- ปิดดีลขาย "Robinhood" 2,000 ล้านให้กลุ่มยิบอินซอย
- "ทองคำ" ของถูกไม่มีอยู่จริง ไม่ดรามา ตั้งสติ "คิด" ก่อนควักจ่าย
แน่นอนว่าเงิน 10,000 บาท สำหรับบางคนอาจจะไม่มาก แต่สำหรับบางคนมันมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เลย และยิ่งเม็ดเงินเหล่านี้มารวม ๆ กัน ก็ยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม่ลูกแรงงานก่อสร้างใช้เงินหมื่นดาวน์จักรยานยนต์
คำว่า เงินหมื่นเปลี่ยนชีวิตไม่เกินจริง สำหรับ แรงงานก่อสร้าง 2 แม่ลูกใน จ.มหาสารคาม ตัดสินใจนำเงินที่ได้มาซื้อรถจักรยานยนต์ โดยจ่ายเงินดาวน์ 5,000 บาท และผ่อนเดือนละกว่า 1,900 บาท เป็นเวลา 3 ปี
ลูกเธอมีรายได้จากการรับจ้างทำงานก่อสร้างเพียงทางเดียว วันละ 300-400 บาท ต้องเดินทางจาก จ.มหาสารคาม มาทำงานที่ขอนแก่น บางครั้งผู้รับเหมาไม่ได้นำรถยนต์ไปรับคนงานจะต้องขี่จักรยานยนต์มาทำงานเอง ถ้ามาไม่ได้ก็ขาดรายได้ เงิน 10,000 บาท จึงมีความสำคัญมาก และมาให้ใช้ทันเวลาในช่วงที่ลำบาก
"เงินหมื่นเราก็อยากได้ของที่เราไม่มี ตู้เย็นก็ซื้อมือสอง ซื้อโทรศัพท์ก็ซื้อรุ่นถูก เราไม่มี มอเตอร์ไซต์ ลูกชายก็ได้เงิน เราก็แบ่งกัน ถ้าเราไม่มีมอเตอร์ไซต์ เราก็ไม่ได้ทำงาน ถ้าเขาไม่ไปรับ เราก็ไม่ได้มาทำงาน เราทำงานก่อสร้าง ถ้าไม่มีรถ ต้องนั่งอยู่บ้าน ไม่มีอะไรกิน ไม่มีอะไรทำ"
ส่วนผู้ได้รับสิทธิเงินหมื่น บางคน บริหาร จัดสรร นำเงินหมื่น มาใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็น ในครัวเรือนเดือนละพัน เท่ากับช่วยแบ่งเบาภาระไปได้ถึง 10 เดือน
ฟังแบบนี้ก็ดูเหมือนเงินหมื่นที่ได้ก็ไปช่วยต่อยอดให้เกิดผลในทางที่ดีขึ้น แต่ก็มีไม่ใช่น้อยที่ใช้เงินหมื่นผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งก่อนจะคลอดโครงการออกมา ถึงได้มีความพยายามที่จะสกัดการซื้อสินค้าที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่สามารถวางเงื่อนไขได้
อย่างที่ จ.สุรินทร์ มีชายพิการที่ได้รับเงิน 10,000 บาท นำมาซื้อเหล้าดื่มฉลองกับญาติ สุดท้ายเกิดเหตุทะเลาะกันใช้มีดแทงบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุรินทร์ ผู้ก่อเหตุหลบหนีไปได้ตำรวจอยู่ระหว่างติดตามตัว ยังไม่รวมถึงข่าวก่อนหน้านี้ ก็มีบางพื้นที่จับกุมการซื้อยาบ้าด้วยเงินหมื่นเช่นกัน ดังนั้นเงินหมื่นจึงมีทั้งโทษและประโยชน์
ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย
เงิน 10,000 ไม่สามารถประเมินผลต่อเศรษฐกิจได้ชัดเจน
และถ้ามองในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลเคยพูดถึงพายุหมุนทางเศรษฐกิจตรงนี้มันก่อให้เกิดพายุได้ไหม ต้องขึ้นกับว่าคำถามนี้ไปถามใคร ถ้าถามรัฐบาล หรือ พ่อค้ารายใหญ่ก็ต้องบอกว่าหมุนแน่นอน เพราะเงินแสนกว่าล้านบาทใส่ลงไปในระบบก็ต้องมีแรงกระเพื่อม แต่หากไปถามแบงก์ชาติ กับพ่อค้ารายย่อยก็อาจจะมองต่าง
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ส่งผลดีต่อการบรรเทาความเดือดร้อน แต่ยังไม่สามารถประเมินผลต่อเศรษฐกิจได้ชัดเจน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินสดของผู้ได้รับสิทธิ มีความหลากหลาย
ทั้งนี้ หากผู้ได้รับสิทธิ์ส่วนใหญ่ นำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ หรือ ซื้อสมาร์ทโฟน ก็จะไม่เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่หากนำไปใช้จ่าย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ สินค้าประเภทปัจจัยการผลิต ก็จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ
คนละครึ่ง ส่งผลต่อร้านค้ารายย่อย โดยตรง
ส่วนเจ้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ บอกว่า แม้จะมีการแจกเงินหมื่นไปแล้ว แต่การจับจ่ายไม่ได้คึกคัก เพราะกลุ่มที่ได้รับสิทธินำเงินไปใช้จ่ายหลายวัตถุประสงค์ บางคนจึงนำไปชำระหนี้ ซื้อสินค้าในห้างขนาดใหญ่
สำหรับร้านค้าขนาดเล็ก แม้จะมีผู้ใช้สิทธิมาซื้อสินค้าบ้างแต่ก็ไม่มาก จึงไม่รู้สึกว่าโครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่เหมือนกับโครงการในอดีต อย่าง คนละครึ่ง
ไม่น่าแปลกใจที่เป็นเช่นนั้น เพราะจากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ก็ชี้ชัดว่าโครงการคนละครึ่ง ส่งผลต่อร้านค้ารายย่อยโดยตรง
โดยงานวิจัยของ รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบของโครงการคนละครึ่งต่อพฤติกรรมของร้านค้าและผู้บริโภค พบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และแม้จะจบโครงการไปแล้ว แต่ยอดขายของร้านค้า ที่เข้าร่วมยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าโครงการ
ขณะที่นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ในเชิงเศรษฐกิจ พายุหมุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่นั้นคงไม่เกิดขึ้น เพราะเงินถูกนำไปใช้ในหลายวัตถุประสงค์ กระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่ไม่ได้มาก เพราะเงินถูกนำไปแก้ปัญหาเชิงสังคมด้วยเช่นการชำระหนี้ และเห็นว่าการแก้ปัญหากลุ่มเปราะบางไม่ได้เป็นโจทย์ที่ง่าย ที่จะฟื้นตัว จึงมีงานที่ต้องทำต่อมากกว่าการแจกเงิน
เงิน 10,000 บาทเฟสสอง โอกาสของ 26 ล้านคน
แม้วันนี้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่หากเรามากางงบประมาณกันดูก็จะเห็นว่าไม่ง่าย จะเห็นได้ว่าประมาณ ปี 2567 และ 2568 กับจำนวนผู้ได้รับสิทธิมีความไม่สอดคล้องกันอยู่ เฟส 1 จำนวน 14.5 ล้านคน ใช้เงินจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.45 แสนล้านบาทก็ถือว่าพอ เพราะใช้จากงบกลางมาช่วย แต่หากเราดูเฟส 2 จำนวน 26 ล้านคน บวก ลบ อาจจะไม่สอดคล้อง
ดังนั้นทางเลือกที่จะทำได้ คือ 1 แจก 5,000 บาทต่อคน ก็จะใช้งบเพียง 130,000 ล้านบาท และนำเงินที่เหลืออีก 57,000 ล้านบาท ไปใช้ในการกระตุ้นอย่างอื่น
ทางเลือก ที่ 2 คือ แจกคนละ 10,000 บาท ต้องใช้เงินถึง 260,000 ล้านบาท ก็ต้องหาเงินมาเพิ่มเติม หรือ คัดออกคนให้ได้ 7.3 ล้านคน งบที่เตรียมไว้จึงจะพอดี
อ่านข่าว :
"เผ่าภูมิ" เผยรอ คกก.กระตุ้นเศรษฐกิจถกแจกเงินหมื่นเฟส 2
ลุ้นเฟส 2 ! แจกเงินหมื่นทะลุ 12.19 ล้านคน เตือนไม่ใช่เงินฟรีงดซื้อเหล้า-หวย