วันนี้ (3 ต.ค.2567) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงจากกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา จนเป็นเหตุให้ครู นักเรียน เสียชีวิต 23 คน โดยกรมการขนส่งทางบกและพนักงานสอบสวน พบว่า ผู้ประกอบการติดตั้งถังแก๊สเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ว่ามี 6 คันและติดตั้งเพิ่มเป็น 11 คัน
กรมการขนส่งทางบกได้เรียกผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้นำรถที่อยู่ในความครอบครองและเครือข่ายจำนวน 5 คัน เข้ามาตรวจสภาพรถทั้งหมด ณ สำนักงานขนส่งลพบุรี แต่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวกลับมีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงและไม่ยอมนำรถเข้ารับการตรวจสภาพรถตามคำสั่งโดยเร็ว
กรมการขนส่งทางบกจึงได้ตรวจสอบพิกัด GPS พบว่ารถโดยสารทั้งหมดของผู้ประกอบการรายดังกล่าวและเครือข่าย อยู่ที่อู่ซ่อมรถเอกชน ใน จ.นครราชสีมา จึงได้สั่งการให้สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ารถโดยสารทั้ง 5 คันดังกล่าว อยู่ระหว่างการถอดถังแก๊สที่ติดตั้งเกินจากที่แจ้งจดทะเบียนไว้ออกจากรถ
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่จะปกปิดความผิดจากดัดแปลงรถโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดัดแปลงระบบก๊าซ ซึ่งส่งผลให้รถโดยสารมีน้ำหนักเกินสมรรถนะ อีกทั้งมีความเสี่ยงอาจเกิดการรั่วไหลของก๊าซจากการติดตั้งระบบก๊าซที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากวิศวกรหรือหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อรวบรวมส่งพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดีต่อไป
"พบว่า รถมีการปรับเปลี่ยนรถ โดยนำถังแก๊สออก โดยแสดงว่ามีถังแก๊สเกิน เมื่อพบแล้วจึงพยายามอายัดรถ และแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่ออายัดรถ ส่งให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวน สรุปแล้วคันเกิดเหตุ เจ้าของมี 2 คัน ที่เหลือ 5 คันของเป็นญาติพี่น้องเครือข่ายเดียวกันจึงต้องเอารถเข้ามาตรวจ"
อ่านข่าว : ขนส่งฯ เด้งข้าราชการ 2 คน ตั้ง กก.สอบปมไฟไหม้รถบัส
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวคมนาคมมีมาตรการระยะเร่งด่วน และระยะยาวในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ เป็นไปตามมาตรฐาน ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหามาตรการเชิงป้องกันรถสาธารณะ โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกรรม
มีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ โดยคำสั่งให้จะต้องหาข้อเท็จจริงระยะภายใน 15 วัน เพื่อหาสาเหตุว่า เหตุเกิดจากอะไร เพื่อหาข้อเท็จจริงมาปรับปรุงระบบ รวมถึงการใช้ก๊าซ CNG ในอนาคต และการเรียกรถกลับมาตรวจว่าถูกต้องเป็นตามกฎหมายหรือไม่ โดยจะตรวจป้องกัน และตัวรถปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย ในระยะเร่งด่วน
ระยะยาวรถใช้กับเด็กมาตรฐานจะสูงกว่ารถทั่วไป หลังจากนี้จะเชิญประชุมทันที และไม่ต้องการให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก การดำเนินการที่ไม่ถูกร้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย การติดตามต้องอัพเกรดควบคู่ไปด้วย
ด้านนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานคณะกรรมการบริการเชิงป้องกันการให้บริการด้วยรถโดยสารสาธารณะ กล่าวว่า จะรวบรวมข้อเท็จจริงก่อน และสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากอะไร เพื่อกำหนดมาตรการได้ในช่วง 15 วัน
หลังจากนี้ระยะยาวจะดูมาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะรถที่ใช้แก๊ส โดยเน้นไปที่รถโดยสารบรรทุกเด็กจะต้องดูอุปกรณ์ประจำรถที่มากกว่ารถสาธารณะทั่วไป และหากถ้าระยะยาวการใช้แก๊สมีผลเสียต่อการใช้บริการสาธารณะก็จะเสนอมาตรการป้องกัน ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยจะครอบคลุมไปถึงรถโรงเรียนด้วย
อ่านข่าว :
พฐ.ชี้ "แก๊สรั่ว" สาเหตุไฟไหม้รถบัส รอคลี่ปมชนวนจุดประกายไฟ
น้ำใจถึงอุทัยฯ ส่ง "ดอกไม้" ร่วมไว้อาลัย 23 ชีวิตรถบัสไฟไหม้