23 มิ.ย.2567 ดีเอสไอ นำตัว "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหา ในคดีหุ้น STARK ซึ่งกลับจากหนีคดีอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังก่อนหน้านี้มีการจับกุมตัว "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ"ทายาทอาณาจักรสี TOA ไปแล้ว คดีนี้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร้องขอให้เข้าไปตรวจสอบ พบมีผู้เสียหายถึง 4,704 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท
ต้นเดือน พ.ย.นี้ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรม กรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) จะนำข้อสรุปรายงาน เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ ก.ล.ต. พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป เนื่อง จากคดีนี้สร้างความเสียหายต่อตลาดทุนมูลค่ามหาศาล
เป็นเวลากว่า 4 เดือน ที่คดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม มีคำสั่งแต่ตั้งคณะทำงานแผนประทุษกรรม กรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) โดยมอบหมายให้ นายพงศ์เทพ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา-ปัจจุบัน กว่าจะได้ข้อยุติ และสามารถตรวจสอบแผนประทุษกรรม เส้นทางการปั่นหุ้น การทำธุรกรรม การแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่ากระบวนการขั้นตอนทั้งหมด มีที่มาอย่างไร
STARK-ตลาดหุ้น และการตรวจสอบ
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ก่อตั้งโดย "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" ทายาทอาณาจักรสี TOA ได้ไปซื้อบริษัท Phelps Dodge ซึ่งเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกันในไทย ที่กำลังมีปัญหาด้านธุรกิจ เมื่อปี 2558 โดยมี "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตผู้บริหาร รพ.พญาไท เข้าร่วมหุ้นซื้อกิจการดังกล่าว หลังเข้าซื้อกิจการไม่นานบริษัท Phelps Dodge จากที่เคยขาดทุนก็พลิกกลับมามีกำไร กระทั่งปี 2562 ได้เข้าตลาดหุ้นโดยใช้ช่องทางลัด (backdoor listing)
กล่าวคือ ให้บริษัทสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เข้าซื้อกิจการ โดยนำเงินจากกลุ่มของนายวนรัชต์ มาซื้อ และได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SMM รวมทั้งสิ้นร้อยละ 95.6 หลังเข้าตลาดหุ้นสำเร็จ ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และทีมงานของผู้บริหาร เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก SMM เป็น STARK ทำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล
ต่อมาช่วงปลายปี 2565 บริษัท STARK เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนกับสถาบันการเงินหลายแห่ง มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LEONI Kabel และ LEONIsche Holding ซึ่งทำธุรกิจขายสายไฟฟ้าสำหรับ EV และสถานีชาร์จจากเยอรมนี เสมือนเป็นการต่อยอดธุรกิจปกติ แต่หลังจากได้เงินเพิ่มทุนครบแล้ว ทางบริษัท STARK กลับยกเลิก
ในปี 2565 บริษัท STARK ไม่ยอมส่งงบการเงินตามกำหนด และยังเลื่อนการส่งงบอีก 2ครั้ง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายหุ้น) ในเดือน มี.ค.2566 เป็นเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริษัท STARK เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นปล่อยกู้ให้กับ STARK ด้วย ส่งผลให้ "ชนินทร์" และผู้บริหารบางส่วนตัดสินใจลาออก และยอมรับว่ามีการฉ้อโกงทางบัญชี
แม้ในภายหลังบริษัทจะกลับมาซื้อขายได้อีกครั้ง ราคาหุ้น STARK ก็ร่วงเกินกว่าร้อยละ 90 แล้ว เป็นเหตุ ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบและพบว่า บริษัท STARK, ชนินทร์, วนรัชต์ และบุคคลอื่น รวม 10 ราย ร่วมกันใช้ข้อมูลเท็จ ระหว่างปี 2564-2565 ตกแต่งงบการเงิน ปกปิดความจริง กระทำโดยทุจริตหลอกหลวง ให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของประชาชน มีการถ่ายโอนทรัพย์สินไปประเทศอังกฤษ กว่า 8,000 ล้านบาท
ดังนั้น ก.ล.ต.จึงร้องมายังดีเอสไอ และ ปปง. ให้เข้าไปตรววจสอบและดำเนินคดี ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องไว้ เนื่องจากพบคนบางกลุ่ม เข้าไปตกแต่งบัญชีเพื่อสร้างยอดขายปลอม ทำให้หุ้นของกลุ่ม STARK ขึ้นไปอยู่ในดัชนีหุ้น และเป็นนิยมในตลาดหลักทรัพย์ มีการโอนและยักย้ายเงินที่กู้จากธนาคาร และเงินจากผู้ซื้อหุ้นกู้ไปยังต่างประเทศ
เสนอ ก.ล.ต. ขึ้นทะเบียนสำนักตรวจสอบบัญชี
"ปปง. เข้าไปตรวจสอบพบมีอดีตผู้บริหารบางคน ได้ทำการถ่ายโอนทรัพย์สินไปต่างประเทศ ทั้งอังกฤษและสิงคโปร์ ทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ตามได้ อยู่ที่สิงคโปร์ โดยยึดได้เพียงกว่า 3,000 ล้านบาท" พงศ์เทพ ประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์คฯ เปิดเผย
และอธิบายว่า จากแผนประทุษกรรมคดีดังกล่าว แสดงให้เห็นลำดับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ว่า ในแต่ละช่วงเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตั้งแต่นำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ และให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ วิธีการสวอปหุ้น การทำธุรกรรม การเปลี่ยนตัวผู้สอบบัญชี การโอนเงินไปต่างประเทศ การแจ้งผู้ค้าฯ การแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เห็นว่า แต่ละจุดมีช่องว่างอย่างไร โดยเฉพาะช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหาย มีการโอนถ่าย โยกย้ายทรัพย์ การหลบหนี จนถึงขั้นตอนการยึดอายัดทรัพย์
"ข้อสรุปที่ได้ คณะทำงานฯ ก็จะมีมาตรเสนอ ทั้งมาตราป้องกัน, ปราบปรามช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ ก.ล.ต.จะมีบทบาทมากที่สุด ด้วยเหตุบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องให้ข้อมูลและส่งงบดุล อีกทั้ง ยังมีอำนาจกำกับดูแล เพื่อป้องกันไม่การทุจริต โดยเฉพาะผู้สอบบัญชี ในฐานะผู้กุมข้อมูลทั้งหมด ซึ่งจะทราบข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนมากที่สุดด้วย"
หากตรงสอบลึกลงไปจริง ๆ ก็จะทราบว่า บริษัทไหนทำบัญชีถูกต้องหรือไม่ เพราะต้องถามคู่ค้าว่า เป็นหนี้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันคู่ค้าก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้สอบบัญชีว่า มีหนี้ และธุรกรรมแบบนี้จริงหรือไม่
พงศ์เทพ กล่าว เมื่อถูกถาม มีการฮั้วระหว่างบริษัทคู่ค้าและผู้ตรวจสอบบัญชีได้หรือไม่ว่า ตามปกติ ไม่มีเหตุผลที่คู่ค้าจะให้ข้อมูลเท็จกับผู้สอบบัญชี กฎหมายไทย ก.ล.ต.จะขึ้นทะเบียนผู้สอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนสำนักตรวจสอบบัญชี ต่างจากในต่างประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์จะคุมผู้ตรวจสอบบัญชีได้ จึงต้องเสนอ ก.ล.ต. ให้แก้ไขปรับปรุง เพราะหากผู้สอบบัญชี รู้เห็นการทุจริต หรือทำไม่ถูกต้อง เขาจะรู้คนเดียว
และหากมีสำนักตรวจสอบบัญชี ก็จะสามารถตรวจได้ทั้งระบบ โดยเฉพาะสำนักตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียง จะต้องทำประกันความรับผิดไว้ ในกรณีที่ปัญหาบริษัทประกันก็ต้องจ่าย ซึ่งตามปกติสำนักตรวจสอบบัญชีต้องมีทีมทำงานอยู่แล้ว
ประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมฯ ชี้ว่า การปกปิด หรือให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณชน ผู้ตรวจสอบบัญชีจะมีบทบาทสำคัญมาก หรือการใช้ข้อมูลวงในปั่นหุ้น แม้ ก.ล.ต.จะมีโปรแกรมตรวจสอบความผิดปกติ ซึ่งความผิดแต่ละประ เภท ก็มีเทคนิค บางประเภทใช้ AI และเครื่องมือตรวจสอบได้ แต่การให้ข้อมูลเท็จ หรือดูการสั่งซื้อ ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และนำมาวิเคราะห์ ซึ่ง AI ตรวจสอบไม่ได้
เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. "สอบสวน" ยิ่งตรงคดีส่งให้อัยการ
สำหรับในส่วนของ ก.ล.ต. แม้ปัจจุบันจะมีวางโครงสร้างป้องกันหลายส่วน แต่ในฐานะประธานคณะทำงานฯ คดีดังกล่าว ระบุว่า ต้องมีการปรับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอกฎหมาย ให้อำนาจบุคลากรของ ก.ล.ต. สามารถสอบสวนคดีและความผิดเองได้ โดยทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวน และส่งคดีให้อัยการ พิจารณาได้โดยตรง เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ
ส่วน ดีเอสไอ ก็ต้องปรับระบบเพื่อไม่ให้พนักงานสอบสวนทำงานซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ ก.ล.ต. ทำคือ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปร่วมทำงานกับ ก.ล.ต. เพื่อให้คดีเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อทั้งตำรวจและดีเอสไอ นำข้อมูลมาใช้ได้เลย
พงศ์เทพ ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้เสียหายว่า มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ซื้อหุ้นกู้จากบริษัทโดยตรง และผู้ที่ซื้อหุ้นใหม่ ซึ่งตามกฎหมายผู้เสียหายจากคดีความผิดมูลฐานในคดีฟอกเงิน สามารถรับส่วนแบ่งจากทรัพย์ที่ ปปง.ยึดอายัดได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ค่อยมีปัญหา
ส่วนผู้ที่ซื้อหุ้นสามัญในตลาด หรือ ซื้อหุ้นเอง จะมีปัญหาด้านข้อกฎหมายว่า เป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็จะไม่สามารถมาขอส่วนแบ่งตรงนี้ได้ เป็นประเด็นที่ฝ่ายผู้ถือหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ ยังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ทางออกของกลุ่มผู้ที่ซื้อหุ้นใหม่ กฎหมายปัจจุบัน แก้ปัญหาให้ไม่ได้ แต่กระทรวงยุติธรรม อาจให้กองทุนยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือ จัดหาทนายเพื่อช่วยฟ้องร้อง หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ ก.ล.ต. อาจนำเงินการค่าปรับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งเหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะส่งกลับกระทรวงการคลัง โดยขอให้นำเงินส่วนนี้มาตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้เสียหายในบางกรณี ก็มีความเป็นไปได้
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต.ก็มีเงินจากการปรับส่วนนี้ปีละหลายร้อยล้านบาท หากนำมาใช้จัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย เพราะหากรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุด คงต้องใช้เวลานาน และไม่ทันกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดยคณะทำงานฯ คาดว่า ต้นเดือน พ.ย.นี้ การสรุปแผนประทุษกรรมคดีดังกล่าวจะแล้วเสร็จแน่นอน หลังการประชุมนัดสุดท้ายกลางเดือนต.ค.เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมด อาทิ การแก้ไขกฎหมาย การจัดระบบ การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เสนอต่อ รมว.ยุติธรรม จัดเวทีถอดบทเรียนและรับฟังความคิดเห็น และนำมาปรับปรุง เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากและมูลค่าความเสียสูง