ความสูญเสียในการสู้รบระหว่าง "เฮซบอลเลาะห์ และ อิสราเอล" เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2567 หลังอิสราเอลเข้าโจมตีเมืองชายแดนทางตอนใต้ของกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เพื่อทำลายฐานที่มั่น ตัดกำลังและเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ของเฮซบอลเลาะห์ ไม่เพียงทำให้ ฮาสซาน นาสราลลาห์ ผู้นำกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ (Hezbollah) หรือ "พรรคของพระเจ้า" เสียชีวิต ระหว่างการเข้าโจมตีอาคารแห่งหนึ่งในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงเบรุต เท่านั้น แต่ยังบั่นทอนเสถียรภาพของกลุ่ม มีผลต่อขวัญและกำลังใจ และอาจส่งผลให้เฮซบอลเลาะห์ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในทุกด้าน
ที่มา: AFP
โดยเฉพาะด้านการทหารและการเมือง อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกซีกโลกหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สงครามที่เกิดขึ้นและอาจขยายวงกว้างในอนาคต ย่อมส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มประเทศอาเซียนไม่น้อย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีแรงงานไทยจำนวนมากเข้าไปทำงาน และทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตสงคราม ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรก ก็หนีไม่พ้นแรงงานไทย
จากสถิติของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน พบว่า ในปี 2566 แรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลจำนวน 5,064 คน คิดเป็นจำนวนสะสมตั้งแต่ปี 2561-2566 รวม 31,026 คน ยกเว้นปัตตานี พังงา พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ที่ไม่ได้ส่งแรงงานไปอิสราเอล
ล่าสุด รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้หลายประเด็นในรายการ Good Morning ASEAN ทางคลื่นวิทยุ MCOT News FM 100.5 ด้านผลกระทบต่อ "แรงงานไทย" ที่ยังอยู่ในพื้นที่อิสราเอล ว่าต้องเร่งโอนย้ายแรงงานไทยไปทำงานยังประเทศใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด และต้องทำให้รายได้ไม่แตกต่างจากที่ได้รับในอิสราเอลด้วยเช่นกัน
ซึ่งในรัฐบาลยุคนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เริ่มเจรจาไปบ้างแล้วกับประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากแรงงานไทยที่ไม่สามารถกลับไปทำงานที่อิสราเอล ก็ยังเดินทางไปทำงานที่ประเทศอื่น ๆ หรือที่ซาอุดีอาระเบียต่อไปได้ การเจรจาเบื้องต้นเป็นสัญญาณที่ดี เป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายที่ต้องกระจายความเสี่ยง เพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ให้แรงงานไทยที่อยู่ตรงนั้น
ที่มา: AFP
นอกจากนี้ รศ.ดร.ปณิธาน ยังเสนอเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมในพื้นที่ขัดแย้งมากกว่านี้ เพื่อดูแลผลประโยชน์และประชากรของไทยให้มากยิ่งขึ้น ดังที่สมาชิกอาเซียน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือกองทุนพัฒนาสหภาพยุโรปได้ให้การสนับสนุนทั้งกาซาและอิสราเอล พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสปรับสมดุลในการใกล้ชิดกับปาเลสไตน์
แม้ประเทศไทยจะสนับสนุนให้ตั้งรัฐคู่ขนานของปาเลสไตน์และอิสราเอล แต่ต้องสร้างแนวคิดใหม่ว่า เราไม่ได้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ทหารไทยประสบความสำเร็จในการช่วยฟื้นฟูประเทศหลังสงครามมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ติมอร์ตะวันออก แต่สำหรับกรณีนี้ความสัมพันธ์ไม่ได้แนบชิด
ในช่วงปี 2542 ไทยเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ International Forces in East Timor หรือ INTERFET เพื่อเข้าร่วมรักษาสันติภาพในสงครามปลดแอกติมอร์ตะวันออกจากอินโดนีเซีย และนอกเหนือจากศึกสงคราม ไทยยังได้ร่วมฟื้นฟูติมอร์ตะวันออกด้วยการช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ที่มา: AFP
และยังเข้าไปช่วยส่งเสริมทักษะทางด้านกีฬา ซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน การปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน ของกองทัพไทยเต็มไปด้วยความเสียสละ และรักษาความเป็นกลาง ทำให้ทหารไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวติมอร์ตะวันออก ถือเป็นการทำกิจการพลเรือนในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของกองทัพไทย
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปณิธาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความน่ากังวลอย่างหนึ่งสำหรับกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อพื้นที่ขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ คือ ความไม่ลงรอยกันของอาเซียนต่อพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าว ประเทศมุสลิม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นอกจากประนาม ยังต้องการกดดันและมีมาตรการต่ออิสราเอลผ่านอาเซียน ส่วนไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ต้องการลดการเผชิญหน้า โดยเฉพาะไทยและฟิลิปปินส์ที่ส่งออกแรงงานไปยังอิสราเอลในจำนวนมาก
อย่างที่เราเห็นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในอาเซียน ทำให้เกิดความแตกต่าง ทำให้แถลงการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเวียงจันทน์ นั้นมีน้ำหนักลดลง จะทำให้เห็นข้อพิพาทระหว่าง 2 กลุ่ม
จากความไม่ลงรอยระดับองค์การระหว่างภูมิภาค นำมาสู่ความกังวลอีกอย่างที่เป็นปัญหาต่อไทย เนื่องจากคนไทยถูกจับเป็นตัวประกันราว 6 คน แต่ไทยกลับไม่ออกโรงอย่างแข็งขันในการแก้ไขปัญหาในด้านนี้ ดังนั้น เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทยเอง เราจะต้องสร้างการต่อรองและแรงกดดันมากกว่านี้ เพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำของไทย
รศ.ดร.ปณิธาน ยังชี้อีกว่า ปัญหาด้านพลังงานและปัญหาด้านตลาดส่งออกของไทยเป็นอีกประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อไทย เพราะพื้นที่ขัดแย้งเป็นเจ้าตลาดส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก ทำให้เกิดความผันผวนทางการส่งออกทรัพยากรหรือราคาที่ไม่อาจคาดเดาได้ อีกทั้ง สถานการณ์ในยุโรป รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่สงบ ตลาดยุโรปเป็นอันดับต้น ๆ การส่งออกของไทย ยิ่งทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่บีบคั้นอย่างมาก
ไทยต้องไปหาตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งเข้าร่วมกับการประชุมใหม่ ๆ อย่างเช่น BRICS แต่จะทำให้เกิดปัญหาทางการทูตกับสหรัฐฯ และพันธมิตร ที่มองว่า BRICS เป็นคู่แข่งขัน เป็นอะไรที่ขัดแย้งกัน ประเทศไทยต้องปรับสมดุลใหม่ระหว่างกลุ่มเหล่านี้ให้ดี