- สูตรลับชีวิตหลังเกษียณ! เตรียมวางแผนสุขภาพ-การเงิน-จิตใจ
- ก้าวข้ามการสูญเสีย How to เยียวยาความเศร้าใน "หัวใจเด็ก"
วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health หรือ WFMH) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2535 เพราะปัญหาสุขภาพจิตมักถูกตีตราในหลายวัฒนธรรม การสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ จะช่วยลดทอนอคติที่มีต่อผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้พวกเขาได้รับการรักษาที่เหมาะสมและเข้าถึงบริการได้อย่างทันท่วงที
สิ่งสำคัญในที่ทำงานคือ "สุขภาพจิต"
แคมเปญของ "วันสุขภาพจิตโลก" ในปี 2567 นี้คือ "ถึงเวลาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน" (It's Time to Prioritize Mental Health in the Workplace) ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของสุขภาพจิตในสถานที่ทำงาน โดยเชื่อมโยงระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ซึโยชิ อากิยามะ ประธาน WFMH กล่าวว่า แคมเปญวันสุขภาพจิตโลกในปีนี้ ได้รับเลือกจากการลงคะแนนเสียงจากทั่วโลกจากสมาชิก WFMH ใน 116 ประเทศ ถือเป็นการสะท้อนให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร
ผู้ใหญ่บางคนใช้เวลาทำงานมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพ แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก การทำงานกลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตตามมา
ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล เป็นปัญหาที่แพร่หลายในสถานที่ทำงานทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน หากไม่ได้รับการรักษา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ตามการประเมินของ WHO ดังนั้น แคมเปญปี 2567 จึงยิงเป้าไปเพื่อกระตุ้นนายจ้างและองค์กร หากลยุทธ์ช่วยลดความเครียดในที่ทำงานมาใช้ เช่น การจัดเวลาให้ยืดหยุ่น การสนับสนุนทรัพยากรด้านสุขภาพจิต และการสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกตำหนิ
ด้าน ศ.เกเบรียล อิฟบิจาโร เลขาธิการ WFMH ระบุว่า งานวิจัยในปี 2563 พบอัตราการว่างงานที่สูงในกลุ่มคนหนุ่มสาว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต พฤติกรรมก่ออาชญากรรม อัตราการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด อัตราการฆ่าตัวตาย และ อัตราการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ "ที่เพิ่มขึ้น"
โดยทั่วไป แม้ว่าการจ้างงานจะเป็นสิ่งที่ดี แต่รูปแบบการทำงาน "บางอย่าง" อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและนำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้น เช่น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การทำงานกะกลางคืน การทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงภาวะหมดไฟ ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ "ลดลง" เช่น เริ่มขาดงาน มาทำงานสาย
ทุกคนรู้ว่างานที่ดีมาจากสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ผู้คนจำนวนมากที่มีปัญหาสุขภาพจิต กลับไม่กล้าเปิดเผยปัญหาที่ตัวเองเจอกับนายจ้าง เพราะกลัวการถูกตีตรา ตำหนิ และ การเลือกปฏิบัต
สุขภาพจิตที่ดีในที่ทำงาน เป็นยังไง ?
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง "เจ้านายและลูกน้อง" ในที่ทำงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงานและประสิทธิภาพในการทำงาน นี่คือแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน
- สื่อสารที่เปิดเผย : ช่วยเปิดกว้างให้พนักงานรู้สึกว่า ความคิดเห็นของพวกเขาถูกนำมาพิจารณา การพูดคุย ไถ่ถามกันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พนักงานกล้าพูดคุยเกี่ยวกับปัญหา หรือ ข้อเสนอแนะ จะช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจในทีม
- ให้การสนับสนุน : เจ้านายที่น่ารัก ควรให้การสนับสนุนลูกน้องในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เช่น การให้คำปรึกษา การฝึกอบรม หรือ การจัดกิจกรรมที่ช่วยให้พนักงานมีความรู้สึกดีขึ้นในที่ทำงาน
- ยอมรับและชื่นชม : การยอมรับความสำเร็จ ชื่นชมในความพยายามของพนักงาน จะช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจและความภูมิใจในการทำงาน การแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้
- สร้างวัฒนธรรมที่มีส่วนร่วม : สร้างโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมจะช่วยส่งเสริมความรู้สึกของความเป็นเจ้าของและความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของงาน
- จัดการความขัดแย้ง : ความสามารถในการจัดการและแก้ไขความขัดแย้งในทีม "อย่างมีประสิทธิภาพ" จะช่วยให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น และลดความเครียดที่อาจเกิดจากปัญหาต่าง ๆ
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้านายและลูกน้องไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี แต่ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นและบรรยากาศการทำงานที่ดีในองค์กรโดยรวมด้วย
สุขภาพจิตที่ดี เริ่มที่ตัวเรา
ข้อมูลจาด WHO ระบุ การดูแลสุขภาพจิตเริ่มที่ตัวเราและสามารถทำได้ง่าย ๆ เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
- สร้างกิจวัตรประจำวันที่ดี เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการนอนหลับเพียงพอ การดูแลร่างกายจะช่วยสนับสนุนสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ฝึกสติหรือทำสมาธิ ช่วยให้จัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ ช่วยให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันและลดความวิตกกังวล
- สร้างเครือข่ายสังคม ความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตอย่างมาก เพราะการมีคนที่สามารถพูดคุยหรือขอความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นสิ่งสำคัญ
- ให้เวลากับตัวเองในการทำสิ่งที่ชอบ เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง หรือการทำกิจกรรมที่สร้างความสุข จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นและลดความเครียดในชีวิตประจำวัน
- ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ช่วยให้มีแรงจูงใจในการทำงานและดำเนินชีวิต ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต
รู้จัก 4 สารตั้งต้นแห่ง "ความสุข"
การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชอบ หรือ การใช้เวลากับคนที่เรารัก ช่วยกระตุ้นการหลั่ง "ฮอร์โมนแห่งความสุข" ซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกดี ลดความเครียด
- เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนแห่งความสุข ควบคุมอารมณ์ความสุขและการนอนหลับ ระดับเซโรโทนินที่เหมาะสม จะช่วยทำให้รู้สึกสงบและมีความสุขมากขึ้น
- โดปามีน (Dopamine) ฮอร์โมนแห่งรู้สึกพอใจ ดีใจ เมื่อเราทำกิจกรรมที่เราชอบหรือประสบความสำเร็จ โดปามีนจะหลั่งออกมา
- เอนโดรฟิน (Endorphins) ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่คล้ายกับยาบรรเทาอาการปวด มักหลั่งออกมาในช่วงออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีความสุข
- ออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความผูกพัน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เมื่อเราอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เรารักหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมา ทำให้รู้สึกอบอุ่นและมีความสุข
"สุขภาพจิตที่ดี" ต้องเริ่มต้นจากการฝึกพัฒนาใจตัวเองให้แข็งแรงก่อน แล้วตัวเราเองก็จะสามารถเป็น "สารตั้งต้น" แห่งความสุขในที่ทำงานได้
อ่านข่าวอื่น :
"กัญจนา" ย้ายด่วนช้างขุนเดช-ดอกแก้ว ไม่ขอคุย "แสงเดือน"
เนื้อนุ่ม หนาฟู "กระท้อนนาปริกสตูล" Soft Power ผลไม้ไทย
น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูง เอ่อท่วมชุมชนวัดเทวราชกุญชร กทม.