค์อยากเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาลายา ซึ่งตอนนั้นกำลังจะแยกตัวจากอังกฤษ แต่ภายหลังตั้งรัฐอิสระปาตานีขึ้นมา และมีการเคลื่อนไหวเรื่อยมา ประเด็นที่เรียกร้อง คือ เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐอิสระปาตานี ในช่วงนั้นมีการขยายตัวอย่างมากในทศวรรษ 1970 – 1980 มีจำนวนมากถึง 84 กลุ่ม และถดถอยลงในช่วงศตวรรษ 90 กระทั่งคนทั่วไปคิดว่า กลุ่มนี้หายไปแล้ว

จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในช่วงมกราคม กรือเซะ ในช่วงเมษายน และตากใบในเดือนตุลาคม 3 เหตุการณ์นี้ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อจะหมายความว่า นี่เป็นศักราชใหม่ ซึ่งต่างไปจากขบวนการแยกดินแดนมลายูช่วงก่อนหน้านั้น

ตากใบอยู่ส่วนไหน ในกระแสความไม่สงบระลอกใหม่

ตากใบไม่ได้เป็นการปฏิบัติของกลุ่มนักเคลื่อนไหว แต่เป็นกลุ่มประชาชนที่ออกมาชุมนุมซึ่งไม่ได้ประสงค์ที่จะก่อความรุนแรงหรือทำร้ายใคร เพียงแต่มารวมตัวชุมนุมกันเรียกร้องความยุติธรรมซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย  เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมก็รวมตัวกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คนที่อยู่ในอำนาจมาตอบสนองในสิ่งที่เรียกร้อง

แต่สิ่งที่ตามมากลับเป็นการสลายการชุมนุมที่ไม่สมเหตุสมผล ยังไม่รวมกับการนำผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุก และนำไปสู่การเสียชีวิต 70 กว่าคน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ถือเป็นผลกระทบจาก กฎหมายพิเศษที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 มาตรา 16 บัญญัติ ระบุชัดเจนว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระมัดระวังมากพอกับกลุ่มคนที่เข้าไปปฏิบัติด้วย ด้วยความรู้สึกที่ตัวเองมีหลังพิงอยู่ คือ กฎหมายฉบับนี้

ถ้าไปดูข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของ BRN ไม่ว่าจะเป็นทางกิจกรรมในพื้นที่ หรือแม้แต่ในโต๊ะเจรจาสันติภาพ ไม่มีข้อใดพูดถึงตากใบ ตากใบเป็นความพยายามของคนที่สูญเสีย เป็นความพยายามของคนธรรมดาสามัญที่พบว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่กลับไม่ได้บันดาลความยุติธรรมให้กับพวกเขาเท่าที่ควร จึงต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกับทนายความ ร่วมมือกับภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในการรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่

ในเบื้องต้นที่ฟ้องโดยหน่วยงานรัฐมันจบไปแล้ว แต่มันไม่ได้ตัดสิทธิ์ของผู้ที่สูญเสียจึงมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่จนถึงก่อนที่จะหมดอายุความ ซึ่งมันคือกระบวนการปกติ

และการที่จะพึ่งพากระบวนการยุติธรรม ที่แม้จะพึ่งพาอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องลองดู แล้วพวกเขาก็ลองมาจนถึงตอนนี้...ตากใบเป็นความพยายามของคนที่สูญเสีย ตากใบเป็นความพยายามของคนธรรมดาสามัญที่พบว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่กลับไม่ได้บันดาลความยุติธรรมให้กับพวกเขาเท่าที่ควร

ตากใบ - 6 ตุลา – สลายคนเสื้อแดง เหมือนและต่างอย่างไร เรื่องความยุติธรรม

ความคล้ายคลึง คือ กลุ่มของคนที่ไปชุมนุมมีสำนึกอย่างหนึ่ง คือ ตัวเองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเทียบเคียงกับคนเสื้อแดง คำหนึ่งที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองคือ "ไพร่" และ "สองมาตรฐาน" เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคล้าย กับคนในจังหวัดชายแดนใต้ ที่รู้สึกเหมือนตัวเองถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้น 2 ไม่เคยรู้สึกว่า ตัวเองเทียบเท่ากับคนไทยโดยทั่วไป อยากทำอะไรตามต้องการก็ทำไม่ได้ อยากระบุในเอกสารราชการว่าเป็นสัญชาติไทย เชื้อชาติมลายู ก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน กลับได้รับอนุญาตให้ใช้ได้

