ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กางกฎหมายมาตรฐาน "ปางช้าง" เพื่อสวัสดิภาพช้างที่ดี

ไลฟ์สไตล์
10 ต.ค. 67
18:20
958
Logo Thai PBS
กางกฎหมายมาตรฐาน "ปางช้าง" เพื่อสวัสดิภาพช้างที่ดี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ภาพช้างเดินลุยน้ำสีแดงขุ่นและไหลเชี่ยวหนีเอาชีวิตรอด หลังน้ำแม่แตงไหลทะลักท่วมปางช้าง ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ช้างพิการตาบอด "พังพลอยทอง" ถูกน้ำป่าพัดจมไปพร้อมช้าง "พังฟ้าใส" ช้างอีกเชือก กลายเป็นข่าวเศร้าในวันนั้น เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงถึงการจัดการของ "ปางช้าง" ในการช่วยเหลือรับมือช้างเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างภัยพิบัติธรรมชาติ 

อ่านข่าว : ขังเดี่ยว-ไม่มีสังคม อันตรายแค่ไหน ? ถ้าควาญต้องเข้าใกล้ "ช้าง"

การบริหารจัดการ เรื่องสุขภาพ สวัสดิภาพ และสิ่งแวดล้อมให้กับช้างในปาง จึงเป็นอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลายคนอยากรู้ "ปางช้าง" ต้องมีองค์ประกอบ อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกัน

ประเทศไทยมีธุรกิจปางช้างและกิจกรรมท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างอยู่จำนวนมาก มีทั้งปางช้างแบบดั้งเดิม ปางช้างแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ปางช้างพิการหรือชรา ปางช้างผสมผสาน หลายครั้งปางช้างขาดการจัดการควบคุมดูแลที่ถูกต้องจนเกิดปัญหาสุขภาพ การทารุณกรรม การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสวัสดิภาพช้าง จึงจำเป็น โดยเฉพาะในปางช้าง สถานที่ที่มีการเลี้ยงช้างไว้เพื่อทำกิจกรรมที่หลากหลาย

ดังนั้น เพื่อให้มีการจัดสวัสดิภาพตามประเภทและชนิดของสัตว์ จึงเป็นที่มาของ "ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ.2563" ให้ช้างในปางช้างได้รับการเลี้ยงหรือการดูแลให้มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ

ส่วนอีกเรื่องจะเป็น มาตรฐานบังคับ เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2567 โดยกรมปศุสัตว์เปิดให้ผู้ประกอบการปางช้างยื่นคำขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ และขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง โดยมีผู้ประกอบการปางช้างได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตฯแล้ว 164 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย.67)

การกำหนดมาตรฐานปางช้างเป็นการยกระดับการเลี้ยงและการจัดสวัสดิภาพช้าง ทั้งยังเป็นการป้องกันการทารุณกรรมช้างตามหลักสากล

วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจมาตรฐานบังคับ เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ซึ่งจัดทำโดยอาศัยข้อมูลจากมาตรฐานการปฎิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง (มกษ 6413-2564) ให้มากขึ้น 

มาตรฐานบังคับ เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง

"ปางช้าง" คือ สถานที่ประกอบกิจการเลี้ยงหรือรวบรวมช้าง เพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือประกอบกิจการอื่นที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง ไม่ว่าจะเรียกเก็บค่าดูหรือค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การกำหนดปางช้างบังคับเป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากผู้ประกอบการปางช้างไม่ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานปางช้างต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท

(หมายเหตุ มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ใช้กับปางช้างที่เลี้ยง หรือรวบรวมช้างบ้าน (Domesticated elephant) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elephas maximus เท่านั้น )

มาตรฐานบังคับดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึง การเลี้ยงช้างในครัวเรือน โดยไม่มีการประกอบกิจการเกี่ยวกับช้างเพื่อการท่องเที่ยวหรือการแสดง การเลี้ยงช้างไว้ใช้แรงงาน เช่น การชักลาก

