ความเชื่อโบราณว่ากันว่า จระเข้จะร้องไห้ขณะที่กำลังกินเหยื่อ ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ขัดแย้งกันอย่างมาก เพราะในขณะที่กำลังกินอาหารอยู่ แต่กลับแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ จึงนำมาเปรียบเทียบกับคนที่แสดงความรู้สึกไม่จริงใจ แต่จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และกายวิภาคของจระเข้ พบว่าจระเข้มีต่อมน้ำตาที่ช่วยหล่อลื่นดวงตาขณะที่อยู่บนบก แต่การหลั่งน้ำตาของจระเข้นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกแต่อย่างใด เป็นเพียงปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาธรรมชาติ
สำนวน "น้ำตาจระเข้" จึงเป็นสำนวนที่สื่อถึงการแสดงออกที่ขัดแย้งกับความรู้สึกภายในใจ เป็นการแสดงออกที่ไม่จริงใจเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อกลบเกลื่อนพฤติกรรมที่ไม่ดี แม้ว่าความเชื่อเดิมเกี่ยวกับจระเข้ที่ร้องไห้ขณะกินเหยื่อจะไม่เป็นความจริงทั้งหมด แต่สำนวนนี้ก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
รู้ไหม? ร้องไห้ไม่ได้แปลว่า "เศร้า"
แม้ว่าการร้องไห้จะถูกเชื่อมโยงกับความเศร้าหรือความเจ็บปวดทางอารมณ์ แต่ทางวิทยาศาสตร์พบว่าการร้องไห้สามารถเกิดขึ้นจากอารมณ์หลากหลายรูปแบบ นักวิจัยได้ศึกษาและอธิบายลักษณะของ "น้ำตา" ที่เป็นผลผลิตจากการร้องไห้ และพบว่า ลักษณะของหยดน้ำตาจากการร้องไห้ที่เกิดจากอารมณ์ต่าง ๆ นั้น มีองค์ประกอบทางเคมีและลักษณะทางกายภาพที่ต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำตา
1.การร้องไห้จากความสุข (Tears of Joy)
เป็นกระบวนการที่สมองพยายามปรับสมดุลอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความตื่นเต้นที่มากเกินไป จึงเกิด "น้ำตา" ที่มีสารเคมีที่ทำให้ร่างกายรู้สึกดี เช่น โดปามีน (Dopamine) และออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรักและความสัมพันธ์ น้ำตาที่เกิดจากความสุขมักมีการระเหยที่ช้ากว่า และ มีความหนืดน้อยกว่า เนื่องจากการตอบสนองของระบบประสาทที่เกิดจากอารมณ์บวก
2.การร้องไห้จากความโกรธและความผิดหวัง (Tears of Anger or Frustration)
หลายคนร้องไห้เมื่อรู้สึกโกรธหรือผิดหวัง กรณีนี้เกิดจากอารมณ์ที่เข้มข้นมากเกินไป จนร่างกายต้องระบายออก ในบางกรณีอาจเป็นการระบายความตึงเครียดทางจิตใจที่เกิดจากการขัดแย้งภายในหรือความไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้
"น้ำตา" ที่เกิดจากความโกรธหรือผิดหวัง จะมีส่วนประกอบของโปรตีนและฮอร์โมนความเครียด เช่นเดียวกับน้ำตาจากความเศร้า แต่จะมีการหลั่งมากขึ้นในสภาวะที่มีระดับอะดรีนาลีน (Adrenaline) สูง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียดและความตื่นเต้น มีระดับของสารสื่อประสาท เช่น นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) สูงขึ้น
3.การร้องไห้จากความกลัว (Tears of Fear)
เมื่อเกิดความกลัวที่มากจนร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างเหมาะสม สมองอาจเลือกการตอบสนองแบบร้องไห้ เพื่อดึงดูดความสนใจและช่วยขอความช่วยเหลือทางสังคมจากผู้อื่น เป็นกลไกการอยู่รอดที่เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการ
น้ำตาจากความกลัวมักจะมีลักษณะคล้ายน้ำตาที่หลั่งออกมาจากความโกรธ เนื่องจากทั้งสองอารมณ์กระตุ้นระบบ "fight or flight" ในร่างกาย การตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่คล้ายกัน เช่น อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล ลักษณะหยดน้ำตาจะมีความหนืดและความเข้มข้นของสารเคมีที่ช่วยเตรียมร่างกายในการตอบสนองต่อภัยคุกคาม
4.การร้องไห้จากความเศร้า (Tears of Sadness)
น้ำตาที่เกิดจากการร้องไห้จากความเศร้า จะมีระดับโปรตีนและฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) สูงกว่าน้ำตาจากอารมณ์ประเภทอื่น นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบที่เป็นโปรตีนสูง บ่งบอกถึงการตอบสนองต่อความเครียดที่มากขึ้นในร่างกาย มีสารลิวซีนเอนเคฟาลิน (Leucine Enkephalin) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาความเจ็บปวดตามธรรมชาติของร่างกาย
5.การร้องไห้เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางสังคม (Social Bonding)
การร้องไห้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียใจหรืออารมณ์เชิงลบเสมอไป แต่ยังมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม การร้องไห้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อื่นหรือเพื่อแสดงออกถึงความใกล้ชิดและความไว้วางใจ เมื่อคนร้องไห้ในสถานการณ์ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย มักจะส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและการตอบสนองทางสังคมจากคนรอบข้าง
การร้องไห้ในสถานการณ์ที่มีคนอยู่รอบข้าง น้ำตาที่หลั่งออกมาจะส่วนประกอบที่แตกต่างจากน้ำตาทางอารมณ์ทั่วไป มีลักษณะที่เบาบางและแห้งเร็ว เนื่องจากเป็นการร้องไห้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและสร้างสัมพันธ์มากกว่า
ที่น้ำตาไหล เพราะอารมณ์ในใจหรือแค่ฝุ่นเข้าตา
การร้องไห้อาจไม่ได้บ่งบอกถึงความเสียใจอย่างแท้จริง มีการศึกษาทางจิตวิทยา พยายามหาวิธีแยกแยะว่าการร้องไห้ครั้งไหนมาจากอารมณ์ที่แท้จริงหรือการแสร้งทำ โดยมีข้อสังเกต ดังนี้
- น้ำเสียงและลักษณะเสียงร้อง การร้องไห้ที่มาจากอารมณ์จริง ๆ มักมีเสียงสะอื้นที่ไม่เป็นระเบียบ และยากต่อการควบคุม ขณะที่การแสร้งร้องไห้อาจมีน้ำเสียงที่ดูตั้งใจหรือควบคุมได้ดีเกินไป
- ความสอดคล้องกับบริบท การร้องไห้ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์หรืออารมณ์ที่แสดงก่อนหน้า อาจเป็นสัญญาณว่าผู้ร้องไห้ไม่ได้แสดงอารมณ์จริง
- น้ำตาที่ออกมา บางคนอาจพยายามแสดงอารมณ์เศร้า ด้วยการแสร้งร้องไห้โดยไม่มีน้ำตาจริง ๆ การร้องไห้จริง ๆ มักมีน้ำตาไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
ในแง่ของจิตวิทยา อาจยากที่จะสังเกตได้ว่า น้ำตาที่ไหลออกมานั้น มาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในจิตใจหรือไม่ หากเกิดจริง ก็ต้องแยกลงไปอีกว่ามาจากความรู้สึกอะไร ดีใจ เสียใจ เศร้าใจ แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์ หากนำ "น้ำตา" ไปวิเคราะห์โมเลกุล ฮอร์โมน ก็ย่อมเห็นเป็นหลักฐานประจักษ์ได้ว่า เป็นน้ำตาของมนุษย์ หรือ น้ำตาจระเข้
อ่านข่าวอื่น :
ลุยตรวจคลินิกดิไอคอนกรุ๊ป โยง "บอสหมอเอก"
ใช่หรือไม่ ? The Last Boss "ธเนตร วงษา" เกี่ยวพัน "บอสพอล"
"บอสพอล" ขอเลื่อนเข้าชี้แจง สคบ. ปมดิไอคอนกรุ๊ป