ความคล้ายถัดมา คือ การตอบสนองของรัฐที่มีต่อการเรียกร้องลักษณะเช่นนี้จากคนที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม การตอบสนองด้วยความรุนแรง หรือการใช้มาตรการอย่างไม่ได้สัดส่วน อาจจะมีข้ออ้าง เช่น กรณีคนเสื้อแดงมีชายชุดดำในการชุมนุม แต่เพียงแค่ข้ออ้างชายชุดดำ ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะใช้ความรุนแรงมากขนาดนั้น เป็นการสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯขนาดใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยมี

เช่นเดียวกับกรณีตากใบ ถึงแม้จะมีการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 ชีวิต แต่การเสียชีวิตที่ตามมาอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากบนรถบรรทุกก็แสดงให้เห็นว่ามันคือมาตรการที่ใช้มันไม่ได้สัดส่วน

ซึ่งสิ่งที่ตามมาและคล้ายกันอีก คือ ผู้กระทำกลับไม่ได้รับผิด และยังมีกฎหมายที่พิงหลังอยู่ด้วย ในกรณีของคนเสื้อแดงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเขตใช้กระสุนจริง อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยิงได้ เช่นเดียวกันในกรณีตากใบที่มี พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เช่นกัน คือ การที่กฎหมายยกเว้นการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างสภาวะยกเว้นขึ้นมาในอาณาบริเวณของกฎหมายที่อนุญาตให้ที่คนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ซึ่งในสภาวะปกติทำไม่ได้ ซึ่งในประเทศอื่นก็อาจจะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เพียงแต่การบังคับใช้บางประเทศจะมีการบังคับใช้ที่ถ่วงดุลผ่านปัจจัยต่าง ๆ แต่ในกรณีของบ้านเรามันไม่มีการถ่วงดุลเท่าไหร่

อย่างกฎอัยการศึกก็ประกาศใช้โดยทหารเป็นหลักที่ใช้อำนาจกับทหารค่อนข้างเยอะ เอาผิดไม่ได้ แม้กระทั่งฝ่ายบริหารเองก็เข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ และอย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ให้อำนาจนายกฯในฐานะฝ่ายบริหาร ที่ไม่มีการถ่วงดุลใด ๆ เข้ามาช่วยอีก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของประเทศไทย

กฎหมายพิเศษ เป็นทางออกหรือกับดักแห่งความขัดแย้ง

ในสายตาความมั่นคง เขาจะบอกว่า ขนาดมีกฎหมายพิเศษยังเอาไม่อยู่ ก็จำเป็นจะต้องเอาไว้ต่อไปแต่ว่ากับคนในพื้นที่เขามองว่าใช้กฎหมายธรรมดาก็พอ ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับในจังหวัดชายแดนใต้ ข้อที่ข้อเสนอขึ้นมาให้ยกเลิก อันแรก คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก หรือไม่ก็ให้บังคับใช้เพียงแค่ฉบับใดฉบับหนึ่ง ตามลำดับความสำคัญ แต่ในปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น บางพื้นที่ก็เจอกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ บางพื้นที่อาจจะเหลือ 1-2 ฉบับ

ตากใบจะมีนัยยะสำคัญในแง่ของเหตุการณ์ความไม่สงบ ในแง่ของการสุมไฟ หรือเอาน้ำมันราดเข้าไปในกองเพลิง เพราะถ้าไปดูเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ มันคือ ปัญหาทางการเมืองที่มีเหตุมาจากวัฒนธรรม คนรู้สึกว่ารูปแบบการปกครองที่มีอยู่ไม่สอดรับกับวิธีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี ของพวกเขา เริ่มต้นจากตรงนั้น

แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความอยุติธรรม สิ่งที่พบคือหลายกรณีที่สามารถดึงเอาคนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมได้คือการอ้างถึงการที่พ่อแม่พี่น้องญาติหรือคนที่รู้จักถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น โดนควบคุมตัวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นต้น ความไม่เป็นธรรมที่เขาประสบพบเจอจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มันเป็นเชื้อเพลิงที่คอยหล่อเลี้ยงเอาไว้ไม่ให้เหตุการณ์มันสงบได้

กรณีตากใบซึ่งเป็นเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ ถ้าหากไม่ถูกคลี่คลายมันจะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ไปหล่อเลี้ยงเหตุการณ์นี้เอาไว้มันอาจจะขยายตัวมากขึ้นก็ได้

ดังนั้น รัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังสามารถพึ่งพาได้ ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นเครื่องมือในการกดทับหรือกำจัดกลุ่มพวกเขา หากแต่เป็นช่องทางที่พวกเขาสามารถที่จะเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้

และกรณีตากใบเป็นเหมือนบททดสอบบทใหญ่ว่ามันจะลงเอยไปในทิศทางไหน ถ้าเกิดว่ามันเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมได้ก็จะทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่ารัฐไทยอย่างน้อยก็มีความไว้วางใจได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ปฏิกิริยามันก็จะย้อนกลับและทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลุกลามหนักขึ้นไปอีก

บทเรียนตากใบกับเส้นทางสันติภาพอย่างยั่งยืน

อย่างแรก คือ เรื่องมาตรการในการรับมือกับผู้ชุมนุม ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเป็นไปตามมาตรฐานสากลเท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเรามักจะบังคับใช้กฎหมายที่ใช้พิงหลัง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อาจจะไม่ค่อยกังวล หรือคิดให้ถี่ถ้วนรอบคอบ จนละเลยเรื่องมาตรการในการรับมือกับผู้ชุมนุม

เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องคิดถึงมาตรการรับมือการชุมนุมที่เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษ เพราะมันจะทำให้คนที่อยู่สถานการณ์ขาดความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้อำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่ามันน่าจะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่มันไม่ควรจะเกิดจากเพียงแค่การชุมนุมของผู้คนในพื้นที่

หากคดีตากใบหมดอายุความ นับจากนี้จะเป็นอย่างไร

มันก็จะสะสมความเจ็บช้ำ ความโกรธเคือง คือมันจะไม่ปะทุออกมาเป็นสเกลใหญ่ แต่มันจะฝังลึกเข้าใจ ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้เป็นไปยากขึ้น และมันก็จะเอื้อให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงมีความชอบธรรมมากขึ้นอีก อย่าให้มันเป็นเช่นนั้นเลย

ทำไม สังคมไทยต้องมีส่วนร่วมกับตากใบ หรือ ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เพราะ
เรื่องตากใบ นอกจากความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาแล้ว ความคล้ายคลึงที่เกิดขึ้น คือ คุณไม่ได้เป็นข้อยกเว้นของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้าหากไปกระด้างกระเดื่องกับรัฐ

กรณีคนเสื้อแดงชี้ให้เห็นแล้วว่า เป็นคนธรรมดาสามัญ ก็โดนรัฐใช้ความรุนแรงได้ เช่นเดียวกับ 6 ตุลา ฉะนั้นเรายังยินดีจะอยู่เฉยแล้ว ไม่เข้าไปรับรู้เรื่องราวตรงนั้นหรือ หากยังยินดีจะอยู่เฉย เพื่อวันหนึ่ง เราอาจต้องเจอเรื่องราวแบบนี้แล้วไม่มีใครมาช่วยคุณอย่างนั้นหรือ ผมไม่คิดว่า เราควรจะทำเช่นนั้น เราจะควรจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ไม่มีใครต้องมาเผชิญกับชะตากรรม เช่นนี้อีกต่อไป ในการอยู่ภายใต้รัฐไทย ในฐานะที่เป็นพลเรือน

สังคมไทย ยังต้องเรียนรู้กรณีของคนชายแดนใต้ค่อนข้างเยอะ ท้ายที่สุด เรากับเขา อาจจะมีสภาพไม่ต่างกันเมื่อใดก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นผู้กระด้างกระเดื่องในสายตาของรัฐ

ปัจจุบันหลายคนดูเหมือน ว่า มีความก้าวหน้าทางการเมือง รักประชาธิปไตย แต่พอเจอเหตุการณ์ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปฏิกิริยาก็เปลี่ยนไปอีกทางหนึ่ง นี่ คือโจทย์ใหญ่ อาจจะใหญ่กว่าเรื่องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องไม่ยากเท่าไหร่ในการทำความเข้าใจ แต่ในเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมมันมีความซับซ้อน ท้ายที่สุด เรากับเขา อาจจะมีสภาพไม่ต่างกัน เมื่อใดก็ตาม ที่ถูกมองว่า เป็นผู้กระด้างกระเดื่องในสายตาของรัฐ

รายงานโดย : กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว:

กมธ.จ่อเชิญ "ภูมิธรรม - เลขา สมช. - มทภ.4" ถกแนวทางรับมือคดี "ตากใบ" หมดอายุความ

"ทักษิณ" ย่องรายงานตัวคดีม.112 ยังไม่ยื่นขอออกนอกประเทศ

แกนนำเผยผลหารือ 3 กระทรวง แนวโน้มดี - ยืนยันปักหลักชุมชนุมถึง สิ้น ต.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง