“มังคุดไทย” ยืนหนึ่งตลาดโลก แซงหน้า “คู่แข่ง” อินโดนีเซีย มาเลเซีย

เศรษฐกิจ
4 ต.ค. 67
17:32
60
Logo Thai PBS
“มังคุดไทย” ยืนหนึ่งตลาดโลก แซงหน้า “คู่แข่ง”  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค.เผย มังคุดไทยยืนหนึ่งตลาดโลก แซงหน้า “คู่แข่ง” อินโดนีเซีย มาเลเซีย แนะเกษตรกรไทยเร่งรักษาคุณภาพ ชูอัตลักษณ์มังคุดไทย หลังจีนเปิดตลาดให้นำเข้ามังคุดจากเวียดนามและเมียนมา

วันนี้ ( 4 ต.ค.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกมังคุดไทย ว่า เป็นผลไม้ที่ไทยครองตำแหน่งผู้นำการส่งออกอันดับหนึ่งของโลก โดยไทยส่งออก 91% รวมผลสดและแปรรูป และบริโภคในประเทศเพียง 9% ของผลผลิตมังคุดทั้งประเทศ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

โดยไทยส่งออกมังคุดไปตลาดจีนมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกมังคุดทั้งหมดของไทย ซึ่งมังคุดไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากมังคุดไทยมีชื่อเสียงด้านรสชาติอร่อย ผลใหญ่ เปลือกบาง อีกทั้งกระบวนการเก็บเกี่ยวและการขนส่งที่ใส่ใจช่วยรักษาคุณภาพของผลไม้ได้เป็นอย่างดี

ในปี 2566 ไทยส่งออกมังคุด (HS Code 08045030) ปริมาณรวม 248,612.25 ตัน ขยายตัว 20.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 502.24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ17,192.32 ล้านบาท ขยายตัว 25.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ตลาดส่งออกมังคุดที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ของปี 2566 คือ จีน 93.73% เวียดนาม 3.33% ฮ่องกง 0.69% เกาหลีใต้ 0.59%และ สหรัฐอเมริกา 0.29% โดยในในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม – สิงหาคม) ของปี 2567 ไทยส่งออกมังคุด 247,274.83 ตัน ขยายตัว 25.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นมูลค่าการส่งออก 427.28 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ15,425 ล้านบาท ขยายตัว 2.0 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ตลาดส่งออกมังคุดที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 จีนยังคงเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย ซึ่งมีสัดส่วน 30.83% รองลงมาเป็น เวียดนาม 5.09% เกาหลีใต้ 1.68% สหรัฐอเมริกา 0.51% และ กัมพูชา 0.33%

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า การนำเข้าของจีน ในปี 2566 พบว่า มูลค่าการนำเข้ามังคุดทั้งหมด 730.41 ล้านเหรียญสหรัฐ โต ขึ้น16.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง แหล่งนำเข้าหลักของจีน 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ทั้งนี้ แม้ว่าในปี 2566 จีนนำเข้ามังคุดจากไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนการนำเข้าจากไทยลดลงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าและสัดส่วนการนำเข้าจากอินโดนีเซียกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ไทยจำเป็นเร่งดำเนินการ คือ การรักษาคุณภาพและยกระดับการผลิต รวมทั้งกระจายตลาดเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลักเพียงตลาดเดียว

นอกจากไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แล้ว ปัจจุบัน จีนอนุญาตให้นำเข้ามังคุดได้จากอีก 2 ประเทศ คือ เวียดนาม และเมียนมา

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า มังคุดเป็นผลไม้ส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ที่ผ่านมา ไทยพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันไทยมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ไทยจึงต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เริ่มจากการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เหนือชั้นกว่าเดิม ต้องผลิตให้ได้คุณภาพเพื่อสามารถส่งออกได้ เนื่องจากผลผลิตมังคุดทั้งประเทศ จะใช้บริโภคภายในประเทศเพียง 9% เท่านั้น และต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้นด้วย

การดึงดูดผู้บริโภคด้วยการสร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นเฉพาะตัวของมังคุดไทย ผ่านการจดทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จะช่วยยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ไทยเป็นอย่างมากในตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันมีมังคุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ มังคุดในวงระนอง มังคุดเขาคีรีวง และมังคุดทิพย์พังงา นอกจากนี้การโปรโมทสินค้าอย่างมังคุดแท่ง อย่างมังคุดเสียบไม้ และการบุกตลาดแปรรูปใหม่ ๆ เช่น มังคุดกวนไร้น้ำตาล ขนมไส้มังคุด มังคุดอบกรอบไม่ทอด ไอศกรีม ขนม

และน้ำมังคุด รวมทั้งเปลือกและเมล็ด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าเทรนด์รักสุขภาพเป็นอีกทางที่จะช่วยพยุงไม่ให้ราคาตกต่ำ และเปิดโอกาสให้มีการสร้างผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ในการขยายตลาด อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลักมากเกินไป

นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย ตั้งแต่ร้านขายของฝาก คาเฟ่ ร้านอาหาร ไปจนถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะร้านค้าท้องถิ่นที่พร้อมจะร่วมทำการตลาดจะสามารถช่วยขยายฐานลูกค้า จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับการโปรโมทสินค้าผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มังคุดไทยสามารถกระจายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับ การส่งออกทุเรียน ปี 2567 ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.– ส.ค.) โดยไทยส่งออกทุเรียนสด ปริมาณ 754,803 ตัน เป็นมูลค่า 3,320.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (120,100 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกหดตัว 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อ่านข่าว:

อัปเดตสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนตุลาคม 2567 เงินเข้าวันไหน

ธอส.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกันตนซื้อบ้าน

กกร.ห่วงบาทแข็งกระทบส่งออก จี้แบง์ชาติแก้ปัญหา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง