ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หลักชีวิต "เจ้เล้ง ดอนเมือง" ทำธุรกิจ แค่พอดี และ เท่าที่ไหว

ไลฟ์สไตล์
9 ต.ค. 67
14:29
633
Logo Thai PBS
หลักชีวิต "เจ้เล้ง ดอนเมือง" ทำธุรกิจ แค่พอดี และ เท่าที่ไหว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กว่า 50 ปี "ร้านเจ้เล้ง" ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง จำหน่ายน้ำหอม-เครื่องสำอาง-และสินค้าต่าง ๆ นำเข้ามาจากต่างประเทศ หลายคนคงอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้ "เจ้เล้ง" อยู่มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน การทำธุรกิจแบบเจ้เล้งเป็นแบบไหน

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" มีโอกาสได้มาคุยกับ "อารยา ลาภชีวสิทธิฉัตร" หรือ เจ้เล้ง กับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง การซื้อขายผ่านออนไลน์มีผลกระทบอย่างไร วันนี้ นอกจากได้ฟัง "เจ้เล้ง" ประเมินเศรษฐกิจภาพรวมค้าขาย ยังได้มาเรียนรู้การทำธุรกิจแบบเจ้เล้ง และการใช้ชีวิตในยุคที่เรียกว่าข้าวยากหมากแพงได้อย่างไร

"เจ้เล้ง" ในวัย 78 ปี พูดด้วยรอยยิ้มว่า หากเป็นไปได้จะอยู่ให้ถึงอายุ 100 ปี (หัวเราะ) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ถึงหรือไม่ แต่อย่างน้อยในช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็ดูแลตัวเองทั้งในเรื่องของอาหารการกิน ออกกำลังกาย เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง

เมื่อพูดถึงในด้านของการค้าขาย "เจ้เล้ง" บอกว่าได้มีการปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงในด้านขายออนไลน์ แต่ในอีกมุมหนึ่งยังทำให้เกิดภาวะ "ใช้เงินเกินตัว" โปรโมชันลดแลกแจกแถม การโฆษณาสินค้าเกินจริง ทำให้บางคนอยากจะซื้อไปใช้แม้จะไม่จำเป็นก็ตาม เนื่องด้วยไม่ได้มีการควบคุม ส่งผลให้คนบางกลุ่มใช้เงินเกินตัว

มีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียวก็ใช้ซื้อของออนไลน์ได้ ไม่สนใจว่าใช้แล้วเงินหมดไหม พอเงินหมด ก็กู้ต่อ มันมีโอกาสใช้เงินอนาคตกันทุกคน บ้านเมืองเราเจ๊งเพราะเรื่องโอกาสที่มีให้มากเกินไปสำหรับชนชั้นที่ยังไม่มีสติ ที่จะระงับยับยั้งชั่งใจ

คนไทย เสี่ยงสูง หนี้ท่วม

หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้เล้ง มองว่าสิ่งที่ต้องทำก่อนคือจัดระบบสถาบันการเงินที่ไม่ให้ปล่อยกู้มากเกินไป เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเป็นหนี้ได้ง่าย ส่วนธนาคารก็กินดอกเบี้ยสบาย ๆ จากบัตรกดเงินสดและบัตรเครดิต โดยมองว่าคนคนหนึ่งไม่ควรมีบัตรเครดิตเกินหนึ่งใบ แต่ส่วนใหญ่พบว่าคนหนึ่งมีบัตรเครดิตหลายบัตร ส่งผลให้เกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ปานกลาง ไปถึงน้อย

"บางคนเงินเดือนออกมา เหลือใช้ไม่เท่าไหร่ เพราะต้องเอาเงินไปใช้เขาหมด และก็ทำให้ไปกดเงินสดออกมาใหม่ เดือนหน้าก็ไปกดมาแล้วก็ไปใช้เขา เท่ากับที่จ่ายนั้นคือแค่ดอกเบี้ย ไม่ใช่ต้น"

สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าคนค้าขายจะลดราคา ทำโปรโมชันก็ยาก เนื่องด้วยรายได้หดหาย ของแพงขึ้น อำนาจซื้อไม่มี ตอนนี้คนระดับกลาง กับระดับล่าง ลองคิดตามนะ บางคนเงินเดือนถึงแสนบาท ก็ไม่พอหรอก เพราะเมื่อมีเงินเดือนเยอะก็จะซื้อบ้านราคาหลักสิบล้านเพราะคิดว่าผ่อนได้ ผ่อนรถอีก ค่าใช้จ่ายอีก เดือนไหนไม่พอจ่ายก็รูดบัตรเครดิต ก็กลายเป็นหนี้วนไป

พอเป็นหนี้ในระบบจนไม่สามารถหมุนได้แล้ว ก็จะออกมาเป็นหนี้นอกระบบต่อ คราวนี้คนหนึ่งคนเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ จะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ได้

เจ้เล้ง เล่าย้อน ในช่วงมีอาชีพปล่อยเงินกู้ คนที่มากู้ส่วนใหญ่ก็เกิดเพราะใช้จ่ายเงินเกินตัว แต่ก็มีบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ ก็มี ตอนนั้นก็ปล่อยกู้ร้อยละ 20 ยึดบัตรเอทีเอ็ม และสมุดเงินฝากไว้กับตัว พอสิ้นเดือนก็กดเงินออกมา ตอนนั้นก็ปล่อยกู้ไปพันกว่าคน จากดอกเบี้ยร้อยละ 20 ก็เริ่มลดมาเหลือ 10 เหลือ 7 และสุดท้ายเหลือ 3 แล้วก็เลิกทำอาชีพนี้

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในตอนนั้นก็เรียกลูกหนี้ทั้งหมดมาเพื่อให้ตกลงให้จ่ายเงินร้อยละ 30 ของยอดที่เหลือ เพราะไม่อยากให้ทุกคนเป็นหนี้ อยากให้ทุกคนเป็นไทย

สมัย นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการนำสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เงินสด สินเชื่อแห่งหนึ่งเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้น เจ้เล้ง บอกว่า ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีโจรกับจนเต็มบ้านไปหมด เพราะอาชีพนี้ฉันทำมาก่อน จึงรู้ว่าถ้ามีโอกาสแบบนี้เยอะ ๆ คนจนจะไม่มีสติคิดยับยั้งชั่งใจที่อยากจะใช้เงิน และสุดท้ายในปัจจุบันเราก็ได้เห็นว่าเป็นแบบนั้นจริง ๆ 

ถ้าถามว่าแล้ว เจ้เล้ง ไม่เคยกู้ธนาคารเลยหรือ คำตอบ คือ ไม่เคยกู้ธนาคาร เพราะมีคติที่ว่า กินเท่าที่มี ทำเท่าที่มี ใช้เท่าที่มี แม้กระทั่งธุรกิจที่กำลังจะทำใหม่ต้องใช้เงินกว่า 2,000 ล้านบาท ก็เป็นเงินสดที่ไม่ได้กู้ธนาคาร

ส่วนเคล็ดลับในการทำธุรกิจไม่เคยเจ๊ง เพราะทำเท่าที่มีตัวเองมี ทำเท่าที่ไหว ถ้าไม่เวิร์คก็หยุดทันที ไม่เคยกลัวเสียหน้า

กำลังซื้อของคน ไม่เหมือนเดิม

ช่วงหลังมีสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งมากขึ้น ถ้าถามว่ามีผลกระทบหรือไม่ เจ้เล้ง บอกว่า เจ้เล้งดอนเมืองจะฉีกแนวไปขายสินค้าที่มาจากญี่ปุ่น และยุโรป ไม่ได้ขายสินค้าจากจีน แต่ในทางกลับกันก็มองว่า ตอนนี้ไม่ว่าจะขายสินค้าอะไรก็ตาม คนก็ไม่ได้มีกำลังซื้อเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะคนใช้เงินแบบไม่มีเงินจะใช้แล้ว

ถ้าถามว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะช่วยคนจนได้หรือไม่ เจ้เล้ง ย้ำว่า หากแจกคนจนจริง ๆ ก็เห็นด้วย แต่ต้องทำให้โปร่งใส อย่าแจกจนเละเทะ แต่สิ่งสำคัญหากจะแก้ที่ต้นทาง รัฐบาลจะต้องจัดการเรื่องหนี้ในระบบสถาบันการเงินของประชาชนก่อน อาจจะเป็นการหยุดดอกเบี้ยเพื่อให้เขาสามารถจ่ายต้นได้หมด

จริง ๆ ถ้าตัดดอกเบี้ยออกเขาก็ใช้คืนได้ เพราะแบงก์ก็ได้ไปหมดแล้ว แบงก์ไม่ขาดทุนหรอก เพราะแบงก์ปล่อยบัตรเครดิตปีครึ่งเขาก็ได้ทุนคืนแล้ว ฉะนั้นไม่มีแบงก์ไหนขาดทุนเรื่องเงินกู้รายย่อย

ถ้าถามว่าชีวิตของเจ้เล้งทุกวันนี้เป็นอย่างไร จะบอกว่าการค้าขายไม่มีผลกระทบก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ค้าขายดีเหมือนสมัยก่อน เพราะด้วยช่องทางการซื้อเยอะขึ้น แต่ตลอดเวลาก็มีการปรับตัวและด้วยความที่ตัวเองเป็นคนที่มองอนาคตไว้ตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว จึงได้มาเริ่มทำอาชีพอื่น ๆ ทั้งบ้านเช่า บ้านคนแก่ และสร้างอพาร์ตเมนต์ใกล้กับมหาวิทยาลัย

"การมองโลกล่วงหน้า ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รีบปรับตัวก่อน จึงจะทำให้การบริหารธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้"

พบกับรายการ : คุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง