สทนช.เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-นนทบุรี รับมือน้ำเพิ่ม-ไม่กระทบ กทม.

สังคม
7 ต.ค. 67
13:46
370
Logo Thai PBS
สทนช.เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-นนทบุรี รับมือน้ำเพิ่ม-ไม่กระทบ กทม.
สทนช.สรุปสถานการณ์น้ำ เชียงใหม่ เชียงราย มีแนวโน้มลดต่ำกว่าตลิ่งแล้ว จับตา 13-16 ต.ค.อาจเจอฝนอีกระลอก ระบุ เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 2,200 ลบ.ม./วินาที เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเตรียมรับมือสถานการณ์ ขณะที่น้ำขึ้นสูงสุดอีกครั้ง 18 ต.ค. ยืนยันน้ำไม่เข้ากรุงเทพ

วันนี้ (7 ต.ค.2567) นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ จ.เชียงราย ว่าน้ำจากลำน้ำต่างๆ ทั้งลำน้ำแม่สวย ลำน้ำแม่กก หรือลำน้ำสาย ระดับน้ำกลับเข้าสู่แนวตลิ่ง และอยู่ในช่วงระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่

ขณะที่ลำน้ำปิง ปริมาณตามจุดต่างๆ มีแนวโน้มลดต่ำกว่าตลิ่งในวันนี้ ส่วนพื้นที่ตอนล่างลงไปจากการประเมินระดับน้ำจะไม่เพิ่มเติมไปจากนี้แล้ว จะอยู่ในแนวโน้มขาลง และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำก็ยังคงมีน้ำที่ค้างอยู่และจะต้องระบายลงมา ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะไหลเข้าสู่เขื่อนภูมิพล

ซึ่งจากการประเมินจะมีปริมาณน้ำจากน้ำหลากประมาณกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล 74% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งน้ำส่วนนี้จะเก็บไว้หมด และจะระบายลงทางท้ายเขื่อน แค่เพื่อการใช้การประปาเท่านั้นในปริมาณที่ไม่มากนัก

ส่วนลำน้ำวัง ในช่วงที่ผ่านมาก็เกิดน้ำหลาก แต่ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่งในช่วง 1.9-3.5 เมตร และมีการปรับลดการระบายน้ำลง จากเขื่อนกิ่วลมน้อยกว่า 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้แล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังลดระดับลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งพยายามที่จะหน่วงน้ำของเขื่อนไม่ให้มีการระบายเพิ่มเติม เพื่อจะอยู่ในหมวดของการเก็บ และลดปริมาณน้ำหลากในส่วนของลุ่มน้ำ

ขณะที่ลุ่มน้ำยม มวลน้ำเคลื่อนตัวผ่านตัวเมืองสุโขทัย และกำลังลงไปสู่ทุ่งบางระกำตอนล่าง และจะลงไปที่ จ.พิจิตร

นอกจากนี้ จ.สุโขทัยเองมีน้ำที่หลากออกไปจากลำน้ำจากคันดินที่พัง และน้ำจะมุ่งหน้าไปสู่ทุ่งทะเลหลวง ซึ่งในส่วนของทุ่งทะเลหลวงก็มีระดับน้ำ 100% แล้ว

สถานการณ์น้ำลำน้ำน่าน น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งน้ำจะเข้าสู่เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มเป็น 95% และจะกักเก็บน้ำไว้เพื่อลดการลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา

ทั้งนี้ต้องจับตาในช่วงวันนี้ 13-16 ต.ค.2567 มวลอากาศเย็นจะอ่อนกำลังลง ร่องความกดอากาศจะขยับเข้ามาสู่ภาคกลาง และอาจจะมีฝนตกอีกระลอกได้

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

นายฐนโรจน์ ยังระบุว่า เมื่อน้ำลงมาก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยา ก็จะมีส่วนของแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีการติดตามประเมินว่า ปริมาณน้ำจากฝนตกลงในช่วงที่ผ่านมากกว่า 200 มิลลิเมตร กำลังหลากลงมาและใช้เขื่อนวังร่มเกล้าหน่วงไว้ ซึ่งปริมาณมีระดับที่เต็มเขื่อนเช่นกัน และตัวพีคไปถึงเขื่อนเจ้าพระยาแล้วเมื่อวาน และวันนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้แล้ว ซึ่งส่งผลให้มวลน้ำที่จะเติมเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณที่ลดลง

และจากการลงเลขา สทนช.ได้ลงพื้นที่ตรวจระดับน้ำ ตั้งแต่สุโขทัย พิษณุโลก สิงห์บุรี และอ่างทอง ว่าคันที่ประเมินสถานการณ์น้ำสามารถรับได้ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำ

นอกจากนี้ นายฐนโรจน์ กล่าวว่าจากการร่วมกันประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดให้พื้นที่บริเวณริมน้ำปิง วัง ยม น่าน ถึงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ถึง นนทบุรี ให้มีความพร้อมในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งจากการประเมินปริมาณน้ำจะไหลท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ทั้งนี้น้ำจะขึ้นสูงสุดอีกครั้งในช่วงวันที่ 18 ต.ค.นี้

ส่วนกรุงเทพคันยังสามารถรองรับได้ นอกจากนี้ยังมีการประเมินเพิ่มเติมในระดับน้ำ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

อ่านข่าว :

มวลน้ำเหนือถึง "เจ้าพระยา" คงอัตรา 2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที

3 สายทางใน อ.เมืองเชียงใหม่-แม่แตง น้ำท่วมรถผ่านไม่ได้

เตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อน ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังน้ำท่วม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง