ห่วงฉี่หนู-ไข้ดินระบาดช่วงน้ำท่วม-ต้นหนาวป่วยสะสม 6 พันคน

สังคม
9 ต.ค. 67
10:10
161
Logo Thai PBS
ห่วงฉี่หนู-ไข้ดินระบาดช่วงน้ำท่วม-ต้นหนาวป่วยสะสม 6 พันคน
กรมควบคุมโรค เตือนช่วงน้ำท่วม ปลายฝนต้นหนาวพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู-ไข้ดิน แนวโน้มสูงต่อเนื่อง พบผู้ป่วยรวมกันเกือบ 6,000 คน เสียชีวิต 119 คน พร้อมจับตาโรคไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก ยังพบผู้ป่วยเพิ่ม

วันนี้ (9 ต.ค.2567) นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวโรคและภัยสุขภาพที่ยังต้องติดตามใกล้ชิดในช่วงอุทกภัยนี้ ได้แก่ ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรคที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 2,926 คน

กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี (ร้อยละ 20) และ 45-54 ปี (ร้อยละ 19.23) เสียชีวิต 29 คน อายุเฉลี่ย 49 ปี ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 66 ของผู้เสียชีวิต มักเกิดจากการไปพบแพทย์ช้าหรือซื้อยามารับประทานเองก่อน

ส่วนอีกโรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) พบได้ในแหล่งดินและน้ำตามธรรมชาติทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-ก.ย.นี้ พบผู้ป่วย 2,881 คน (อัตราป่วย 4.44 ต่อแสนประชากร) ผู้เสียชีวิต 90 คน (อัตราตาย 0.14 ต่อแสนประชากร) ร้อยละ 76.7 มีประวัติเสี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เช่น ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ลุยน้ำ โดยเชื้อสามารถเข้าได้ทางผิวหนัง โดยการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การกิน หรือดื่มน้ำไม่สะอาด และการหายใจเอาละอองฝุ่นดินเข้าไป

ทั้ง 2 โรคดังกล่าว มีวิธีป้องกันที่ควรปฏิบัติ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานานหรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า และเมื่อขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดทันที น้ำดื่มควรมาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ทำความสะอาดที่พัก ทิ้งเศษอาหารในถุงและมัดถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรค 5.หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง

อ่านข่าว เร่งฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ หวั่นกระทบท่องเที่ยวปลายปี

เตือนพื้นที่น้ำท่วมเสี่ยงโรคระบาด เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้ดิน

เตือนพื้นที่น้ำท่วมเสี่ยงโรคระบาด เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้ดิน

เตือนพื้นที่น้ำท่วมเสี่ยงโรคระบาด เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้ดิน

ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออกยังเสี่ยง

ส่วนไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มผู้ป่วยลดลง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 ก.ย.นี้ พบผู้ป่วย 532,990 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 39 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และสูงอายุ 65 ปีขึ้น

นอกจากนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 ต.ค.นี้ มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี 5,012 คน (1.78% ของผู้ป่วยปอดอักเสบทั้งหมด

โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับไข้เลือดออก ยังคงพบผู้ป่วยต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-2 ต.ค.นี้ พบผู้ป่วย 84,434 คน พบมากสุดในกลุ่มเด็กนักเรียน มีผู้เสียชีวิต 84 คน เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ยังคงขอเน้นย้ำมาตรการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 

สำหรับในช่วงปลายฝน ถึงแม้สถานการณ์ผู้ป่วยลดลง แต่เมื่อจะเข้าสู่ฤดูหนาวที่แนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมักเพิ่มขึ้น ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ยังคงตระหนักในการป้องกันการแพร่ระบาด ของทั้ง 3 โรคดังกล่าว โดยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด 

สำหรับน้ำท่วม ดินถล่ม ข้อมูลระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-2 ต.ค.นี้ พบผู้เสียชีวิต 55 คน แยกเป็นจมน้ำ 28 คน ดินถล่ม 24 คน ไฟช็อต 2 คน ผู้เสียชีวิตอายุ 45 ปีขึ้นไป 

สถานการณ์โรคระบาดในต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน และยังยากในการติดต่อจากคนสู่คนได้ ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย.นี้ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่ สหรัฐอเมริกา (CDC) พบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แล้ว 14 คนจากการสัมผัสโคนม และสัตว์ปีก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร

ดินโคลนในพื้นที่แม่สาย จ.เชียงราย

ดินโคลนในพื้นที่แม่สาย จ.เชียงราย

ดินโคลนในพื้นที่แม่สาย จ.เชียงราย

เฝ้าระวังไข้หวัดนก H5N1-ไวรัสมาร์บวร์ก

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก ได้รายงานพบผู้ป่วยสายพันธุ์ H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา สะสมทั้งหมด 7 คน ล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 15 ปี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในไทย 

ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ข้อมูลวันที่ 3 ต.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐรวันดา รายงานพบผู้ป่วย 38 คน เสียชีวิต 11 คน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 28.9 ผู้สัมผัส 300 คน อยู่ระหว่างติดตาม

อ่านข่าว ผวา! "เยอรมนี" พบชายต้องสงสัยเสี่ยง "ไวรัสมาร์บวร์ก"

โรคมาร์บวร์กเป็นโรคที่ติดต่อจากการสัมผัสกับสัตว์ หรือคนที่ติดเชื้อ ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว และมีผื่นนูน ผู้ป่วยอาการรุนแรงอาจพบภาวะเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตในช่วง 8-9 วันหลังเริ่มมีอาการ

ขณะนี้ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคอง ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง หากผู้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และมีอาการสงสัย แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

อ่านข่าว

กู้ภัยแจงดรามา "ปลาบึก" โผล่สถานีรถไฟสารภี ยังไม่รู้ชะตากรรม

รู้จัก "ไวรัสมาร์บวร์ก" พบอัตราตายสูง ติดต่อทางเลือด-อุจจาระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง