ผวา! "เยอรมนี" พบชายต้องสงสัยเสี่ยง "ไวรัสมาร์บวร์ก"

ต่างประเทศ
3 ต.ค. 67
11:21
120
Logo Thai PBS
ผวา! "เยอรมนี" พบชายต้องสงสัยเสี่ยง "ไวรัสมาร์บวร์ก"
ผวา! "เยอรมนี" ปิดชานชาลาที่ 4 สถานีรถไฟกลางฮัมบูร์ก เยอรมนี หลังพบชายต้องสงสัยเสี่ยงติดเชื้อ "ไวรัสมาร์บวร์ก" หลังสอบประวัติเดินทางมาจากการรักษาคนป่วยที่ "รวันดา" พื้นที่เสี่ยงโรคระบาด

วันนี้ (3 ต.ค.2567) สำนักข่าว BBC รายงานว่า เจ้าหน้าที่แจ้งปิดชานชาลาที่ 4 สถานีรถไฟกลางฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นการชั่วคราว หลังจากพบว่าในขบวนของรถไฟความเร็วสูง ICE ในเมืองฮัมบูร์ก ที่เดินทางมาจากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต พบผู้โดยสารชายที่เป็นนักศึกษาแพทย์ และแฟนสาว มีอาการป่วยเหมือนไข้หวัดใหญ่ 

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระบุว่า ชายคนดังกล่าว และแฟนสาว มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ บนรถไฟความเร็วสูง หลังกลับจากการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปรักษาชายคนหนึ่งซึ่งต่อมาพบว่าป่วยด้วยโรคติดเชื้อ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วยดังกล่าว จึงต้องนำตัวส่งคลินิกเฉพาะทาง เนื่องจากเกรงว่าผู้โดยสารรถไฟอาจเดินทางมาถึงพร้อมกับไวรัสอันตราย

เว็บไซต์ Morgenpost ของเมืองฮัมบูร์ก รายงานว่าพวกเขาเดินทางมาถึงแฟรงก์เฟิร์ต จากประเทศรวันดา เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ประเทศในแอฟริกาตะวันออกกำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสมาร์บวร์ก มีผู้เสียชีวิตจากการระบาดดังกล่าวแล้ว 8 คน 

รู้จักไวรัสมาร์บวร์ก คืออะไร

สำหรับ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus ) อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ซึ่งการติดเชื้อทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก มีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์รังโรค ถูกตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์ก ในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยคนแรก

การติดเชื้อในคนเริ่มแรกเป็นผลมาจากการสัมผัสในเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาวผลไม้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อถูกแพร่ไปยังคนแล้ว คนนั้นจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา

ไวรัสมาร์บวร์ก ถูกพบในปี พ.ศ.2510 (ค.ศ. 1967) จากการระบาดครั้งแรกในเมืองมาร์บวร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมทั้งเมืองเบลเกรดในประเทศเซอร์เบีย ขณะนั้นเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่ใช้ลิงเขียวแอฟริกาที่นำมาจากประเทศยูกันดา

หลังจากนั้นพบผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์ก เพิ่มประปราย ประเทศที่เคยพบการระบาดของโรค ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น แองโกลา เคนยา ยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

สำหรับในทวีปยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งรายในสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับจากการสำรวจถ้ำในประเทศยูกันดา

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อ 13 ก.พ.2566 รายงานพบการระบาดของโรคนี้ที่รัฐบาลสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ประเทศในภูมิภาคตอนกลางของทวีปแอฟริกา ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นโรคระบาดร้ายแรง โดยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ 25 คน เสียชีวิต 9 คน ผู้ป่วยมีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย ได้มีการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 200 คน

สำหรับประเทศไทยกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง แม้ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยมาก่อน

อาการโรคไวรัสมาร์บวร์ก 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์นำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายมีภาวะตับหรืออวัยวะอื่นๆ ล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อกได้

ผู้ป่วยหลายรายมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก โดยมีรายงานอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 24-90 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับให้สารน้ำหรือเลือดทดแทน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง