เข้าใจความหมาย "วันมหาปวารณา" หรือ "วันออกพรรษา"

ไลฟ์สไตล์
16 ต.ค. 67
15:32
229
Logo Thai PBS
เข้าใจความหมาย "วันมหาปวารณา" หรือ "วันออกพรรษา"
เข้าใจความหมายของ "การปวารณา" วันออกพรรษา จุดมุ่งหมายของการปวารณา คืออะไร และ สิ่งที่พุทธศาสนิกชน มักปฎิบัติในวันนี้

วันออกพรรษา ปีนี้ 2567 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 ซึ่ง "วันออกพรรษา" เป็นช่วงเวลา 3 เดือนถัดจาก "วันเข้าพรรษา" ที่ให้พระสงฆ์ได้จำพรรษาที่วัด โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เป็นเวลา 3 เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ

"เข้าพรรษา" เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ "วันออกพรรษา" 

อ่านข่าว :  วันออกพรรษา ประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมชาวพุทธ

"วันออกพรรษา" คือ วันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา"  ซึ่ง พระสงฆ์จะต้องทำ "พิธีปวารณาออกพรรษา" 

"ปวารณา" เป็นชื่อ "สังฆกรรม" ที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "วันมหาปวารณา" โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้

ปกติพระสงฆ์จะสวดพระปาฏิโมกข์ในพระอุโบสถทุกกึ่งเดือน คือ วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 14 หรือ แรม 15 ค่ำ แต่ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ ให้ทำพิธีปวารณาออกพรรษาแทน

วันออกพรรษา หรือ วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา ถือเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ที่ได้จำพรรษาร่วมกันมาตลอด 3 เดือน กล่าวตักเตือนและชี้บอกข้อผิดพลาดแก่กันและกันได้ โดยความเสมอภาค แต่ต้องเป็นไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน 

การปวารณา มีความเป็นมาอย่างไร 

ความเป็นมาของ "การปวารณา" นั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้มีการทำมหาปวารณาในวันออกพรรษา นี้นั้น มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้ง พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษา ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษา ณ อารามรอบ ๆ พระนคร พระภิกษุเหล่านั้นมีความคิดว่า เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นระหว่างกัน สมควรจะปฏิบัติมูควัตร คือ การตั้งปฏิญาณไม่พูดจากันตลอดพรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกุเหล่านั้นพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตะวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องการปฏิบัติมูควัตรให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า เป็นการอยู่ร่วมกันเหมือนปศุสัตว์ แล้วทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาต่อกันว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณา ต่อกัน ใน 3 ฐานะคือ ด้วยการได้เห็น ด้วยการได้ยิน หรือ ด้วยการรังเกียจสงสัย

ดังนั้น วันออกพรรษา จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา

หลังจาก วันออกพรรษา 

  • พระภิกษุสงฆ์ได้รับอานิสงฆ์การจำพรรษา 5 ประการ
  • พระภิกษุสงฆ์ได้นำความรู้จากการศึกษาปฏิบัติธรรมไปสั่งสอนประชาชนดีขึ้น
  • พระภิกษุสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนสหธรรมิกว่ากล่าวตักเตือนกันได้
  • พุทธศาสนิกชนได้แบบอย่างการปวารณา นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และมีโอกาสเข้าวัดทำบุญ สมาทานศีล ฟังธรรม 

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับ "วันออกพรรษา"  

ในวันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรจะร่วมกันประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ และนับเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชน ในแต่ละภูมิภาค ได่ร่วมทำบุญในประเพณีที่สำคัญที่ถูกจัดขึ้น ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีการจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีในวันออกพรรษา ที่แตกต่างกันออกไป

  • ประเพณีตักบาตรเทโว : วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน 
  • พิธีทอดกฐิน : ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 กำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา 
  • ประเพณีเทศน์มหาชาติ : นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือวันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นนอยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือ ในเดือน 10 

ตักบาตรเทโวโรหณะ

ประเพณีที่นิยมกระทำกันมานาน ในวันออกพรรษา เรียกว่า "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" การตักบาตรเทโว ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 มักจัดขึ้นที่วัด 

เชื่อกันว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกหลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงแสดงอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดา พร้อมทั้งเหล่าเทวดา ครั้งเมื่อถึง วันมหาปวารณา คือวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา จึงเสด็จลงมากลับสู่โลกมนุษย์ โดยมีผู้คนจำนวนมากคอยรับเสด็จ

พุทธศาสนิกชน ถือกำหนดบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรแด่พระสงฆ์เป็นประเพณีที่นิยมสืบมา เรียกกันว่า "ตักบาตรเทโวโรหณะ" หรือที่เรียกว่า "ตักบาตรเทโว" บางวัดก็จัดจัดพิธีในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดจักถัดจากนั้น 1 วัน คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 

สำหรับพิธีตักบาตรเทโวโรหณะ ปัจจุบัน ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า 

ขณะที่ ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

บางที่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุ ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล

อย่างที่ จ.นครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

ที่ภาคใต้ จะมีประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระ มีทั้ง ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ  

พิธีรับพระภาคกลาง พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง เช่น อ.บางบ่อ บางพลี จ.สมุทรปราการ วัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านจะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระพุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม เป็นต้น

การเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก

"การเทศน์มหาชาติ" คือ "เทศนาเวสสันดรชาดก" เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว นิยมจัดเป็นงาน 2 วัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง

ตามความเชื่อ ผู้ใดฟังเทศน์จบ 13 กัณฑ์ภายในวันเดียว จะส่งผลให้ผู้นั้นได้รับผลกุศลอันแรงกล้า

วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด 13 กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง 13 กัณฑ์ด้วย

ประเพณีถวายผ้ากฐิน 

อีกงานบุญที่สำคัญของชาวพุทธ ที่นิยมกระทำหลัง "วันออกพรรษา" คือ การทอดกฐิน หรือที่รู้จักกันทั่วไป คือ การทำพิธีถวายผ้ากฐิน ถือว่าเป็นงานบุญที่มีระยะเวลาที่จัดเพียง 1 เดือนเท่านั้นในแต่ละปี และถือเป็นประเพณีที่อยู่คู่กับ พุทธศาสนิกชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน 

คำว่า "กฐิน" มีความหมายหลายอย่าง กรมการศาสนา อธิบายไว้ดังนี้ 

เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าชนิดพิเศษ ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตแก่พระภิษษุสงฆ์ในช่วง 1 เดืือน หลังจากออกพรรษาแล้วคือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

เป็นชื่อของกรอบไม้ หมายถึง กรอบไม้ที่ใช้เป็นแม่แบบในการทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า "สะดึง" เนื่องจากในครั้งพุทธกาล การทำจีวร (ผ้าห่ม) สบง (ผ้านุ่ง) สังฆาฏิ (ผ้าห่มช้อน) ให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดทำได้ยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ ภิกษุจึงต้องช่วยกันวัด ตัดและเย็บ โดยใช้ไม้สะดึงขึงผ้า เพื่อกะ ตัด และเย็บ 

เป็นชื่อของสังฆกรรม หมายถึง กิจกรรมของสงฆ์ที่ต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้าให้แก่  ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง 

เป็นชื่อของงานบุญประเพณี หมายถึง งานที่จัดขึ้นเพื่อถวายผ้าแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน 

นอกจากนี้ ยังมีคำที่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า กฐิน อีกหลายคำซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวินัยของพระสงฆ์ เช่น กฐินัตถารกรรม กรานกฐิน อปโลกน์กฐิน

ไม่เพียงเท่านั้น การถวายกฐิน ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น จำแนกได้ดังนี้ 

  • จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวานเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานชนิดอื่นไม่ได้
  • จำกัดเวลา คือ จำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
  • จำกัดผู้รับ คือ ภิกษุผู้รับกฐินต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาในวัดนั้น และในวัดนั้นมีภิกษุจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
  • กำจัดคราว คือ วัดหนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น 
  • เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้ พระองค์ทรงอนุญาตเอง

สิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน ในวันออกพรรษา

  • ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  • ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"
  • ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
  • ตามสถานที่อย่าง วัด สถานที่ราชการ สถานที่ศึกษา จะมีการจัดนิทรรศการ  กิจกรรมการบรรยาย เรื่อง วันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน

อานิสงฆ์ของการทำบุญ วันออกพรรษา

การทำบุญในวันออกพรรษา เป็นการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำความดี กรรมดี ซึ่งตามหลักคำสอนในศาสนา การทำบุญนี้ เพื่อเพิ่มพูนความดี กรรมดี เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ให้ออกไปจากจิตใจ การทำบุญ ทำให้จิตใจผู้ทำเบิกบาน ผ่องใส่ ชีวิตได้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ

อ้างอิงข้อมูล : สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กรมศิลปกร 

อ่านข่าว : "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" สุดล้ำค่าถูกยกย่องเป็น "เรือมรดกโลก"

เปิดเหตุผลสำคัญ ทำไมห้าม "มอเตอร์ไซค์" ขึ้นสะพาน-ลอดอุโมงค์

ก้าวข้ามการสูญเสีย How to เยียวยาความเศร้าใน "หัวใจเด็ก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง