ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทม์ไลน์ "ขุนเดช" ช้างป่าติดบ่วงแร้ว 10 ปี ยังรักษาไม่หาย

สิ่งแวดล้อม
13 ต.ค. 67
07:51
1,580
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ "ขุนเดช" ช้างป่าติดบ่วงแร้ว 10 ปี ยังรักษาไม่หาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พลายขุนเดช ลูกช้างป่าอายุประมาณ 2 ปี ถูกบ่วงแร้วบาดเจ็บบริเวณข้อขาด้านหน้าซ้าย บริเวณพื้นที่หมู่ 4 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ในปี 2555 ต่อมาพบว่าบริเวณข้อขาด้านหน้าซ้ายพิการ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตในป่าได้

ปัจจุบันพลายขุนเดช อายุ 12 ปี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม (Elephant Nature Park) ได้ดูแลข้างป่า ที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2555 กรมอุทยานฯ ได้อนุมัติให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และ สพ.ญ.สุภกานต์ แก้วโชติ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ปฏิบัติงานประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ดำเนินการ
เคลื่อนย้ายพลายขุนเดช นำไปดูแลรักษาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี เพื่อเป็นการรักษาชีวิตและเป็นการศึกษาวิจัยของเจ้าหน้าที่

เดือนพฤษภาคม 2556 กรมอุทยานฯ อนุมัติให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และ สพ.ญ.สุภกานต์ ดำเนินการเคลื่อนย้ายพลายขุนเดช จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ ไปทำการรักษาที่คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปรปฐม โดยให้ สพ.ญ.สุภกานต์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกันรักษาฟื้นฟู

ม.เกษตรฯ ส่งช้างป่าคืนกรมอุทยานฯ

เดือนกันยายน 2557 โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเภษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน แจ้งว่าพลายขุนเดชมีอาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มาก แต่เป็นช้างพิการ ไม่สามารถดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติได้ จะต้องมีสถานที่พักฟื้นและมีสัตวแพทย์ดูแลสุขภาพ จึงขอส่งพลายขุนเดช คืนกรมอุทยานฯ

วันที่ 15 ก.ย.2557 มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม (Elephant Nature Park) แจ้งความประสงค์ขอรับพลายขุนเดชไปดูแลที่ศูนย์บย์บริบาลช้างแม่แตง ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลช้างพิการ ช้างชราภาพ โดยจะให้ช้างอยู่อย่างอิสระ

เคลื่อนย้าย "พลายขุนเดช" ไป ENP

วันที่ 3 ต.ค.2557 อธิบดีกรมอุทยานฯ อนุญาตให้ดำเนินการดังนี้ อนุญาตให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ดำเนินโครงการช่วยเหลือพลายขุนเดช, อนุญาตให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ดำเนินการขนย้ายพลายขุนเดช ไปยังมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, อนุญาตให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) จัดเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ปฏิบัติงาน เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัย ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพพลายขุนเดช

วันที่ 18 ต.ค.2557 กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการขนย้ายพลายขุนเดช ไปดูแลยังมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

กรมอุทยานฯ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ได้ศึกษาวิจัย ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพพลายขุนเดช ร่วมกับศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสัตวแพทย์ของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มาโดยลำดับ ดังนี้

ปี 63 ยังพบการอักเสบเรื้อรังที่ข้อขา

วันที่ 26 ก.พ.2563 ตรวจร่างกายพลายขุนเดช บริเวณข้อขาที่โดนบ่วงแร้ว พบการบวมร้อนอักเสบเรื้อรังของข้อขาด้านหน้าช้าย รวมถึงบริเวณหน้าขาทั้งหมดไม่ทุเลาลงแต่อย่างใด พบการหลุดลอกของเนื้อเยื่อที่ฝ่าเท้าและเกิดเนื้อตายบางส่วน พร้อมพบหนอนแมลงวันระยะ 3 (myiasis)

จากการตรวจวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสี พบการเรียงตัวของกระดูกนิ้วเท้าและข้อเท้าผิดแนวไป พบการงอกแหลมออกของกระดูกข้อเท้าบางชิ้น พบลักษณะการทึบรังสีในส่วนด้านหน้าและด้านข้างของข้อเท้า ช่วงต่อของกระดูกข้อเท้าและส่วนล่างของกระดูกปลายขาหน้า รวมถึงการมีรูปร่างและขอบที่ไม่แน่นอน การทึบรังสีที่พบมีความไม่สม่ำเสมอของเนื้อเยื่อเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณนั้น บวกกับช้างมีพฤติกรรมดุ ก้าวร้าว ไม่ยอมรับการรักษา จำเป็นต้องฝึกเพื่อปรับพฤติกรรมให้ช้างยอมรับการรักษา

พลายขุนเดชเริ่มมีพฤติกรรมดุร้าย-ก้าวร้าว

วันที่ 9 ก.พ.2564 ตรวจสุขภาพพลายขุนเดช พบว่าช้างมีการเจริญเติบโตขึ้น ร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ขาข้างที่เจ็บต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ช้างเริ่มมีพฤติกรรมดุร้ายและก้าวร้าว ทำให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมที่ดูแล ไม่สามารถล้างแผลและดูแลได้อย่างเต็มที่

วันที่ 28 มิ.ย.2564 ตรวจสุขภาพพลายขุนเดช พบว่ามีอายุประมาณ 9 ปี น้ำหนัก 2,200 กิโลกรัมโดยประมาณ ซึ่งใกล้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และถ้าช้างเกิดการตกมัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์ที่ก้าวร้าวมากขึ้น ทำให้ยากต่อการจับบังคับ อาจทำให้เป็นอันอันตรายต่อการทำงานของทีมงานสัตวแพทย์ เป็นอุปสรรคในการรักษาบาดแผลและดูแลสุขภาพของช้างในอนาคต

จากการตรวจสภาพบาดแผล พบการบวมร้อน และการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่ออ่อนในข้อส่วน Carpal joint ของขาหน้าด้านซ้าย น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกดทับของแผลและพบการเรียงตัวของกระดูกนิ้วเท้าและข้อเท้าผิดแนวไป การดำเนินการล้างแผลและตัดแต่งเนื้อเยื่อตายของแผลบริเวณข้อเท้าไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากพลายขุนเดชไม่ให้ความร่วมมือ และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจและประเมินสุขภาพอย่างต่อเนื่องได้

คณะเจ้าหน้าที่จึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรย้ายพลายขุนเดช ไปทำการรักษา ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง

ปี 65 ช้างก้าวร้าวสูง-หลังฮอร์โมนสืบพันธุ์มากผิดปกติ

วันที่ 24 ส.ค.2564 ตรวจสุขภาพพลายขุนเดช โดยนายสัตแพทย์ประจำศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้แทนสถาบันคชบาลแห่งชาติ สัตวแพทย์กรมอุทยานฯ สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิอนุรักษ์ข้างและสิ่งแวดล้อม พบว่า จำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการรักษาและอนุบาลพลายขุนเดช ตลอดจนติดตามตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือนและประเมินสุขภาพทุก 3 เดือน จึงร่วมกันลงความเห็นว่า ยังไม่เคลื่อนย้ายช้างป่าไปรักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง

เดือนพฤษภาคม 2565 กรมอุทยานฯ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม พบภาวะตกมัน (musth หรือ must) ในช้างป่าพลายขุนเดช โดยมีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างสูงและหลังฮอร์โมนสืบพันธุ์มากผิดปกติ และปลดปล่อยสิ่งคัดหลังข้นคล้ายน้ำมันดิน เรียกว่า Temporin จากท่อเทมพอรัลข้างหัว โดยสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ ร่วมกับสัตวแพทย์จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ให้ GNRH hormone เพื่อควบคุมคุมระบบสรีระสืบพันธุ์ จำนวน 4 ครั้ง ดังนี้

วันที่ 27 ธ.ค.2564 ให้ GNRH hormone เข็มที่ 1
วันที่ 27 ม.ค.2565 ให้ GNRH hormone เข็มที่ 2
วันที่ 27 ก.พ.2565 ให้ GNRH hormone เข็มที่ 3
เดือน ก.ค.2565 ให้ GNRH hormone เข็มที่ 4 โดยช้างป่าดังกล่าวมีอาการตอบสนองต่อการให้ฮอร์โมนในทางที่ดี

ปัจจุบันพลายขุนเดช ได้รับการดูแลอยู่ที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานฯ มอบหมายให้สัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ตรวจสุขภาพ และสภาพแวดล้อมในการดูแลหลังจากเกิดอุทกภัยเพื่อประเมินความเหมาะสมในการเคลื่อนย้ายพลายขุนเดช ไปดูแลรักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป้าไม้ จ.ลำปาง

อ่านข่าว : ดรามาย้ายช้าง รอ 1 เดือนประเมินใจ "ดอกแก้ว" เพิ่งพ้นน้ำท่วม 

ไขคำตอบ "ช้างพิการ-ตาบอด" ซื้อขายราคาพุ่ง เพิ่มยอดบริจาค 

ภารกิจสุดหิน! ย้ายพลายขุนเดช-ดอกแก้ว ช้างไม่คุ้นควาญ 

ไขคำตอบ "ลูกช้างป่าแก่งกระจาน" งายาว 60 ซม. เกินอายุ 5 ปี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง