ส่องทิศทางวงการหนังสือกระเตื้อง 1.7 หมื่นล้าน - "อีบุ๊ก" มาแรง สูงวัยนิยม

สังคม
17 ต.ค. 67
13:34
128
Logo Thai PBS
ส่องทิศทางวงการหนังสือกระเตื้อง 1.7 หมื่นล้าน - "อีบุ๊ก" มาแรง สูงวัยนิยม

ช่วงรอยต่อระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ ที่หมายถึง สื่อโทรทัศน์, หนังสือพิมพ์, วิทยุ และนิตยสาร สู่รูปแบบดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้ผู้คนหันไปสนใจบริโภคข่าวสารจากสื่อออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบผ่านจอโทรศัพท์มือถือช่องทางการรับข่าวสารที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของ E-Book ถือเป็นช่วงขาลงของวงการหนังสือ เช่นเดียวกับร้านหนังสือที่ลดลง มีการปรับลดขนาด และเพิ่มสินค้า Non book และบางส่วนกลายเป็นร้านหนังสือแปรสภาพ ไปอยู่บนออนไลน์ แต่กระนั้นก็ตามก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มคนรักการอ่านหนังสือน้อยลง แต่เป็นเพียงอ่านจากโลกคนละใบ

เมื่อเทียบกับสถิติย้อนหลัง คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น โดยผลการสํารวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยอ่าน เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ 39 นาทีในปี 2551 เป็นเฉลี่ยวันละ 80 นาทีในปี 2561 และ 113 นาทีในปี 2566

อีกทั้งเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย ปี 2564 พบว่า ภาพรวมธุรกิจหนังสือเติบโตถึงร้อยละ 20 จากการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์

ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

นายธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และ อนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ กล่าวว่า วงการหนังสือในอดีตและปัจจุบัน สิ่งแตกต่างที่เห็นอย่างชัดเจน คือในอดีตความบันเทิงของผู้รับสื่อรับสาร มีแค่โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือ แต่ในทุกวันนี้การรับสื่อสารของผู้ชม หรือผู้บริโภคมีช่องทางมากมายหลายหลาก ทั้งบนมือถือ และสื่อโซเชียลต่าง ๆ

อ่านข่าว : ความหวัง "สถาบันหนังสือ" ซอฟต์พาวเวอร์ นับ 1 กับงบ 69 ล้าน

ตลาดหนังสืออดีตถึงปัจจุบัน

ขาลงของวงการหนังสือเป็นช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างสื่อใหม่และสื่อเก่า ที่ทำให้ผู้คนไปสนใจรับสื่อออนไลน์มากกว่า แต่สำหรับช่วง โควิด-19 เป็นช่วงที่คนมีเวลา อยู่กับบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายหนังสือกระเตื้องขึ้นจนถึงปัจจุบัน

มูลค่าตลาดหนังสือ

  • ปี 2557 มูลค่า 29,300 ล้านบาท
  • ปี 2558 มูลค่า 27,900 ล้านบาท
  • ปี 2559 มูลค่า 27,100 ล้านบาท
  • ปี 2560 มูลค่า 23,900 ล้านบาท
  • ปี 2561 มูลค่า 18,000 ล้านบาท
  • ปี 2562 มูลค่า 15,900 ล้านบาท
  • ปี 2563 มูลค่า 12,500 ล้านบาท
  • ปี2564 มูลค่า 13,000 ล้านบาท
  • ปี 2565 มูลค่า 15,000 ล้านบาท
  • ปี 2566 มูลค่า 17,000 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 หนังสือกระดาษส่วนแบ่งการตลาดเริ่มกระเตื้องขึ้น โดยข้อมูลจากยอดขายหนังสือในงานหนังสือ ตั้งแต่งานหนังสือ ปี 2560 จนถึงงานสัปดาห์แห่งชาติ ครั้งที่ 52 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค.-8 เม.ย.2567 ดังนี้

  • ปี 2560 ยอดขาย 293,813,130 ล้านบาท
  • ปี 2561 ยอดขาย 363,358,967 ล้านบาท
  • ปี 2562 ยอดขาย 352,962,021 ล้านบาท
  • ปี 2565 ยอดขาย 199,938,889 ล้านบาท
  • ปี 2566 ยอดขาย 350,578,678 ล้านบาท
  • ปี 2567 ยอดขาย 403,187,672 ล้านบาท

E-Book มาแรง สูงวัยนิยมอ่าน

จากผลสำรวจของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่ร่วมกับทางคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนอ่าน E-Book ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุแล้ว เพราะ E-Book สามารถขยายตัวหนังสือได้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งมีฟังก์ชันช่วยอ่าน ช่วยออกเสียง

เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว E-Book มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 12% และเพิ่มเป็น 20% ในปี 2567 ตลาด E-Book แนวโน้มมีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทั้งนี้ตลาด E-Book โตขึ้น หนังสือก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป แต่จะโตขึ้นไปด้วยกัน

E-Book ไม่ได้ทำให้ยอดขายหนังสือน้อยลง บางครั้ง E-Book ทำให้หนังสือขายดีด้วยซ้ำไป เป็นเพราะเมื่ออ่านเรื่องราวจาก E-Book อ่านในออนไลน์แล้ว คนอ่านอยากได้หนังสือจากเรื่องราวที่ชื่นชอบมาสะสม และเป็นเจ้าของ

กลุ่มตัวอย่างแจกแจงสัดส่วนของหนังสือที่ซื้อในปีที่ผ่านมา ว่าซื้อในรูปแบบพิมพ์บนกระดาษ รูปแบบ

E-Book และ รูปแบบหนังสือเสียงด้วยสัดส่วนร้อยละเท่าใด ให้รวมกันแล้วได้จำนวนเต็มเป็น 100 ผลดังภาพ 27 พบว่า

ทั้งนี้ การซื้อหนังสือในรูปแบบพิมพ์บนกระดาษด้วยสัดส่วนสูงกว่ารูปแบบอื่นอยู่ที่ ร้อยละ 66 -75 รองลงมาคือ อีบุ๊กที่มีส่วนแบ่งสูงสุดในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 32 ตามด้วยหนังสือเสียงที่กลุ่มตัวอย่างซื้อเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1-2 อาจเป็นเพราะปัจจุบันหนังสือเสียงภาษาไทยยังมีช่องทางการขายน้อยและมีหนังสือให้เลือกน้อย

เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างอ่านหนังสือในรูปแบบกระดาษและอีบุ๊กพอ ๆ กัน แต่เมื่อถามถึงรูปแบบหนังสือที่ซื้อ กลับพบว่ามีสัดส่วนการซื้อหนังสือกระดาษมากกว่าอาจเป็นไปได้ว่า อีบุ๊กที่อ่านส่วนหนึ่งอาจได้มาจากการดาวน์โหลด ไม่ได้ซื้อ สอดคล้องกับผลในข้อก่อนหน้าที่พบว่าการดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีการได้มาซึ่งหนังสือที่อ่านที่ใช้มากเป็นอันดับสองรองจากการซื้อ

ในขณะที่หนังสือเล่มที่เป็นกระดาษอาจยังไม่มีทางเลือกเป็น E-Book หากต้องการอ่านก็จำเป็นต้องซื้อ หรือบางคนอาจซื้อเพื่อเก็บสะสม ซึ่งจะอยู่ในรูปของหนังสือกระดาษมากกว่า

สำนักพิมพ์-ร้านหนังสือ สวนทางกระแสเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ผ่านมาร้านหนังสือปิดตัวลงไปเยอะ แต่ในทางกลับกันก็มีร้านหนังสือที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน สำหรับร้านหนังสือที่ปิดตัวลงนั้นเป็นร้านหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์ หรือ Chain Store และมีการขายในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งจะโดนอีคอมเมิร์ซแย่งตลาด เพราะกลุ่มอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มต่างๆ มีโค้ตในการลดราคาสินค้า และสามารถส่งถึงบ้านได้เลยโดยที่ไม่ต้องไปหน้าร้าน

จากสถิติร้านหนังสือที่เป็นร้านขายออนไลน์ เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 500 ร้านค้า หรือที่เรียกว่า “ร้านหนังสือแปรสภาพ” เพราะลดต้นทุนในการเช่าหน้าร้าน จะทำให้สะดวกขึ้น รวมถึงแผงนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ที่ปิดไปทั้งหมด ที่มูลค่าการตลาดหายไปทั้งหมด หันไปอยู่ในโซเชียล

สำหรับร้านหนังสือที่ยังเปิด และไม่ใช่ Chain Store ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์ 33 แห่ง แต่ทั้งนี้ยังมีร้านหนังสืออีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์อีกจำนวนมากโดยเฉพาะต่างจังหวัด

ในส่วนสำนักพิมพ์ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่ทำนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ที่ปิดตัวลง เนื่องจากนิตยสารและหนังสือพิมพ์ periodic เป็นการออกตามเวลา แต่ทุกวันนี้เป็นการสื่อสารข่าวสารแบบเรียลไทม์ โดยในปี 2563 สำนักพิมพ์และร้านหนังสือมีอยู่ 282 แห่ง แต่ปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 418 แห่ง

สำนักพิมพ์ที่ปิดตัว อาจจะเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือไม่ตรงกับตลาดในปัจจุบัน หรืออาจเป็นปัญหาการบริหารในตัวองค์กรเอง

ทั้งนี้ต้นทุนหนังสือที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกรูปแบบ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่ากระดาษ แต่สิ่งที่ไม่เพิ่มคือ ค่าแรง ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพ หนังสือก็เช่นกันที่ขึ้นราคาตามค่าครองชีพ

ถามว่าหนังสือแพงแล้วเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือไหม? แต่ค่าแรงหรือค่าจ้าง หรือเงินเดือน ของคนไทย มันถูกเกินไป จนไม่สามารถจ่ายสินค้าวัฒนธรรมได้

หนังสือไม่มีวันตาย

ต้องแยกให้ออกระหว่างขายกระดาษ หรือ ขายเนื้อหาที่อยู่ในกระดาษ ถ้ามองว่าขายกระดาษก็จะตายไปในวันหนึ่ง แต่ถ้าขายเรื่องราวขายความรู้ ขายภูมิปัญญาที่อยู่ในสื่อชนิดหนึ่ง ก็จะไม่มีวันตาย

ย้อนกลับไปสมัยที่คนจารึกบนใบลาน มาในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระดาษ เป็นแค่การเปลี่ยนมีเดีย ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือ ฮอโลแกรม ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะเรียกว่าหนังสืออยู่หรือเปล่า

การทำหนังสือคือการทำเนื้อหาเพื่อส่งให้ผู้อ่าน ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับมีเดียใดมีเดียหนึ่งไปตลอดกาล

ทิศทางอุตสาหกรรมหนังสือในอนาคต

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว หนังสือมีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเป็นมูลค่าการตลาดของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภท นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ และปี 2563 มูลค่าการตลาดอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท

นายธีรภัทร มองว่ามูลค่าตลาด หรือธุรกิจอุตสาหกรรมหนังสือในหนังสือเล่ม และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ฟื้นตัวเกือบเท่าเดิมแล้วปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท และหวังว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ซอฟต์พาวเวอร์อุตสาหกรรมหนังสือไทย

อุตสาหกรรมหนังสือภายในประเทศ ที่จะสร้างความเข้มแข็งในการซื้อขายแลกเปลี่ยน อ่านและ ผลิต ทั้งนักเขียน นักอ่าน รวมถึงผู้คนในวงการ ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหนังสือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการอบรมนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ หรือสื่อสิ่งพิมพ์โดยภาพรวม เพื่อสร้างให้เกิดบรรยากาศ เรียนรู้ และบรรยากาศของการอ่านหนังสือ
ซึ่งการจัดการมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 นี้ ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านหนังสือนิทานให้เด็ก เพื่อปลูกฝังการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก มีนิทรรศการการโชว์หนังสือปกสวย 100 เล่ม ซึ่งคัดเลือกมาจากหนังสือที่ตีพิมพ์ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมนักออกแบบ ในรูปแบบของปกหนังสือ จะทำให้เกิดวงจรให้คนมามองเห็น ผู้ออกแบบปกและสามารถจ้าง งานต่อไปได้ สร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหนังสือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงการแนะนำหนังสือ จากนักเขียนที่สามารถแปลหนังสือออกไปยังต่างประเทศ ได้

นอกจากนี้ยังมีการเชิญนักเขียนจากต่างประเทศ มาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ กับนักเขียนไทย รวมถึงนักอ่านไทยด้วย

อีกส่วนเป็นการผลักดันนักเขียนไทยออกไปต่างประเทศ ในการจัดการ Book Fair ในนานาชาติ ซึ่งในแผนงานปีหน้ามีงานที่ไทเป โซล แฟรงก์เฟิร์ต และมาเลเซีย รวมทั้งการออกไปโรดโชว์ ขายหนังสือขายลิขสิทธิ์ ต่างประเทศ มีศักยภาพในการแปลและเผยแพร่ หนังสือไทยให้เป็นที่รู้จัก ในนานาชาติ

นอกจากนี้ยังมีแผนงานที่ร่วมกันพัฒนากับซอฟต์พาวเวอร์สาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร รวมถึงท่องเที่ยว กีฬา เพื่อนำหนังสือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของซอฟต์พาวเวอร์สาขาอื่น เพราะว่าความรู้หรือคอนเทนต์ เข้าไปอยู่ในทุกที่ได้เช่นเดียวกัน

นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ส่งเสริมการอ่าน-การเขียนให้เยาวชน

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย อีกหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักเขียน นักอ่าน ทั้งระดับภูมิภาค ประเทศ และระหว่างประเทศ โดย นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรักการอ่าน โดยการร่วมกับองค์กรอื่นๆ จัดกิจกรรมตามสถาบันศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้ฝึกสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของตัวเอง และสร้างนักเขียนเพื่ออุตสาหกรรมหนังสือ อีกทั้งยังส่งเสริมการเขียน ทั้งเรื่องสั้น สารคดี กวี ให้กับกลุ่มคนที่ต้องการก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียน รวมถึงการจัดประกวดผลงานในหลายๆ เวที เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ ทั้งนี้นางนรีภพ มองว่า

การส่งเสริมการอ่าน และการเขียนต้องควบคู่ไปด้วยกัน

ทั้งนี้นางนรีภพ มองว่า อยากให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงฐานการศึกษาด้านวรรณกรรม เห็นความสำคัญของงานวรรณกรรม โลกเปลี่ยนไป การอ่านหนังสือ เป็นฐานสำคัญเพื่อให้การดำรงชีวิตไม่ผิดพลาด

ภาพ : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ภาพ : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ภาพ : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

“หนังสือ” คุณค่ามากกว่าการการอ่าน

ในยุคปัจจุบัน ยุคที่เทคโนโลยีรุกคืบ เป็นเพียงตัวเลือกและการเพิ่มช่องทางในการอ่าน ถือเป็นข้อดีที่แพลตฟอร์มต่างๆ เข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้ง่ายขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบ ความสะดวกของแต่ละคนที่จะเลือกเสพ แต่ทั้งนี้ไม่ได้ทำให้คนกลุ่มคนรักการอ่านลดน้อยลง

หนังสือกระดาษยังมีคุณค่าที่สำคัญ คือ การเป็นเจ้าของ การได้หยิบมาอ่านทุกเมื่อที่ต้องการ การได้สัมผัสกับรูปเล่ม ได้อรรถรส เข้าถึงความรู้สึกได้มากกว่า หนังสือยังมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง แต่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการเช่าใช้ เป็นการขอใช้บริการเพื่อให้ได้อ่านชั่วครั้งชั่วคราว

ในอนาคตคงได้เห็นหนังสือในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่ารูปเล่มที่จับต้องได้ และพฤติกรรมคนอ่านตามความชอบของแต่ละแพลตฟอร์ม

และไม่รู้ว่าในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เกิดขึ้นอีก มีอะไรที่มากขึ้น แต่เชื่อว่าคนก็ยังอ่าน เพียงแต่จะอ่านจากช่องทางไหนก็เท่านั้นเอง

“นักเขียน” ยุคดิจิทัล

นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระบุว่านักเขียนหลายคนมีกำลังก็จะแปลหนังสือของตัวเองเป็นภาษาต่างๆ เพื่อให้หนังสือได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น และอีกหลายคนมีผลงานอยู่ในห้องสมุดของต่างประเทศ เป็นการสร้างสรรค์งานเขียน ในรูปแบบต่างๆ ที่กว้างขวางอย่างไร้ขีดจำกัด

รวมทั้งโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์อาเซียน เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนอาเซียน เป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์วรรณกรรมของไทยและวรรณกรรมประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนไปสู่วงการนักอ่าน อีกทั้งยังขยายวงกว้างออกไปสู่นานาประเทศในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งนับเป็นการต่อยอดและขยายผลในวงวรรณกรรมอาเซียน

อ่านข่าว :

11 วันฉ่ำๆ มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 กับหนังสือกว่า 2 ล้านเล่ม

"วันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล" เริ่มต้นตั้งแต่น้อยค่อยๆ ปลูกฝัง "นิสัยรักการอ่าน"

เปิดรายชื่อนวนิยาย 8 เล่ม ชิงรางวัลซีไรต์ 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง