ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ประตูหลัง" ทางออกของรถรับส่งนักเรียนที่ "ไทย" ไม่เคยมี

สังคม
2 ต.ค. 67
09:00
4,426
Logo Thai PBS
"ประตูหลัง" ทางออกของรถรับส่งนักเรียนที่ "ไทย" ไม่เคยมี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
Yellow School Bus ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เป็นยานพาหนะที่ออกแบบมาสำหรับ "การรับส่งนักเรียน" โดยเฉพาะ มีลักษณะที่แตกต่างจากรถบัสทั่วไปโดยเฉพาะ "ประตูฉุกเฉินด้านหลังรถ" ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อรักษาชีวิตเด็กนักเรียน

รู้จัก Yellow School bus

ย้อนกลับไปในเดือน เม.ย.1939 ศ.แฟรงก์ ซีร์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทำวิจัยเรื่องปัญหาการรับส่งนักเรียน และเขาพบว่ารถรับส่งนักเรียนในหลาย ๆ รัฐทั่วสหรัฐอเมริกาอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ นักเรียนหลายคนไม่เชื่อถือความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน 

เมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขระบบนี้ ซีร์จึงจัดการประชุมขึ้น เขากำหนดมาตรฐาน สี ความสูง ความกว้าง ตลอดจนกฎความปลอดภัยที่ไม่เคยกำหนดมาก่อน สำนักงานบริหารความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งชาติเลือก "สีเหลือง" เป็นสีของรถบัสโรงเรียน เนื่องจากเป็นสีที่มองเห็นได้ชัดเจนและเน้นตัวอักษรสีดำหนาที่อยู่ด้านข้างของรถบัส 

สีของรถโรงเรียนในสหรัฐฯ จึงมักเป็นสีเหลืองสดหรือที่เรียกว่า "Yellow School Bus " สีนี้ถูกเลือกเพราะสามารถมองเห็นได้ง่ายในทุกสภาพอากาศต่าง ๆ ทำให้คนขับรถคันอื่นสังเกตเห็นได้ชัดเจน

อ่านข่าว :

"ในหลวง" ทรงรับผู้ป่วยเหตุไฟไหม้รถบัสไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ท่องและทำ! สอนเด็ก ๆ เอาตัวรอดจาก "ไฟไหม้ในรถบัส"

สพฐ.ตร.ยันพบเสียชีวิตในรถบัสไฟไหม้ 23 คน ระบุเพศไม่ได้ 5 คน

ไปที่ไหนใครก็รู้ "รถบัสรับส่งนักเรียน"

รถบัสโรงเรียนจะมีข้อความที่ชัดเจนว่าเป็น "School Bus" บนตัวรถ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นรถที่ใช้สำหรับขนส่งนักเรียน มีไฟกระพริบสีแดง-สีเหลือง ที่ด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงป้าย "Stop" ที่ยื่นออกมาจากด้านข้างของรถเมื่อจอดรับหรือส่งนักเรียน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว รถทุกคันที่อยู่บนถนนต้องหยุดทันทีเมื่อเห็นไฟแดงกระพริบหรือป้ายหยุดนี้

รถบัสโรงเรียนมีการออกแบบโครงสร้างที่แข็งแรง เพื่อปกป้องผู้โดยสารในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ตัวรถมีหลังคาที่เสริมความแข็งแกร่ง และด้านข้างที่ทนทานต่อการชน แม้ว่ารถบัสโรงเรียนบางแห่งไม่ได้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง แต่ในหลายรัฐได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น

ขณะโดยสารรถ จะมีกฎระเบียบภายในรถเพื่อควบคุมนักเรียนไม่ให้ก่อความวุ่นวายหรือทำพฤติกรรมที่เป็นอันตรายขณะอยู่บนรถ เช่น การห้ามเดินไปมาขณะรถกำลังวิ่ง คนขับรถบัสโรงเรียนต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัย การปฏิบัติตัวในกรณีฉุกเฉิน และการดูแลนักเรียนในรถบัส รวมถึงการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุหรือการอพยพผู้โดยสาร ซึ่งจะต้องประสานกับทางโรงเรียน เพื่อฝึกซ้อมเด็กนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้นักเรียนรู้วิธีการออกจากรถอย่างปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ไฟไหม้ หรือ อุบัติเหตุหนัก

นอกจากนี้ รถบัสโรงเรียน ยังต้องผ่านการตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบเบรก ยาง และระบบไฟสัญญาณ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งภายในและภายนอก เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของนักเรียนและคนขับ และบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหา ในบางคันมีการติดตั้ง GPS ช่วยให้ผู้ปกครองและโรงเรียนสามารถติดตามตำแหน่งของรถบัสและดูเวลาที่จะมาถึงได้

เปรียบเทียบ "รถรับส่งนักเรียน" ไทย-สหรัฐฯ

การรับส่งนักเรียนในประเทศไทยมีปัญหาหลายประการเมื่อเทียบกับระบบ Yellow School Bus ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยและการควบคุมกฎระเบียบ

1.ปัญหาด้านความปลอดภัย

ประเทศไทย : 1 ในปัญหาหลัก คือ ขาดมาตรฐานความปลอดภัยที่เพียงพอ รถรับส่งนักเรียนหลายคันไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือควบคุมอย่างเหมาะสม มีผู้ขับขี่มากกว่า 45,000 คน ที่ขับรถรับส่งนักเรียนโดยไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 

สหรัฐฯ (Yellow School Bus) : ระบบรถบัสโรงเรียนในสหรัฐฯ มีการควบคุมที่เข้มงวด พร้อมด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น ไฟกระพริบ โครงสร้างที่แข็งแรง และการออกแบบให้รถมีความปลอดภัยสูง รถทุกคันต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องได้รับการฝึกอบรมและมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง

2.การออกแบบและอุปกรณ์

ประเทศไทย : รถรับส่งนักเรียนในประเทศไทยมักเป็นรถตู้หรือรถบรรทุกคันใหญ่ที่ถูกดัดแปลง ซึ่งขาดคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่สำคัญ เช่น เข็มขัดนิรภัยหรือ "ทางออกฉุกเฉิน" บางครั้งยังมีการบรรทุกนักเรียนเกินความจุ และไม่มีระบบในการติดตามนักเรียนอย่างเป็นระบบ

สหรัฐฯ : รถบัสโรงเรียนได้รับการออกแบบมาเพื่อการขนส่งนักเรียนโดยเฉพาะ มีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่สำคัญ เช่น ที่นั่งสูงและมีพนักพิงหลังสูง และประตูทางออกฉุกเฉินด้านหลัง รวมถึงมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนผู้โดยสารเพื่อป้องกันการบรรทุกเกิน

3.การควบคุมและการจัดการ

ประเทศไทย : ระบบการขนส่งนักเรียนในประเทศไทยยังขาดการควบคุมที่ชัดเจนจากรัฐบาล แม้ว่าบางพื้นที่จะพยายามปรับปรุงความปลอดภัยด้วยการทำงานร่วมกับสำนักงานขนส่งท้องถิ่นและภาควิชาการ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎระเบียบยังไม่เข้มงวดเพียงพอ

สหรัฐฯ : ระบบรถบัสโรงเรียนมีการจัดการที่เป็นระบบ มีกฎหมายควบคุมในระดับรัฐและรัฐบาลกลาง ผู้ขับรถต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและรถบัสมีสัญญาณหยุดเพื่อควบคุมการจราจรขณะรับส่งนักเรียน

ถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้ จะเห็นว่ารถบัสรับส่งนักเรียนของสหรัฐฯ มีอุปกรณ์เสริมที่สำคัญ ถูกสร้างมาเพื่อความปลอดภัยในการรับส่งผู้โดยสารในรถ "ประตูฉุกเฉิน" ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของรถ 

คำถามคือ ประทั่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมี "รถรับส่งนักเรียน" ที่เป็นรถสีเหลืองจริง ๆ อยู่ไม่กี่คัน ซึ่งเป็นรถจากโครงการนักเรียนไทยของมูลนิธิกสิกรไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันยังให้บริการอยู่ไม่ หากยังให้บริการอยู่ เส้นทางการเดินรถก็มีอยู่ 3 เส้นทางคือ โรงเรียนแจ้งร้อนวิทยาคม, โรงเรียนขจรโรจน์วิทยา และ โรงเรียนวัดสน ในเขตกรุงเทพฯ 

ส่วนที่เห็นขับรถรับเด็กนักเรียนตามบ้านไปโรงเรียนทั่ว ๆ ไป คือ "รถรับจ้างรับส่งนักเรียน" ที่เป็นรถกระบะที่มีหลังคา มีเบาะนั่งเป็นรถสองแถว รถตู้ หรือ รถหกล้อขนาดใหญ่ ตามแต่ที่ชาวบ้านจะนำมารับจ้างเพื่อหารายได้ กับอีกแบบคือ รถโดยสารที่จะวิ่งตามเส้นทางที่จดทะเบียน ผู้โดยสารจะลงตอนไหนก็ได้ หรือในโอกาสพิเศษของโรงเรียน เช่น การจัดทัศนศึกษา พานักเรียนเดินทางไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียน การจ้างรถบัสของเอกชน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมองได้ว่า ทางโรงเรียนอาจเห็นเรื่องความสะดวก งบประมาณ เป็นสำคัญมากกว่าความปลอดภัยของผู้โดยสาร

อ่านข่าว :

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสาร "ไฟไหม้รถบัส" เรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้บ้าง

สิ่งที่ควรรู้ เมื่อเกิดแผลไฟไหม้ เช็กระดับรุนแรงแค่ไหน

ทางออกสำหรับ "รถบัสรับส่งนักเรียน"

"ประตูหลัง" ของ Yellow School Bus ในสหรัฐฯ ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสโรงเรียนโดยหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนน มีการออกแบบและใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ในการช่วยให้นักเรียนสามารถอพยพออกจากรถได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน 

1.การใช้งานในกรณีฉุกเฉิน ประตูหลังถูกออกแบบให้เป็นทางออกฉุกเฉินสำคัญ หากประตูหลักที่อยู่ด้านหน้าเกิดความเสียหาย หรือไม่สามารถใช้งานได้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น รถคว่ำ ไฟไหม้ หรือการชนหนัก ประตูหลังจะเป็นช่องทางหลักให้นักเรียนออกจากรถได้อย่างปลอดภัย ประตูหลังของ Yellow Bus School สามารถเปิดออกได้อย่างรวดเร็วจากภายในโดยดึงคันโยกหรือปลดล็อก และนักเรียนสามารถออกจากรถได้ในกรณีที่ต้องการหลบหนี

2.มาตรฐานการออกแบบประตูหลัง ประตูหลังมีขนาดใหญ่พอสำหรับการอพยพอย่างรวดเร็ว และมักจะอยู่ที่ส่วนหลังสุดของรถบัส เป็นไปตามมาตรฐานของ National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ซึ่งระบุว่ารถบัสโรงเรียนทุกคันต้องมีทางออกฉุกเฉินที่ชัดเจนและใช้งานได้ง่าย ประตูหลังมักมาพร้อมกับระบบที่เปิดได้ง่ายจากภายในด้วยคันโยก นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์หรือสัญญาณเตือน หากประตูถูกเปิดในขณะที่รถกำลังวิ่ง คนขับจะได้รับการแจ้งเตือนทันทีเพื่อความปลอดภัย

3.ความสำคัญในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากรถบัสเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ประตูหน้าถูกปิดกั้น นักเรียนสามารถออกจากประตูหลังได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการฝึกซ้อมให้นักเรียนทราบวิธีการใช้งานประตูฉุกเฉิน และการอพยพออกจากรถโดยไม่เกิดความสับสน

ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ภายในรถบัส ประตูหลังเป็นช่องทางสำคัญที่จะใช้ในการอพยพออกจากรถอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปลวไฟอยู่ด้านหน้าของรถ การเปิดประตูหลังจะช่วยให้นักเรียนหนีออกจากรถได้เร็วที่สุด

4.การฝึกอบรมและการเตรียมพร้อม โรงเรียนในสหรัฐฯ จะมีการฝึกซ้อมให้นักเรียนทราบถึงวิธีการใช้งานประตูฉุกเฉิน รวมถึงการออกจากประตูหลังอย่างเป็นระเบียบเพื่อป้องกันการเกิดความโกลาหลในกรณีฉุกเฉิน และคนขับรถบัสต้องได้รับการอบรม ฝึกฝนเกี่ยวกับวิธีการใช้งานประตูหลังฉุกเฉิน และวิธีการดูแลนักเรียนให้อพยพออกมาอย่างปลอดภัยในสถานการณ์ต่าง ๆ คนขับต้องสามารถระบุสัญญาณเตือนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประตูหลังได้ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนเปิดประตูออกขณะรถกำลังเคลื่อนที่

5.ระบบเตือนและมาตรการความปลอดภัย ในรถบัสสมัยใหม่ ประตูหลังมักมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการเปิดประตู หากประตูหลังถูกเปิดออกขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ คนขับจะได้รับสัญญาณเตือนเพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นหากนักเรียนเปิดประตูโดยไม่ได้ตั้งใจ ในสหรัฐฯ มีกฎหมายบังคับให้รถบัสโรงเรียนต้องมีประตูทางออกฉุกเฉินและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพียงพอ ซึ่งรวมถึงประตูหลัง เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนสามารถอพยพออกจากรถได้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

6.การออกแบบเพื่อความแข็งแรง ประตูหลังของรถบัสโรงเรียนยังถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงพอที่จะทนทานต่อแรงกระแทก แต่ยังคงเปิดได้ง่ายในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน แม้ในกรณีที่รถได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ โครงสร้างของประตูจะช่วยให้นักเรียนสามารถออกมาได้โดยปลอดภัย

7.ประโยชน์ในสถานการณ์ทั่วไป ประตูหลังจะไม่ถูกใช้เป็นประตูทางเข้า-ออกประจำ นอกจากในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น การมีประตูหลังเป็นทางออกฉุกเฉินช่วยลดความเสี่ยงหากเกิดอุบัติเหตุชนท้าย เพราะนักเรียนสามารถหนีออกจากรถทางด้านหลังได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา : 
- National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA): หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของ School Bus
- American School Bus Council (ASBC): องค์กรที่ให้ข้อมูลและทรัพยากรเกี่ยวกับการขนส่งนักเรียนอย่างปลอดภัยในสหรัฐฯ
-Federal Motor Carrier Safety Administration (FMCSA): หน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบความปลอดภัยของการขนส่งนักเรียนในเชิงพาณิชย์
-National Association for Pupil Transportation (NAPT): องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการขนส่งนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในสหรัฐฯ

อ่านข่าว :

เช็กขั้นตอนเอาตัวรอดจาก "ไฟไหม้ในรถบัส"

ศธ.ชวนแต่งดำอาลัยครู-นร.23 ชีวิตรถบัสไฟไหม้

โซเชียลอาลัย 23 ชีวิต เหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง