ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความรัก ชีวิต เส้นทางบนผืนผ้าใบของ “จันทร์แจ่ม”

ไลฟ์สไตล์
16 ต.ค. 67
11:12
439
Logo Thai PBS
ความรัก ชีวิต เส้นทางบนผืนผ้าใบของ “จันทร์แจ่ม”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กว่าจะเป็น “จันทร์แจ่ม” เจ้าของเหรียญทองแดงมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิก ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ และตัวตนที่เป็นมากกว่าลูกสาวแม่

เช้ามืดวันที่ 7 สิงหาคม “จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง” นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง วัย 24 ปี คือความหวังหนึ่งเดียวของทีมกำปั้นไทยและคนไทยทั้งประเทศ บนสังเวียนมวยสากลโอลิมปิก 2024

แม้ดีที่สุดในเวลานั้นคือการคว้าเหรียญทองแดง หลังพ่ายนักชกจากแอลจีเรีย แต่สิ่งที่เธอได้กลับมาคือแรงฮึดสู้ เพื่อเป้าหมายคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในอีก 4 ปีข้างหน้า

แต่กว่าจะถึงวันนี้ จันทร์แจ่ม หรือ บี ผ่านช่วงเวลาที่เหมือนเป็นการทดสอบร่างกายและจิตใจ กับกีฬา “มวย”

มวยวัด สู่ทีมชาติ

แข่งฟุตบอลแพ้แวะเชียร์มวย พลันนึกในหัวว่าอยากลองต่อยมวยดูบ้าง เพราะเราก็น่าจะทำได้เหมือนเขา.. นี่คือความคิดของจันทร์แจ่ม ในวัย 12 ปี

จันทร์แจ่มเล่าให้ฟังอีกว่า ไปขอครูเข้าชมรมมวยเพื่อฝึกซ้อมมวยสากล และมีโอกาสขึ้นชกมวยไฟต์แรกในช่วงออกพรรษาที่ จ.บึงกาฬ แม้เปรียบมวยวัด แต่กติกามวยสากล

ต่อยมวยครั้งแรกบนสังเวียนเหนื่อยมาก ต่อยมั่วจนเกือบเป็นลม แต่สุดท้ายเป็นฝ่ายชนะ ได้ค่าตัวมา 500 บาท

จันทร์แจ่ม เริ่มสนุกกับการชกมวยไทยที่ออกอาวุธได้หลากหลาย ขอรายการชกครั้งแล้วครั้งเล่า ชนะ แพ้ เสมอ สลับกันไป แต่การชกกับนักมวยไทยคู่แข่งมากประสบการณ์ รวมถึงการฝึกซ้อมในค่ายมวยที่เข้มข้น ทำให้เธอเริ่มถอดใจและชกมวยไทยไฟต์ที่ 7 เป็นครั้งสุดท้ายในวัย 15 ปี ก่อนจะหันมาจริงจังกับมวยสากลอีกครั้ง

จุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้นตอนไปแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่ จ.เชียงราย โชว์ฝีไม้ลายมือจนถูกทาบทามให้เข้าเก็บตัวกับทีมชาติไทย

ตอนนั้นไม่เชื่อ เพราะความฝันยังไม่มีตรงนี้ เราเล่นกีฬาเพื่อความเท่ มีเงินจากการต่อยมวยไทย แล้วเอาผลงานไปยื่นมหาวิทยาลัยที่จะไปเรียนต่อ ไม่ได้คิดว่าจะติดทีมชาติ ตกใจ แต่ก็แอบคิดว่าทำไมดวงดีจัง

เกือบถอดใจ แต่ได้ “ครอบครัว” บันดาล

เข้าเก็บตัวกับทีมชาติได้ไม่นาน ความรู้สึกของจันทร์แจ่มในเวลานั้นวนกลับไปจุดเดิม เหมือนตอนที่อยากเลิกมวยไทย แต่สิ่งที่ช่วยดึงสติคือ “ครอบครัว”

จันทร์แจ่ม : พ่อกับแม่แก่ลงทุกวัน เราพยายามตั้งเป้ากับตัวเองว่าก่อนพ่อจะอายุ 60 ปี เราจะส่งเงินเลี้ยงพ่อกับแม่และจะให้พ่อเลิกขับรถบรรทุก มันทำให้เรามีแรงฮึดสู้ เพราะถ้าออกไปตอนที่ยังไม่มีอะไรเราจะกลายเป็นภาระของครอบครัว ยิ่งทำให้ยอมแพ้ไม่ได้ อย่างน้อยตอนเก็บตัวทีมชาติก็มีเบี้ยเลี้ยงส่งให้แม่เดือนละ 2,000 บาท

แม้ว่าแม่ไม่สนับสนุนให้ชกมวยมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อลูกเลือกเส้นทางนี้แล้ว แม่จะพูดให้กำลังใจอยู่เสมอ ส่วน “แฟนสาว” ก็เป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญ

แฟนเป็นนักกีฬามาก่อน เขาเข้าใจเราในเวลาที่เราเหนื่อย เสียใจ บางครั้งอยากร้องไห้แต่ไม่กล้าร้อง ก็ได้เขานี่แหละที่บอกว่า ‘ร้องออกมาเลย ดิ่งให้มันสุด แล้วลุกให้มันเร็ว’ เราชอบคำนี้มากเพราะรีเซ็ตสมองได้ดี

นักมวยทีมชาติชิงเหรียญโอลิมปิก

ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ เหรียญทองแดงโอลิมปิกก็เช่นกัน จันทร์แจ่มเล่าถึงวันที่ต้องเก็บตัวอยู่ต่างประเทศก่อนการแข่งขันโอลิมปิกที่ฝรั่งเศส เธอพยายามทำสมาธิกับตัวเองและโฟกัสอยู่กับการฝึกซ้อม

จันทร์แจ่ม : บางครั้งซ้อมหนัก ย้ำจนแขนหมดแรง ต้องขอให้โค้ชช่วยสลับกับขา การฝึกซ้อมต้องคุยกับโค้ชเพราะบางครั้งมองไม่เหมือนกัน ก็จะขอให้เขาช่วยเข้าใจเราหน่อย

พี่ต้องชมหนูก่อนนะ แล้วค่อยด่าหนู

จันทร์แจ่ม : เราพูดแบบนี้กับโค้ชตลอด เพราะคำชมทำให้มีแรง มีกำลังใจทำต่อ คนอื่นไม่รู้ยังไง แต่สำหรับเราขอชมก่อนแล้วค่อยด่า

รุ่น 66 กิโลกรัม “มวยสากลหญิง” จันทร์แจ่มพลิกชนะคู่แข่งในรอบ 16 คนสุดท้าย หลังโดนนับแต่กลับมาได้ ทะลุเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายและกำเหรียญทองแดงไว้ในมือได้สำเร็จ

แต่รอบรองชนะเลิศ “อิมาน เคลิฟ” นักมวยแอลจีเรียคู่ชกของจันทร์แจ่ม เผชิญกระแสดรามาว่าเป็นนักชกข้ามเพศ ก่อนหน้านี้สมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) ก็เคยตัดสิทธิจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกในปี 2023 เพราะตรวจพบฮอร์โมนเพศชาย หรือ เทสโทสเตอโรน ในระดับที่สูงเกินเกณฑ์ และนั่นอาจทำให้จันทร์แจ่มเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก

จันทร์แจ่ม : ตอนนั้นไม่สนดรามา สนแต่ว่าจะแก้มวยยังไง เพราะเขาสูงกว่า หมัดหนักและจังหวะชกก็ดี เราพยายามสู้เต็มที่ แก้เกมทุกอย่าง แต่ก็พอจะรู้ผลเพราะคะแนนมันขาดตั้งแต่ยก 2

ตอนนั้นกลัวว่าจะทำให้คนไทยผิดหวัง เพราะไม่เคยมีคนรอดูเรามากขนาดนี้ เขามีความคาดหวัง เราก็กลัวเขาผิดหวังที่เราแพ้

หลังจบเกมโทรศัพท์คุยกับพ่อแม่ถามว่าผิดหวังไหม พ่อก็บอกลูกต่อยดีมาก ถึงจะแพ้แต่ชนะใจคนไทย แล้วพ่อก็ชูกล้องโทรศัพท์ให้เห็นชาวบ้านหลายคนที่มารอเชียร์ พวกเขาตะโกนมาว่า ‘เก่งมาก ๆ’ ทำเราน้ำตาไหลไม่รู้ตัว เพราะในตอนนั้นเราทำได้แค่เหรียญทองแดง

เป้าหมายเหรียญทองโอลิมปิก

แม้จันทร์แจ่มจะบอกว่ามวยไม่ใช่ความฝันแรก เพราะกีฬาที่ชอบคือฟุตบอล แต่ลองเล่นแล้วมันเหมือนเข้ากันไม่ได้ เธอจึงเปลี่ยนจากการเตะบอล เป็นเตะกระสอบทรายแทน และตั้งแต่วันที่เตะกระสอบทรายอยู่ในโรงเรียนจนถึงวันที่ได้สัมผัสเหรียญโอลิมปิก อะไรคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ

จันทร์แจ่ม : สำหรับตัวเราคือความมุ่งมั่น ความพยายามและความอดทน เพราะตั้งแต่ตัดสินใจมาเล่นมวย มันมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จากโรงเรียนธรรมดาบ้านนอก ได้เข้าไปแข่งขันระดับประเทศ เมื่อพยายามมากขึ้นก็ติดทีมชาติ มีโอกาสได้ไปโอลิมปิก คิดว่าก็น่าจะสมพงษ์กับมวยแล้ว

ตั้งเป้าหมายอยากไปโอลิมปิกอีกครั้ง ถึงตอนนั้นอายุ 28 พอดี ขอเหรียญทอง

ตัวตนกับความชอบที่ห้าม(ใจ)ไม่ได้

จันทร์แจ่มเป็นลูกสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 4 คนและเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของพ่อกับแม่ เธอเล่าย้อนวัยเด็กว่าพี่ชายชอบให้พูด ‘ครับผม’ และตัวเองก็ชอบใส่ชุดทหาร แต่ไม่ชอบใส่กระโปรง ไปโรงเรียนก็ชอบอยู่กับคนสวย ๆ

จันทร์แจ่ม : เราชอบอยู่กับผู้หญิงตั้งแต่ตอนเรียนและเราก็มีนิสัยห้าว ๆ จนแม่พูดดักไว้ว่า..อย่าเป็มทอม! ถึงกับขู่ว่าถ้าเป็นทอมหรือตัดผมเหมือนผู้ชายจะให้ย้ายออกจากทะเบียนบ้าน แม่รับไม่ได้ ซีเรียสมาก พอแม่พูดแบบนั้นเราก็พยายามมองผู้ชายและลองคบกับผู้ชายให้แม่เห็น แต่มันไม่เวิร์ก

เคยชวนผู้ชายไปงานวัดแถวบ้าน เล่นยิงปืนอัดลมแลกตุ๊กตา แต่เขายืนดูเรายิง ก็รู้สึกว่า ‘เอ้ย! ทำไมเราแมนกว่าเค้าวะ’ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เลยกลับไปเป็นเพื่อนกัน

จันทร์แจ่ม : ใจเริ่มไปหาผู้หญิงมากขึ้น เริ่มคุยกับรุ่นพี่ผู้หญิง แต่ต้องแอบคุยเพราะกลัวแม่ด่า ส่วนแม่ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นผู้หญิง จัดระเบียบให้เลยเพราะกลัวว่าเราจะเป็นทอมจริง ๆ จนมาถึงช่วงปิดเทอม ม.3 เราไปตัดผมทรงอันเดอร์คัท ตอนนั้นฮิตมาก กลับถึงบ้านก็วิ่งเข้าห้องล็อกกลอนทันที แม่เห็นแล้วโกรธ ไม่มองหน้า เราพูดอะไรก็ไม่เข้าหู ผ่านด่านแม่ยากมาก ส่วนพ่อสบาย ๆ

แม้ไม่เคยบอกแม่ตรง ๆ ว่าชอบผู้หญิง แต่จันทร์แจ่มพยายามแสดงจุดยืนและจะทำให้แม่เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องหวัง “ค่าดอง” (ค่าสินสอด)

เคยพูดกับแม่ว่าบีก็เป็นลูกสาวนี่แหละ ไม่ได้ค่าดองไม่เป็นไร บีจะเลี้ยงแม่เอง ถ้าค่าดองเป็นแสน บีจะหาให้แม่เป็นล้านและจะเป็นคนดีให้แม่

จันทร์แจ่ม : แม่รับตัวตนที่แท้จริงของเราได้ตอนเข้าทีมชาติ และแฟนคนปัจจุบันก็เจอกันตอนเก็บตัว ตอนนั้นเรายังไม่มีอะไรเลย แต่เขาก็เข้ามาเป็นกำลังใจ เป็นแฟนที่เหมือนเพื่อน เหมือนพี่และทำให้เรารู้สึกสู้ เราเดินมาได้ทุกวันนี้ไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ถ้าไม่มีพ่อกับแม่ ไม่มีแฟน เราอาจจะเลิกชกมวยไปแล้วก็ได้

เป็นเรื่องดีมากที่กฎหมายเปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันสามารถสร้างครอบครัวด้วยกันได้ เรา 2 คนคบกันมาหลายปี แฟนจริงจังกับความรักครั้งนี้ อยากช่วยกันสร้างและเป็นกำลังใจให้กัน เราเองก็ไม่เคยเจอใครที่เข้าใจเรามากขนาดนี้มาก่อน มันใช่สำหรับเรา และอยากทำให้เห็นว่าต่อให้เพศสภาพเราเป็นหญิง แต่ก็สามารถดูแลผู้หญิงด้วยกันได้ บางทีผู้ชายอาจดูแลได้ไม่เท่าเราด้วยซ้ำ

ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงกับชายเสมอไป มันมีกฎหมายมาแล้ว เราก็อยากให้มันเป็นแบบที่เราต้องการ

อ่านข่าว

สงคราม ความขัดแย้ง และสิ่งแวดล้อม เส้นทางผ่าน มุม "วรรณสิงห์"

ตัวตนเบื้องหลัง “มนุษย์หน้ากาก” บนเวทีพาราด็อกซ์

หลักชีวิต "เจ้เล้ง ดอนเมือง" ทำธุรกิจ แค่พอดี และ เท่าที่ไหว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง