เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 บทสนทนา ระหว่าง ผู้ปกครองของนักศึกษาคนหนึ่ง จ.นครราชสี ที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพบังคับให้สวมรอย พิมพ์ข้อความลักษณะข่มขู่เพื่อให้โอนเงินมาเรียกค่าไถ่ ตัวลูกชาย 100,000 บาท เพื่อแลกกับปล่อยตัว
เป็น 1 ในพฤติกรรมรูปแบบการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้หลอกนักศึกษา หลังจากหลงเชื่อ และทำตามคำสั่ง แก๊งคอลเซนเตอร์ ถูกหยิบยกมาเป็นอุทธาหรณ์ ในเวทีให้ความรู้ "รู้ทันกลลวง คอลเซนเตอร์ ภัยร้ายใกล้ตัว" กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับกลลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่ทางสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง ร่วมกับสถาบันการศึกษาใน จ.นครราชสีมาจัดขึ้น
หลังเกิดกรณีแก๊งคอลเซนเตอร์ โทรศัพท์มาใช้อุบายหลอกนักศึกษาให้ไปเช่าหอพักเพื่อกักตัว แล้วหลอกให้ผู้ปกครองโอนเงินให้กับนักศึกษา ก่อนนักศึกษาจะโอนเงินให้มิจฉาชีพ
โดยตำรวจพบว่า มีนักศึกษาเข้าแจ้งความที่ สภ.โพธิ์กลาง เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางออนไลน์ มากกว่า 200 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000,000 บาท ในจำนวนนี้ มีนักศึกษา ประมาณ 10 ราย ที่ใช้วิธีการหลอกว่า เหยื่อเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งทำให้บางคนหลงเชื่อ
ที่สำคัญคือทั้ง 200 คน ถูกหลอกในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน คือ 1 ส.ค.-30 ก.ย. ที่ผ่านมา
พฤติกรรมของแก๊งคอลเซนเตอร์กลุ่มนี้ เริ่มจากการปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรศัพท์หาผู้เสียหาย ทำเป็นว่ามีหมายเลขบัตรประชาชนไปเกี่ยวข้องคดีต่าง ๆ เช่น ไปติดตั้งอินเตอร์เนตบ้านแล้วไม่จ่ายเงินที่ต่างหวัด เว็บพนันออนไลน์ แล้วให้ไปหาสถานที่เงียบ ๆ คนเดียว เช่น ให้ไปเช่าห้องพักกักตัวเองเพื่อพูดคุยคดีความ โดยใช้จิตวิทยาพูดคุย
จากนั้นมิจฉาชีพจะเริ่มขอให้โอนเงินให้ อ้างว่า เป็นค่าดำเนินคดี หรืออาจให้ผู้เสียหายไปหลอกลวงผู้ปกครองต่อ เช่น อ้างว่าโดนทำร้ายร่างกาย หรือถูกจับตัว หากผู้ปกครองหลงเชื่อก็จะโอนเงินให้ทันที แต่จะให้โอนเข้าบัญชีของผู้เสียหาย และให้ผู้เสียหายโอนให้อีกที เพื่อไม่ให้ติดตามตัวได้ง่าย ๆ ด้านผู้ดูแลหอพักนักศึกษา ระบุว่า ที่ผ่านมาจะได้รับแจ้งจากเบาะแสจากเพื่อนร่วมห้องของผู้เสียหาย ว่ามีเพื่อนหายตัวไป
ที่ผ่านมา มีนักศึกษาที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก บางคนเสียเงินมากถึง 500,000 บาท โดยเมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมาเพียงวันเดียว มีเคสนักศึกษาถูกหลอกถึง 3 คน สูญเงินไปเกือบ 700,000 บาท
ขณะที่ พ.ต.อ.วีณวัฒน์ ศรีแย้ม ผกก.สภ.โพธิ์กลา จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีนี้มีนักศึกษาตกเป็นเหยื่อกว่า 200 ราย มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มที่ถูกหลอกให้ซื้อของออนไลน์ และได้รับสินค้าไม่ตรงปก ขณะที่ กลุ่มที่ 2 ที่สูญเงินจำนวนมาก มีประมาณ 10 ราย คือ กลุ่มที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกว่าผู้เสียหายกระทำความผิดทางอาญา เช่นการพนันออนไลน์ หรือความผิดอื่น ๆ ที่คาดว่าในกลุ่มวัยรุ่นอาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ซึ่งหากนักศึกษาหลงเชื่อก็จะตกเป็นเหยื่อทันที
ตำรวจ ระบุว่า ถ้าเจอกรณีที่มีคนโทรมาในลักษณะนี้ ให้เดินทางไปหาตำรวจที่สถานีตำรวจได้เลย เพราะตำรวจทุกสถานีฯ สามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีหมายจับ หรือมีคดีจริงหรือไม่
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลนักศึกษา ไปอยู่ในมือมิจฉาชีพได้อย่างไรผกก.สภ.โพธิ์กลา ระบุว่า มีความเป็นไปได้หลายรูปแบบ ทั้งการกรอกข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ การให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใดที่หนึ่งทางออนไลน์ ที่ต้องส่งสำเนาบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เบอร์ติดต่อรวมทั้งให้สแกนใบหน้า อาจต้องระวังเพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีสถาบันการศึกษาดังกล่าว หลังจากนี้ จะเร่งแจ้งข่าวสารเตือนนักศึกษาทุกช่องทาง เช่น ติดประกาศตามหอพัก, แจ้งเตือนผ่านกลุ่มไลน์หอพักและกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง และขอความอนุเคราะห์ให้หอพักในเครือข่าย ช่วยสอดส่องดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด
อ่านข่าวเพิ่ม :