องค์ประกอบของปางช้าง 

1."ปางช้าง" ทำเลที่ตั้ง ต้องเป็นอย่างไรบ้าง

การเลือกสถานที่ตั้งเพื่อประกอบกิจการปางช้าง นั้น ครอบครองสถานที่อย่างถูกต้อง คำนึงถึงความปลอดภัยของช้างและชุมชน ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน จากอันตรายทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ที่มีผลต่อสุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์

รวมทั้งต้องมีเส้นทางสะดวกต่อการขนส่งช้าง อาหาร และเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ และต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อป่าต้นน้ำ แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนเพื่อสุขลักษณะ และมีสถานที่พักผ่อนสำหรับช้าง

ภาพจาก : กรมปศุสัตว์

ภาพจาก : กรมปศุสัตว์

ภาพจาก : กรมปศุสัตว์

2.ปางช้าง ต้องมีขนาดพื้นที่และผัง อย่างไรบ้าง

ปางช้าง ต้องมีขนาดพื้นที่เหมาะสมกับลักษณะกิจกรรมและจำนวนช้าง การวางผังปางช้างต้องเอื้อต่อการปฎิบัติงานที่ถูกสุขลักษณะ มีการแยกพื้นที่ปฎิบัติงานเป็นสัดส่วน เช่น สถานที่พักช้าง พื้นที่พักผ่อนสำหรับช้าง พื้นที่เก็บอาหาร พื้นที่เก็บอุปกรณ์ และพื้นที่รวบรวมขยะและมูลช้าง 

3.สถานที่พักช้าง และพื้นที่พักผ่อนสำหรับช้าง 

  • มีสถานที่พักช้าง เพื่อรอให้บริการ หรือ พักจากการบริการ โดยหากเป็น อาคารพักช้าง ต้องมีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยงช้าง มีหลังคาสำหรับกันแดด กันฝน มีการระบายอากาศที่ดี และไม่มีน้ำขังบริเวณพื้นที่อาคารพักช้าง แต่หากไม่ใช่อาคารพักช้าง พื้นที่ต้องมีร่มเงา มีแหล่งน้ำเพียงพอ
  • มีพื้นที่พักผ่อนสำหรับช้าง เพื่อใช้พกผ่อนในช่วงที่ไม่มีงานบริการ หรือ ช่วงกลางคืน เช่น การล่ามช้าง ไว้ในป่าธรรมชาติหรือสวน หรือในอาคาร มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 16 ตารางเมตรต่อเชือก โดยใช้เชือดมัดหรือโซ่ล่าม ความยาวไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร 

การจัดการปางช้าง 

1.การจัดการปางช้าง ต้องมีคู่มือที่แสดงให้เห็นรายละเอียดการปฎิบัติงานที่สำคัญภายในปางช้าง อาทิ การดูแลการจัดการช้างท้อง ช้างคลอด ลูกช้าง ช้างวัยรุ่น ช้างวัยทำงาน ช้างชรา และช้างพิการ, การแยกและการฝึกลูกช้าง, การจัดการช้างตกมันและช้างอาละวาด นอจากนี้ยังมีเรื่องการจัดการด้านสวัดิภาพสัตว์, การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, การจัดการด้านบริการ การแสดง และการทำงานของช้าง 

2.การจัดการอาหารและน้ำ ให้ช้างได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับเลี้ยงช้างโดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558, มีสถานที่เก็บอาหารแยกเป็นสัดส่วน, จัดการให้ช้างทุกเชือกได้กินอาหารและน้ำเพียงพอ และอาหารที่หลากลาย  

3.การจัดการอาคารและอุปกรณ์ ต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ บำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ให้ปลอดภัยต่อช้างและบุคลากร

4.การจัดการแหล่งที่มาของช้าง ช้างบ้านทุกเชือกต้องมีหลักฐานประจำตัวช้างที่ออกให้โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ตั๋วพิมพ์รูปพรรณ บัญชีลูกครอก 

บุคลากร - ของปางช้าง 

  • มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้าง
  • ควาญช้างทำหน้าที่เลี้ยงช้าง ต้องมีความรู้ ได้รับการฝึกอบรมหรือฝึกปฎิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง ดูแลในเรื่องการจัดการอาหาร น้ำ และที่พัก 
  • บุคลากรมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน โดยคำนึงถึงจำนวนของช้างพี่เลี้ยง และประเภทของปางช้าง
  • บุคลากรอื่น ๆ ที่ให้บริการ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับช้าง มีทักษะในการบริการ ดูแลช่วยเหลือผู้มาให้บริการ
  • บุคลากรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคจากสัตว์สู่คน 
  • จัดหาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของควาญช้าง มีการทำอุบัติเหตุสำหรับควาญช้าง 

สุขภาพช้าง ในปางช้าง

  • มีการตรวจสุขภาพของช้างประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • มีการป้องกันและควบคุมโรค เช่น ช้างได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 
  • มีการกักกันโรคสำหรับช้างที่นำเข้าใหม่ แยกช้างป่วยออกจากพื้นที่เลี้ยงช้างปกติ
  • กรณีเกิดโรคระบาดหรือสงสัยว่าเกิดโรคระบาดต้องปฎิบัติตาม พ.ร.บ.โรคระบาด พ.ศ.2558 และคำแนะนำของกรมปศุสัตว์
  • การบำบัดโรคต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพย์ พ.ส.2545
  • ช้างทุกเชือกมีสมุดประจำตัวช้าง 

สวัสดิภาพสัตว์ 

สำหรับสวัสดิภาพสัตว์ ต้องดูแลและปฎิบัติต่อช้างให้มีความเป็นอยู่ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ นั้นคือ 

  • มีอิสระจากความหิวกระหาย
  • มีอิสระจากความไม่สะดวกสบาย อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม 
  • มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และเป็นโรค
  • มีอิสระจากความกลัวและทุกข์ทรมาน
  • มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของช้าง 

นอกจากนี้ ต้องดูแลปฎิบัติต่อช้างให้มีความเป็นอยู่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 

สิ่งแวดล้อม 

มีการกำจัดซากขยะของเสีย และน้ำเสีย โดยวิธีที่เหมาะสมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีมาตรการการจัดการมูลช้างไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

การจัดการด้านความปลอดภัย 

  • มีบุคลากร และป้ายหรือเอกสาร ให้คำแนะนำ เรื่องความปลอดภัยในการเข้าหาช้าง ให้อาหารช้าง การนั่งบนหลังช้าง และการปฎิสัมพันธ์ใกล้ชิดช้าง 
  • ควาญช้างมีการตรวจสอบพฤติกรรมก่อนเริ่มให้บริการแเก่ผู้มาใช้บริการทุกครั้ง 
  • มีการจัดการด้านความปลอดภัย 
  • มีรั้วกั้นหรือสิ่งกีดขวางระหว่างผู้ให้บริการกับช้าง ขณะที่ชมการแสดงและให้อาหารช้าง
  • มีสถานที่สำหรับขึ้น - ลง หลังช้างที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย
  • มีแผนและฝึกซ้อมการปฎิบัติตามแผนในการจัดการภาวะฉุกเฉินในปางช้าง 
ภาพจาก : กรมปศุสัตว์

ภาพจาก : กรมปศุสัตว์

ภาพจาก : กรมปศุสัตว์

การบันทึกข้อมูล 

มีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญดังนี้ 

- ประวัติบุคลากร ประวัติการฝึกอบรมหรือฝึกปฎิบัติ และผลการตวจสุขภาพประจำปี

- แหล่งที่มาของอาหารและน้ำ

- การใช้สารเคมี ยาฆ่าเชื้อ หรือวัตถุอันตรายทางการปศุสัตว์

- การใช้ยาสัตว์และอาหารเสริม

- บันทึกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายช้าง 

ทั้งนี้ให้เก็บรักษาบันทึกข้อมูลเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

ประเภทของ "ปางช้าง" ใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่ง 

ปางช้างแบบดั้งเดิม คือ ปางช้างที่มีกิจกรรมการขี่ช้าง โดยนั่งบนแหย่ง และ/หรือ การชมการแสดงความสามารถของช้าง

ปางช้างแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ปางช้างที่มีกิจกรรมขี่ช้าง โดยนั่งบนแหย่งหรือไม่มีแหย่ง หรือเดินไปด้วยกันกับช้าง หรือมีการให้ความรู้เรื่องช้างและการอนุรักษ์ช้าง

ปางช้างพิการหรือชรา คือ ปางช้างที่มีการนำช้างพิการ หรือช้างชรามาเลี้ยงและดูแล

ปางช้างแบบผสมผสาน คือ ปางช้างที่รวมกิจกรรมของปางช้างดั้งเดิมและปางช้างแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์

สำหรับปางช้าง มีการแบ่งตามขนาดดังนี้ 

  • ปางช้างขนาดเล็ก มีช้างจำนวนไม่เกิน 10 เชือก 
  • ปางช้างขนาดกลาง มีช้างจำนวนตั้งแต่ 11 เชือก ถึง 30 เชือก
  • ปางช้างขนาดใหญ่ มีช้างจำนวนตั้งแต่ 31 เชือกขึ้นไป

และหากพูดถึง "ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ.2563" มีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง โดยในกฎหมายนี้ได้ให้ความหมายของ "ปางช้าง" ว่า

สถานที่ที่มีการเลี้ยงช้างไว้เพื่อเป็นพาหนะ เพื่อใช้งาน ใช้ในการแสดง ใช้ในกิจการท่องเที่ยว หรือใช้ในการศึกษาและการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยตรงจากช้างหรือไม่ก็ตาม การใช้ช้างเพื่อทำงานหรือเพื่อการแสดง ต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของช้าง

การใช้ช้างไว้ขี่เป็นพาหนะ

  • ช้างที่ใช้ขี่แบบหลังเปล่า ต้องมีอายุตั้งแต่ 10 ปี จนถึง 60 ปี หรือมีความสูงจากพื้นถึงไหลของช้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร 
  • ช้างที่ใช้ขี่แบบนั่งแหย่ง ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 60 ปี หรือมีความสูงจากพื้นถึงไหลของช้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร 

การบรรทุกคนหรือสิ่งของ น้ำหนักบรรทุกรวมต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวช้าง และไม่เกิน 350 กิโลกรัม กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานติดต่อกันแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 1 ชั่วโมง กำหนดเวลาพักของช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 15 นาที ระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อขี่เป็นพาหนะต้องไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง

การใช้ช้างเพื่อการแสดง ช้างที่จะใช้ในการแสดงต้องมีอายุตั้งแต่ 3 ปี จนถึง 60 ปี ลักษณะการแสดงต้องไม่เป็นการแสดงที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของช้างหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อช้าง เช่น การให้ช้างยืนสองขา การยืน นั่ง หรือเดินบนอุปกรณ์ต่าง ๆ การขับขี่อุปกรณ์ล้อเลื่อน การใช้เสียงดัง เป็นต้น 

นอกจากนี้ การใช้ช้างเพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกับช้าง ช้างที่จะใช้งาน ต้องมีอายุตั้งแต่ 3 ปี จนถึง 60 ปี ส่วน การใช้ช้างเพื่อการชักลาก ช้างต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปี จนถึง 50 ปี น้ำหนักสำหรับการชักลาก ช้างหนึ่งเชือกต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของน้ำหนักตัว  

อ่านข่าว : ภารกิจสุดหิน! ย้ายพลายขุนเดช-ดอกแก้ว ช้างไม่คุ้นควาญ

ถอดบทเรียน "เลี้ยงช้าง-สั่งการไม่ได้" อุปสรรคการช่วยเหลือ ?

ราคา "ทองคำ" ร่วงต่อ กังวลดอกเบี้ยเฟด-ดอลลาร์แข็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง