ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของสังคมไทย แต่ปัจจุบันมีมูลนิธิเกิดขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือดูแลสวัสดิภาพช้าง และปฎิเสธไม่ได้ว่าบางส่วนทำเพื่อ “ธุรกิจ” ใช้ความน่าสงสารเรียกรับเงินบริจาคจากต่างประเทศ ปัจจุบันพบข้อมูลการซื้อขายช้างพิการ-ตาบอดพุ่งถึง 2 เท่าตัว
ทีมข่าวไทยพีบีเอส เดินทางไปยัง มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อพูดคุยกับ นายเอ็ดวิน วีค ชาวฮอลแลนด์ วัย 60 ปี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ มานานกว่า 24 ปี บอกว่า วิธีการเลี้ยงช้างไม่มีขาว และไม่มีดำ และไม่อยากให้มองว่าคนที่ทำไม่เหมือนกันต้องผิดเสมอไป และตั้งคำถามวิธีการได้เงินบริจาคมาอาจะไม่เหมาะสมหรือไม่
ช้าง 8 เชือกของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ที่นำมาดูแลแบบเปิดในพื้นที่ 80 ไร่
เอ็ดวิน ชี้ให้เรามองไปยังพื้นที่โล่งกว่า 80 ไร่ มีช้าง 8 เชือกหากินในป่า ทุก ๆวัน 7-8 โมงเช้า ควาญช้างจะปล่อยให้ช้าง ออกจากคอกเพื่อมาหากินหญ้าอย่างอิสระ ไร้โซ่ล่าม และตะขอ แต่ควาญช้างสามารถควบคุมช้างได้ นำอาหารไปวางให้ช้างกิน หลังจากนั้น 4-5 โมงเย็นช้างจะกลับเข้าคอก
เอ็ดวิน อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องนำช้างเข้าคอก เพราะหากปล่อยช้างให้เป็นอิสระ 24 ชั่วโมง จะทำให้ช้างดุร้ายได้ โดยช้างที่อยู่ในมูลนิธิ จะเป็นช้างที่ถูกช่วยเหลือมาจากหลายพื้นที่ ไม่ใช่ครอบครัวเดียวกัน ถ้าช้างไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็จะยืนทั้งคืน หากช้างเหนื่อยไม่นอนจะส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์
เอ็ดวิน วีค ชาวฮอลแลนด์ วัย 60 ปี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า
ราคาช้างพิการ-ตาบอดพุ่ง 1 ล้าน
เมื่อถามว่าการใช้โซ่ล่ามและตะขอ ยังคงจำเป็นกับการเลี้ยงช้างหรือไม่ เอ็ดวิน ยืนยันว่าจำเป็นอย่างมาก แม้เขาจะเลี้ยงช้างเป็นอิสระบางช่วง แต่ต้องมีอุปกรณ์เพื่อป้องกันควาญช้าง ไม่ให้ได้รับอันตราย เพราะช้างจะเข้าทำร้ายได้ทุกเมื่อ เขาเปรียการใช้ตะขอ หรือ เชือกมัด ไม่ต่างกับการที่ตำรวจต้องมีอาวุธปืน เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าตำรวจจะต้องยิงปืนทุกครั้ง
ประสบการณ์เลี้ยงช้างมากว่า 20 ปี เขายอมว่า การเลี้ยงช้างเปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการหาผลประโยชน์จากช้าง
ช้าง 8 เชือกของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ที่นำมาดูแลแบบเปิดในพื้นที่ 80 ไร่
ไม่ได้หมายความว่ามูลนิธิ หรือ โครงการอื่นๆ ผิดเสมอไป เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ไม่มีมูลนิธิหรือสมาคมใด ที่อยู่ได้โดยไม่มีเงินบริจาคเข้ามา เนื่องจากการเลี้ยงช้างมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อช้าง 1 เชือก และยังไม่นับรวมค่าจ้างควาญช้าง
แม้เอ็ดวิน จะยืนยันว่า “การเลี้ยงช้างไม่มีขาวไม่มีดำ” แต่จากการที่เขาอยูในวงการเลี้ยงช้ามานาน ยอมรับว่า มีบางมูลนิธิพยายามจะซื้อช้างพิการ ตาบอด ไม่สามารถเดินได้ เพื่อไปดูแลต่อ และการที่มูลนิธิต่างๆแข่งขันเพื่อซื้อช้าง จากตัวละ 400,000 บาท เป็น 1 ล้าน เป็นเรื่องที่เขามองว่าไม่เหมาะสม และไม่ควรทำ
ช่วง 2-3 ปี ราคาช้างขึ้นมา 400,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท เป็นช้างพิการตาบอด เรียกความสงสารจากคนได้มาก คิดว่าช้างที่พิการควรที่จะดูแล ไม่ควรที่จะมีการซื้อขายกันในราคาสูง แต่ตอนนี้บางโครงการต้องการความน่าสงสารมาขาย
สร้างสตอรี่ความน่าสงสาร-เพิ่มยอด
เมื่อถามว่ายอดบริจาคที่เข้ามาดูแลช้างในมูลนิธิช้าง และโครงการต่าง ๆในไทย ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ เอ็ดวิน บอกว่า ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจช้างไทยนอกจากจะเป็นสัตว์ที่น่ารักแล้ว หากช้างบางเชือกมีการสร้างเรื่องราวที่น่าสงสาร เช่น พิการ ผ่านการถูกทำร้าย ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมานาน จนได้รับบาดเจ็บ ก็จะยิ่งเรียกบริจาคได้มาก เขาไม่ปฎิเสธหากเงินจำนวนมากที่หลั่งไหลจากการบริจาคของต่างชาติ ทำเพื่อดูแลช้าง แต่ต้องให้เหมาะสม และต้องไม่หาผลกระโยชน์กับช้างมากจนเกินไป
จริง ๆ ต้องคิดว่า ทำไมเราต้องทำแบบนั้น คิดว่ามันจะเป็นธุรกิจมากเกินไปแล้ว ไม่ควรซื้อสัตว์ที่พิการที่ใกล้ตายแล้ว เจ้าของช้างอาจจะคิดว่าต้องเอาทุนคืนผมเข้าใจ แต่มูลนิธิต่างๆ ไม่ควรซื้อ
เอ็ดวิน ย้ำว่าในอดีตช้างทำงานไม่ได้ไม่มีราคา ช้างพิการก็ไม่มีราคา แต่ปัจจุบันนี้ราคาขึ้นมา 2-3 เท่าเพราะว่าเรียกความสงสารได้ ยิ่งได้เงินบริจาคมาก แต่ก็ยังมั่นใจว่าคนที่นำช้างมาเลี้ยง
ส่วนใหญ่รักช้าง และมีเป้าหมายเดียวกันอยากดูแลให้ดี แต่วิธีการเพื่อให้ได้เงินมาเพื่อมาเลี้ยงช้างอาจไม่เหมาะสม จึงไม่แปลกใจที่สังคมตั้งคำถามว่า เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือสัตว์ หรือ ต้องการเพียงยอดเงินบริจาค
รายงานโดย: จิราพร คำภาพันธ์