วันนี้ ( 7 ต.ค.2567 ) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ย.2567 เท่ากับ 108.68 เทียบกับ ส.ค.2567 ลดลง 0.10% เทียบกับเดือน ก.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.61% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และผักสดบางชนิดได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ แต่ราคาแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซินปรับลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.20%
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.ย.2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.2567 และเพิ่มขึ้น 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2566 เฉลี่ย 9 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.48%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า คาดการณ์เงินเฟ้อเดือน ต.ค.2567 จะอยู่ที่ 1.25% ส่วนทั้งไตรมาส 4 จะอยู่ที่ประมาณ 1.49% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 30 บาทต่อลิตร ผลกระทบจากน้ำท่วมในบางพื้นที่ ทำให้ราคาผักสดปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น
โดยเฉพาะค่าตั๋วเครื่องบิน ที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง เช่น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อน โดยขณะนี้เฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปีก่อนเฉลี่ย 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ต้นทุนสินค้านำเข้าถูกลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูง และผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว

ส่วนการแจกเงิน 10,000 บาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนค.ได้มีการสำรวจร้านค้า 133 ร้านค้าทั่วประเทศ เช่น ร้านหน่ายข้าวสาร เนื้อสัตว์ ผลไม้ และร้านขายของชำ พบว่า ยอดจำหน่ายสินค้าภายในร้านเพิ่มขึ้น ร้านค้าที่มียอดขายดีขึ้น แต่ราคาสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ร้านข้าวสาร ยอดดีขึ้น 65% ร้านขายเนื้อสุกร ยอดเพิ่ม 56 % ร้านไข่ไก่ ยอดขายเพิ่ม 51.5% ร้านขายของชำ ยอดขายดีขึ้น 61.7% ร้านผลไม้ ยอดขายดีขึ้น 51% และร้านไก่สด ยอดขายดีขึ้น 49%
ประชาชนมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น แสดงให้เห็นว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางจริง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมระหว่าง 0.0–1.0% ค่ากลาง 0.5% เป็นระหว่าง 0.2–0.8% ค่ากลาง 0.5% ภายใต้สมมติฐาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.3-2.8% น้ำมันดิบดูไบ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ด้าน รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปลายปีนี้ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากราคาพลังงานและอาหาร จากผลกระทบการขยายวงของสงครามตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลให้เงินเฟ้อรอบนี้จะเป็นเงินเฟ้อสูงจากสงครามและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นปัญหาทางด้านอุปทาน เป็น Supply Shocks ราคาสินค้าแพงขึ้นไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ร้อนแรงเลย และ อุปสงค์ของโลกก็ยังฟื้นตัวอย่างอ่อนแอโดยเฉพาะในจีน

การแข็งค่าของเงินบาทช่วยบรรเทาแรงกดดันราคาพลังงานและเงินเฟ้อได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น การลดสัดส่วนการใช้จ่ายทางด้านพลังงานต่อจีดีพี การอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้
ทั้งนี้การเข้าร่วมสงครามโดยตรงของอิหร่านกับอิสราเอลครั้งนี้ จะตามมาด้วยการมีการตอบโต้กันไปมาทางการทหารและการคว่ำบาตรกันทางเศรษฐกิจขยายวงมากขึ้น หากสงครามลุกลามสู่การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตน้ำมันและส่งออกน้ำมันในอิหร่านและตะวันออกกลางโดยอิสราเอลและพันธมิตร หรือ อิหร่านในฐานะผู้คุมเส้นทางการขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย อาจตัดสินใจปิดช่องแคบฮอร์มุซตอบโต้ชาติตะวันตก (เป็นไปได้น้อย)

ไม่ว่าเกิดกรณีหนึ่งกรณีใดเกิดขึ้น คาดการณ์ได้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจพุ่งทะลุ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจทำให้ราคาน้ำมันในไทยขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงกว่าหนึ่งเท่าตัวได้ในเวลาอันสั้น
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากเกิดการสู้รบกันในบริเวณใกล้ช่องแคบฮอร์มูซ จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกรุนแรงเช่นเดียวกัน เพราะ ช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางออกมหาสมุทรทางเดียวของบริเวณส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งออกปิโตรเลียมในอ่าวเปอร์เซีย ข้อมูลขององค์การว่าด้วยข้อมูลด้านพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เฉลี่ยในแต่ละวันจะมีเรือบรรทุกน้ำมัน 15 ลำที่บรรทุกน้ำมันราว 16.5 - 17 ล้านบาร์เรลที่เดินทางออกจากช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก
การขนส่งน้ำมันจากช่องแคบเป็นจำนวน 40% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมด และ 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก หากสงครามขยายวงและมีการปิดช่องแคบจะทำให้อุปทานน้ำมันหายไปจากตลาดน้ำมันโลกประมาณ 1 ใน 5 ในทันที จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ไทยนำเข้าพลังงานและน้ำมันจากตะวันออกกลางมากกว่า 50-52% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มทั้งหมดของไทย ดังนั้นไทยอาจต้องสำรองน้ำมันหรือพลังงานเพิ่มกว่าระดับปรกติเพราะอาจมีปัญหาการขาดแคลนพลังงานหรือการชะงักของการขนส่งน้ำมันได้
อ่านข่าว:
นักลงทุนแห่ซื้อ “ทองคำ” หลังกังวลสงครามตะวันออกกลาง