วันนี้ (3 ต.ค.2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า กรณีการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เบื้องต้นขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ยื่นขอทบทวนให้กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลือเหมาจ่ายอัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท
สำหรับกรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมไปแล้ว โดยผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทไปแล้ว จะได้รับเงินเพิ่มอีก 4,000 บาท รวมเป็น 9,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ 7,000 บาท จะได้เงินเพิ่มอีก
อ่านข่าว ฝนตกหนัก "เชียงราย" น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ อ.แม่สาย
ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.เชียงราย จากเหตุฝนตกหนักเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนหลายจุดในเขต อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงป่าเป้า และอีกหลายพื้นที่เกิดเหตุอุทกภัยครั้งก่อน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดมท. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ เชียงราย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บัญชาการเหตุการณ์จุดที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นน้ำแห้งหลายๆ จุด หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีก
อ่านข่าว "ชลประทาน" เตือนเฝ้าระวังแม่น้ำปิง คาดที่สะพานนวรัฐ สูง 4.20 เมตร เย็นนี้
ยังไม่ถอนความช่วยเหลือเชียงราย
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดียว่า มีบางหน่วยถอนกำลังสนับสนุนการช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา ในพื้นที่ จ.เชียงราย ยืนยันว่า ยังไม่มีรายงานการถอนกำลังที่เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่เกิดเหตุอุทกภัย ออกจากพื้นที่แต่อย่างใดและจะมีกำลังพลของอาสาสมัครรักษาดินแดนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาเพิ่มอีก
โดยจะยังไม่มีการสับเปลี่ยนกำลังพลแต่อย่างใด ซึ่งแต่ละหน่วยที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในแต่ละจุดมีเป้าหมายว่าต้องทำการเยียวยาฟื้นฟู จ.เชียงรายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน สำหรับบางพื้นที่ที่ทำการฟื้นฟูได้เกือบสมบูรณ์แล้ว อาจจะมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลไปช่วยฟื้นฟูในจุดอื่น
นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กำชับให้เกาะติดสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้า พระยา เพื่อรองรับน้ำเหนือ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยา ควบคุมการระบายในอัตรา 1,899 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ
โดยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณจ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อเตรียมขนย้ายของต่าง ๆ ไว้ในที่ปลอดภัย
รวมถึงฝากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับน้ำ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.โดยให้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน ให้สอดคล้องกันในการดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้งขอให้เร่งกำจัดขยะและผักตบชวา
พร้อมขอให้หน่วยงานต่าง ๆ สแตนบายรายงานผลตลอด 24 ชั่วโมงช่วงที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (ACD) วันที่ 2-4 ต.ค.นี้ ที่เมืองโดฮารัฐกาตาร์
คาดกำจัดขยะตกค้าง "แม่สาย"
ส่วนปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่จ.เชียงราย ซึ่งเริ่มส่งกลิ่นรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ พบว่าในพื้นที่ อ.เชียงราย สามารถเพิ่มอัตราการขนขยะจากเดิมอยู่ที่ 1,000 ตันต่อวัน เพิ่มเป็น 1,300 ตันต่อวัน
ส่วนในพื้นที่ อ.แม่สาย ปัจจุบันจัดการขนขยะยังทำได้จำกัดเนื่องจากถูกกลบทับด้วยโคลน จึงมีอัตราการขนขยะอยู่ที่ 100 ตันต่อวัน คาดว่าหากเพิ่มอัตราการขนขยะได้เป็น 150 ตันต่อวัน จะทำให้ทั้ง 2 พื้นที่สามารถขนขยะได้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้