ขังเดี่ยว-ไม่มีสังคม อันตรายแค่ไหน ? ถ้าควาญต้องเข้าใกล้ "ช้าง"

สิ่งแวดล้อม
10 ต.ค. 67
15:16
517
Logo Thai PBS
ขังเดี่ยว-ไม่มีสังคม อันตรายแค่ไหน ? ถ้าควาญต้องเข้าใกล้ "ช้าง"
ช้างที่ถูกขังเดี่ยว อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะรู้สึกถูกคุกคามง่าย การขาดทักษะทางสังคมทำให้การเข้าหาช้างเหล่านี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ "ควาญ" จำเป็นต้องเข้าใจสัญญาณทางอารมณ์ของช้างอย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง

"ช้าง" สัตว์สังคมชั้นสูง

ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความเป็นสังคมสูงและต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างช้างด้วยกัน เพื่อความอยู่รอดและการเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ โครงสร้างสังคมของช้าง "โขลงช้าง" มีช้างตัวเมียที่มีอายุมากที่สุดในโขลงเป็น "แม่แปรก" หรือ ผู้นำโขลง ในโขลงช้างจะประกอบด้วยช้างตัวเมียและลูก ๆ ของพวกมัน ช้างตัวเมียที่อยู่ในฝูง จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมักจะช่วยเหลือกันในการดูแลลูกช้าง 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

การแยกตัวของ "ช้างตัวผู้"

"ช้างตัวผู้" มักจะอยู่กับโขลงจนถึงอายุประมาณ 12-15 ปี จากนั้นพวกมันจะออกจากโขลง เพื่อใช้ชีวิตเป็นอิสระหรือเข้าร่วมกับโขลงช้างตัวผู้ตัวอื่นที่เรียกว่า โขลงเพศผู้เดี่ยว (bull group) ซึ่งเป็นกลุ่มของช้างตัวผู้ที่ไม่แน่นแฟ้นเท่าโขลงช้างตัวเมีย ช้างตัวผู้จะมีการปฏิสัมพันธ์กับโขลงตัวเมียเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาอาหารและเดินทางไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำพัง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

"ช้าง" สื่อสารกันยังไง ?

ช้างมีการสื่อสารกันในหลายรูปแบบ เช่น การใช้เสียงเรียก การสัมผัส การส่ายงวง หรือแม้กระทั่งการส่งเสียงผ่านความถี่ต่ำที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ การสื่อสารเหล่านี้เป็นการส่งข้อมูลสำคัญ เช่น เตือนภัย หรือ แสดงสถานะทางอารมณ์
นอกจากนี้ ช้างยังสามารถจดจำและระบุช้างตัวอื่น ๆ ในโขลงได้ แม้จะไม่ได้เจอกันเป็นเวลานาน การใช้เสียงและกลิ่นเป็นส่วนหนึ่งในการระบุสมาชิกในโขลง

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในโขลงช้าง ถือว่ามีความแน่นแฟ้น หนาแน่น พอ ๆ กับตัวหนา ๆ ของช้าง โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกช้าง ช้างตัวเมียมักจะช่วยกันเลี้ยงดูลูกช้าง และหากสมาชิกในโขลงตาย ช้างตัวอื่นจะมีพฤติกรรมคล้ายการไว้อาลัย เช่น การสัมผัสร่างของช้างที่ตาย การยืนเฝ้าร่างของช้างเป็นเวลานาน เมื่อมีอันตรายหรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก ช้างก็จะรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันตัวเองจากภัยคุกคาม

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ช้างเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาสูงและมีการเรียนรู้พฤติกรรมจากกันและกัน เช่น การหาแหล่งน้ำ การเลือกเส้นทาง และการใช้เครื่องมือบางอย่างเพื่อช่วยในการหาอาหาร เช่น การใช้กิ่งไม้ปัดแมลง ความรู้ที่ช้างสะสม มาจากประสบการณ์จะถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไป โดยเฉพาะจากผู้นำโขลงหรือแม่แปรกที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโขลง

"โขลง" คือชีวิตของ "ช้าง"

โขลงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของช้าง ช้างตัวเมียและลูกช้างจะอาศัยรวมกันเป็นโขลง เพื่อความปลอดภัย ช่วยกันหาอาหาร ปกป้องสมาชิกจากผู้ล่า เมื่อมีภัยคุกคาม ช้างมักจะตั้งแถวและหันหน้าสู้ภัย เพื่อปกป้องลูกช้างและสมาชิกในโขลง ซึ่งแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวและความรับผิดชอบต่อกัน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในโขลง ช่วยให้ช้างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ

ช้างที่ถูกแยกจากโขลงหรือถูกขังเดี่ยว จะขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและถูกจำกัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหว มักมีพฤติกรรมเครียด ซึมเศร้า และ อาจเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวได้ 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ปัญหาถ้าช้างถูก "ขังเดี่ยว"

จริงอยู่ที่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ช้างตัวผู้จะแยกตัวออกจากโขลงเพื่อหาโขลงใหม่ จะเป็นช่วงเวลาที่ช้างต้องใช้ชีวิตตามลำพังเชือกเดียว แล้วถ้าทั้งชั่วชีวิตที่เหลือ มันไม่สามารถหาตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์สร้างโขลงช้างใหม่ได้ มันก็ต้องใช้ชีวิตเหงา ๆ ไปตลอด

แล้วต่างอะไรกับช้างที่ถูกขังเดี่ยวในคอกที่แสนกว้างใหญ่ ตามปางช้างทั่ว ๆ ไป ? 

เพราะช้างจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบช้างป่าจริง ๆ ไม่มีโอกาสเดินไปในป่าใหญ่ ทุ่งกว้าง เจอช้างตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ซึ่งต่างกับช้างที่ถูกเลี้ยงในคอกตามลำพัง แม้คอกจะกว้างแค่ไหน แต่ช้างก็ไปไกลกว่าคอกไม่ได้ ไม่รู้จักเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ หากินเองไม่เป็น ไม่ได้เห็นโลกภายนอก ข้อมูลจากนักสิ่งแวดล้อมกล่าวไว้

อยู่ตัวเดียว ก็คือ อยู่ตัวเดียวจริง ๆ  
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

การถูกขังเดี่ยวทำให้ช้างขาดการปฏิสัมพันธ์กับช้างตัวอื่น นำไปสู่ความเครียดและซึมเศร้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะไม่มีทางหนีจากสถานการณ์ที่ไม่สบายใจ การถูกจำกัดพื้นที่อาจทำให้ช้างรู้สึกคุกคามและมีความก้าวร้าวต่อสิ่งรอบตัว รวมถึงมนุษย์ที่เข้าใกล้

ช้างที่ถูกขังเดี่ยวจะไม่มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางสังคมที่จำเป็น เช่น การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน หรือการปกป้องสมาชิกในโขลง ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดในธรรมชาติ ทำให้ช้างไม่สามารถปรับตัวในสังคมได้ เมื่อมีโอกาสกลับเข้าสู่โขลง และอาจไม่สามารถมีส่วนร่วมในวงจรชีวิตตามปกติ เช่น การผสมพันธุ์ เนื่องจากการขาดความสามารถในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับช้างตัวอื่น 

อันตรายหรือไม่ ? ควาญต้องเข้าหาช้างที่ถูกขังเดี่ยว 

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แม้มนุษย์บางคนจะมีโลกส่วนตัวสูง หรือ โลกส่วนรวมต่ำ ก็ตาม แต่ไม่มีใครบนโลกที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการสื่อสาร หรือปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ช้างก็เช่นกัน

การถูกขังเดี่ยว เป็นสภาวะที่ทำให้ช้างขาดการสื่อสารกับสิ่งรอบข้าง ถูกบังคับให้สูญเสียความเป็นสัตว์สังคมไปโดยที่ไม่สามารถร้องขอจากใครได้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางจิตใจและร่างกาย ในสถานการณ์จำเป็นที่มนุษย์ ต้องเข้าใกล้ช้างที่ถูกขังเดี่ยวมาแทบทั้งชีวิต จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดการให้ลุล่วงได้โดยง่าย เพราะอันตรายที่เกิดต่อจิตใจของช้าง ย่อมส่งผลถึงอันตรายของชีวิต "ควาญ" ที่ต้องเข้าให้ความช่วยเหลือเช่นกัน

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ข้อมูลพื้นฐานที่ควาญช้างจะทำเมื่อต้องเจ้าใกล้ช้างที่อยู่ตัวเดียวมาเป็นเวลานาน เริ่มจากการสังเกตพฤติกรรมช้าง ดูสัญญาณความเครียดว่ามีมากน้อยแค่ไหน แกว่งหัว กระทืบเท้า เดินเป็นวงกลม หรือแสดงท่าทีคุกคาม เมื่อกำหนดระยะห่างสร้างความปลอดภัย แต่ถ้าช้างเริ่มสัญญาณก้าวร้าว ยกงวงสูง ส่ายหัว หรือทำท่าจะวิ่งเข้าหา ให้ออกจากพื้นที่ทันที 

ควาญช้างที่มีความชำนาญ จะค่อย ๆ เดินเข้าหาช้างเพื่อทำให้ช้างรู้สึกว่าไม่ถูกคุกคาม ควาญจะไม่จ้องตาช้างเป็นเวลานาน ๆ เพราะช้างอาจเข้าใจว่ากำลังถูกท้าทาย การเริ่มต้นผูกสัมพันธ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ควาญอาจต้องใช้เวลานาน สร้างความคุ้นเคย สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ช้างที่ถูกขังเดี่ยวรู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ด้วย และเปิดใจรับมนุษย์มาเป็นเพื่อน 

ช้างที่ถูกขังเดี่ยว เสมือนถูกตัดขาดจากโลกที่มันเคยรู้จัก ทุกวันที่มันยืนอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจำกัด ไม่มีเพื่อน ไม่มีโขลง ไม่มีใครให้มันพึ่งพิงหรือพูดคุย ไม่ได้ยินเสียงเรียกจากเพื่อนช้าง หรือรู้สึกถึงสัมผัสอันอบอุ่นจากงวงของสมาชิกในโขลง มันเริ่มเดินไปมาอย่างไร้จุดหมาย ส่ายหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนพยายามหาทางออกจากความโดดเดี่ยวที่มันไม่เข้าใจ

แม้จะเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่แข็งแรง แต่ในความเป็นจริง ช้างตัวนี้ก็เหมือนเด็กน้อยที่กำลังถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังในโลกที่มันไม่เคยต้องเผชิญ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่านข่าวเพิ่ม 

ภารกิจสุดหิน! ย้ายพลายขุนเดช-ดอกแก้ว ช้างไม่คุ้นควาญ

ดรามา! ปมช้างจมน้ำตาย-ช้างเลี้ยงคน-คนเลี้ยงช้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง