ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลขาฯ ปปง.จ่อเสนอ คกก.ธุรกรรม ตรวจสอบทรัพย์ ผู้บริหาร "ดิ ไอคอน"

อาชญากรรม
14 ต.ค. 67
19:03
686
Logo Thai PBS
เลขาฯ ปปง.จ่อเสนอ คกก.ธุรกรรม ตรวจสอบทรัพย์ ผู้บริหาร "ดิ ไอคอน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาธิการปปง. เตรียมเสนอคณะกรรมการธุรกรรม ตรวจสอบทรัพย์สินผู้บริหารดิไอคอน หากข้อมูลชัดเจนครบถ้วน พร้อมออกคำสั่งยึดทรัพย์ทันที

วันนี้ (14 ต.ค.2567) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ปปง. กำลังจะมีการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมในวันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค.นี้ วาระสำคัญของการประชุมจะเกี่ยวกับการดำเนินการทางทรัพย์สินของ 2 คดีสำคัญ คือ

1.คดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และคดีทอง 99.99% และ 2.คดีของ น.ส.กรกนก สุวรรณบุตร (แม่ตั๊ก) และนายกานต์พล เรืองอร่าม (ป๋าเบียร์) เนื่องจากคณะกรรมการธุรกรรม มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงาน ปปง. เพื่อตรวจสอบธุรกรรม หรือรายการทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

อ่านข่าว : "ผมยอมแพ้" บอสพอลเปิดใจ ลั่นจะชดใช้จนกว่าจะตาย 

กรณีคดีของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ตนเองได้เตรียมเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อขอให้ที่ประชุมมีมติให้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินในเชิงลึก

นอกจากนี้ ขอบเขตการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน ปปง. จะตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล หรือบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนธุรกิจ เพราะ ปปง.ได้มีการประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับทางตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) รวมทั้งยังประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)

สำหรับกรณีของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จากแนวทางการทำงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ พบว่า เข้าข่ายเป็นความผิดฐาน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

ส่วนมูลค่ารายการทรัพย์สินที่ ปปง. จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อตรวจสอบก่อนมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ จะเป็นรายละเอียดตามที่ตำรวจ ปคบ.จะได้ประสานข้อมูลรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงาน เช่น พบพฤติการณ์การกระทำความผิดมูลฐาน

จากนั้น ปปง. และ ตำรวจจะต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งในการทำงานร่วมกันนี้จะไปสู่มิติของการทำคดีอาญาที่ตำรวจจะตั้งประเด็นการสอบสวนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ใครคือผู้ต้องหา และเกี่ยวข้องโดยพฤติการณ์ใด เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน จึงยังไม่สามารถสรุปตัวเลขมูลค่า และประเภทรายการทรัพย์สินได้

ดังนั้น ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค.นี้ หากตรวจสอบพบข้อมูลและพยานหลักฐานที่เพียงพอ ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมจะสามารถมีมติออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบได้ทันที ซึ่งคำสั่งยึดและอายัดจะต้องพิจารณาจากทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาว่า เข้าบทนิยามว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือมีพฤติการณ์ในการยักย้าย หรือกำลังจะยักย้าย จำหน่าย จ่าย โอน หรือไม่

ส่วนจะเป็นทรัพย์สินที่กลุ่มผู้ต้องหาได้มาในช่วงเกิดเหตุที่บริษัทถูกผู้เสียหายร้องเรียนในปี พ.ศ. 2564 หรือไม่นั้น ยืนยันว่า ปปง. จะต้องตรวจสอบย้อนหลังเเน่นอน ซึ่งเรื่องที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม และเตรียมมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินนั้น อยู่ในข่ายของผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบซึ่งก็คือผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ตามที่ตำรวจ ปคบ. ได้มีการออกมาให้ข้อมูล โดยหากมีการยึดและอายัดทรัพย์สินเกิดขึ้นไปแล้ว

แต่ในอนาคตเจ้าหน้าที่ ปปง. สามารถสืบทรัพย์สินได้เพิ่มเติม และพบว่าทรัพย์สินนั้น ๆ มาจากการกระทำความผิดในคดีมูลฐาน ปปง. ก็สามารถเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินได้อีก

ส่วนในกรณีที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ต้องหาอาจมีการจำหน่าย ยักย้าย ถ่ายเท แปลงสภาพทรัพย์สินไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ายึดและอายัดนั้น ขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่มีการเฝ้าระวังเป็นอย่างดี และปัจจุบันยังไม่พบการทำธุรกรรมในลักษณะดังกล่าว

ส่วนกรณีของ น.ส.กรกนก และนายกานต์พล นั้น นายเทพสุ ระบุว่า ตนเองจะมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อขอให้มีการตรวจสอบรายการทรัพย์สินเชิงลึกเพิ่มเติม ส่วนที่เจ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. ได้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินก่อนหน้านี้ก็จะต้องนำส่งรายการทรัพย์สินให้ ปปง. เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการยึดและอายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ยึดและอายัดไว้ตรวจสอบชั่วคราว

แต่เมื่อส่งรายการทรัพย์สินมายัง ปปง. ก็จะต้องพิจารณาว่าทรัพย์สินที่ตำรวจตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดี หรือเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน หากเป็นของกลางในคดี เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือเกี่ยวข้องกับคดีมูลฐาน ปปง. จึงจะเข้ามาดำเนินการกับทรัพย์สินตามขั้นตอนกฎหมาย

อ่านข่าว : DSI พร้อมรับคดี "ดิไอคอนกรุ๊ป" เป็นคดีพิเศษ หาก ปคบ. พบพฤติการณ์เป็นแชร์ลูกโซ่  

ปคบ.เผยล่าสุดยอดผู้เสียหาย "ดิไอคอนกรุ๊ป" 635 คน มูลค่ารวมกว่า 232.4 ล้านบาท 

"สามารถ" ยืนยันไม่ใช่เสียงตัวเอง คลิป "บอสพอล" คุยนักการเมือง 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง