ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้โดยสารโปรดทราบ "ระเบิด" คือคำต้องห้ามของการบิน

ไลฟ์สไตล์
26 ก.ย. 67
20:52
615
Logo Thai PBS
ผู้โดยสารโปรดทราบ "ระเบิด" คือคำต้องห้ามของการบิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ได้ใจบางจนเกินไป แต่คำว่า "ระเบิด" คือคำต้องห้ามที่ไม่ควรพูด จะพูดเล่น พูดสร้างคอนเทนต์ หรือพูดจริง ๆ "ก็ห้าม" เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินแม้จะเร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด แต่ความเสี่ยงก็มากที่สุดเช่นกัน ทุกปัจจัยเสี่ยงแม้จะแค่คำพูดจึงต้องให้ความสำคัญ

แผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ ระบุคำจำกัดความ "การขู่วางระเบิด (Bomb Theart)" ไว้ว่า การข่มขู่ผ่านช่องทางการสื่อสาร ซึ่งอาจจะทราบตัวผู้กระทำหรือไม่ทราบ โดยอาจจะเป็นการแนะนำหรือบอกเป็นนัย ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จ ว่าความปลอดภัยของอากาศยานขณะำๆการบินหรือระหว่างอยู่ที่พื้น หรือความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวกทางการบินพลเรือน หรือความปลอดภัยของบุคคลได้ถูกคุกคามและอยู่ในสถานการณ์อันตรายจากระเบิดหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการกระทำอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (Acts of unlawful interference) 

  • การทำลายอากาศยานในระหว่างบริการ
  • การนำอาวุธ อุปกรณ์หรือวัตถุที่เป็นอันตรายซึ่งมีเจตนาเพื่อใช้ในการประกอบอาชญากรรมขึ้นไปในอากาศยานหรือเข้าไปที่สนามบิน
  • การใช้อากาศยานในระหว่างบริการเพื่อก่อให้เกิดความตาย การบาดเจ็บสาหัสหรือความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม
  • การแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จซึ่งเป็นอันตรายต่อความความปลอดภัยของอากาศยานระหว่างการบิน หรือขณะอยู่ที่ภาคพื้น หรือต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยาน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นหรือสาธารณชน ที่สนามบินหรือในบริเวณที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบินพลเรือน

การขู่วางระเบิดบนเครื่องบินหรือในสนามบิน เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การก่อการร้ายทางอากาศเริ่มแพร่หลาย การขู่วางระเบิดกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่กลุ่มก่อการร้ายใช้ในการกดดันรัฐบาลหรือเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ เนื่องจากเครื่องบินเป็นสถานที่ปิดและเคลื่อนย้ายได้ยากในอากาศ ทำให้มีความเสี่ยงสูงและเป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อการข่มขู่

แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยในสนามบินจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การขู่ขวัญเกี่ยวกับระเบิดบนเครื่องบินก็ยังคงมีอยู่ ปัจจุบัน การขู่วางระเบิดสามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโทรแจ้ง การส่งข้อความผ่านอีเมลหรือโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งการทิ้งจดหมายขู่ไว้ในสนามบิน ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสายการบินต่างต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

การขู่วางระเบิดมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ผู้โดยสาร แต่ยังส่งผลให้เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉิน ทำให้เที่ยวบินถูกยกเลิกหรือล่าช้า และนำไปสู่การตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการที่เหตุการณ์นี้อาจทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บหรือตายได้ หากระเบิดเกิดการระเบิดขึ้นจริง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความเชื่อมั่นในระบบการบิน

หลายกรณีที่เกิดขึ้น การขู่วางระเบิดมักจะเป็นการข่มขู่ที่ไม่มีระเบิดจริง แต่แม้กระนั้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถละเลยหรือลดความสำคัญของการขู่นี้ได้ เนื่องจากหากมีการละเลยและเกิดเหตุระเบิดขึ้นจริง ผลที่ตามมาจะเป็นเรื่องที่รุนแรงอย่างมาก

"ระเบิด" คือคำต้องห้ามของการบิน

การห้ามพูดคำว่า "ระเบิด" (หรือคำที่เกี่ยวข้อง) ขณะโดยสารเครื่องบิน มีสาเหตุหลักมาจากความกังวลด้านความปลอดภัยและการป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ยากต่อการควบคุมในห้องโดยสาร เมื่อใครสักคนพูดถึงคำว่า "ระเบิด" ขึ้นมา อาจทำให้ลูกเรือหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องทำการตรวจสอบสถานการณ์ทันที ทำให้เกิดความยุ่งยากและทำให้การเดินทางล่าช้าหรือไม่สะดวก

และอาจนำไปสู่การใช้งบประมาณและทรัพยากรของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในเที่ยวบินอื่น ๆ นอกจากนี้ คำต้องห้ามคำนี้อาจทำให้คนอื่นนึกถึงเหตุการณ์การขู่วางระเบิดบนเครื่องบินในอดีต ทำให้เกิดความไม่สบายใจในการเดินทาง

หลายประเทศมีกฎหมายและนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบิน การใช้คำว่า "ระเบิด" หรือการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง อาจถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือส่งผลให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย สำหรับประเทศไทยนั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 ม.22 ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จและการนั้นเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินตื่นตกใจผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 - 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรการจัดการ "การขู่วางระเบิด"

เมื่อมีการขู่วางระเบิดบนเครื่องบิน กระบวนการจัดการจะมีขั้นตอนที่ชัดเจนและมีมาตรการด้านความปลอดภัยเข้มงวด สายการบินและเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้รับการฝึกอบรมในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ 

1.ประเมินสถานการณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ของสายการบินได้รับแจ้งเรื่องการขู่วางระเบิด ขั้นตอนแรกต้องประเมินความน่าเชื่อถือของการขู่ดังกล่าว ด้วยการตรวจสอบแหล่งที่มาของการขู่ และหาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ รวมถึงสถานที่และเวลาที่อาจเกิดระเบิด

2.ลงจอดฉุกเฉิน หากมีการขู่ระหว่างเที่ยวบิน "กัปตัน" จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรทำการลงจอดฉุกเฉินหรือไม่ โดยพิจารณาจากสถานการณ์ เช่น ความน่าเชื่อถือของการขู่ และความพร้อมของสนามบินใกล้เคียงในการรับเครื่องบินลงจอดฉุกเฉิน 

3.การอพยพผู้โดยสาร-ตรวจสอบเครื่องบิน เมื่อเครื่องบินลงจอด เจ้าหน้าที่จะอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องบินทันที โดยให้ผู้โดยสารนำสิ่งของส่วนตัวออกไปให้น้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยง และทำการตรวจสอบเครื่องบินอย่างละเอียดโดยหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ EOD

4.ตรวจสอบผู้โดยสารและสัมภาระโดยละเอียด ในบางกรณี ผู้โดยสารทุกคนอาจถูกนำไปสอบถามหรือซักถามเพิ่มเติมเพื่อหาข้อมูลและเบาะแสเพิ่มเติม

ผู้โดยสารปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดการขู่วางระเบิด

สำหรับผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบิน การขู่วางระเบิดเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจและตื่นตระหนกอย่างแน่นอน การรู้วิธีปฏิบัติตนในสถานการณ์นี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงได้ 

1.ปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือ เพราะลูกเรือของสายการบินได้รับการฝึกฝนเพื่อจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงการขู่วางระเบิด การปฏิบัติตามคำแนะนำของพวกเขาอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การจัดการสถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกเรืออาจจะสั่งให้ผู้โดยสารอยู่ในที่นั่ง รัดเข็มขัดนิรภัย และเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพ

2.มีสติ ไม่ตื่นตระหนก การตื่นตกใจอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง และอาจทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นบนเครื่องบิน การฟังคำแนะนำจากลูกเรือจะช่วยลดความวิตกกังวลได้ 

3.หลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ไม่จำเป็น หยุดไลฟ์ หยุดถ่ายคลิป หยุดสร้างคอนเทนต์ การใช้โทรศัพท์มือถือหรือสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต อาจรบกวนสัญญาณหรือทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้งการสื่อสารที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกในวงกว้าง

4.แจ้งสิ่งผิดปกติให้ลูกเรือทราบ หากผู้โดยสารพบเห็นสิ่งของแปลกปลอม วัตถุต้องสงสัย หรือพฤติกรรมที่ไม่ปกติของผู้อื่น ควรแจ้งให้ลูกเรือทราบทันที อย่าตรวจสอบเอง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงได้

5.พร้อมสำหรับการอพยพ กรณีต้องอพยพออกจากเครื่องบิน ให้ทำตามคำแนะนำของลูกเรือ เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น การสวมเสื้อชูชีพ เดินไปยังทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด ถอดรองเท้าส้นสูง กระเป๋าใบโตไม่ต้องเอาไป และให้อพยพด้วยความสงบ เรียงแถว ค่อย ๆ เดิน เพราะยิ่งรีบจะยิ่งช้า 

"ห้ามจับ ห้ามขยับ หนีไป" ทำแบบนี้ถ้าเจอระเบิดบนเครื่อง

เมื่อผู้โดยสารเจอสิ่งของต้องสงสัย หรือ ระเบิดจริง ๆ ให้ตั้งสติ และ แจ้งลูกเรือทันที โดยให้ค่อย ๆ บอกสถานที่ ลักษณะสิ่งของ รูปร่าง ลักษณะให้ชัดเจน แบบใจเย็น ๆ อย่าสร้างความตื่นตระหนก ตกใจ ให้กับผู้โดยสารคนอื่น เพราะจะทำให้ลูกเรือคุมสถานการณ์ได้ยากมากขึ้น และอาจทำให้ผู้ก่อเหตุรู้ตัวได้ 

อย่าจับวัตถุต้องสงสัย อย่าย้ายที่โดยเด็ดขาด สิ่งที่ต้องย้ายออกมาคือตัวเอง และให้ถามลูกเรือว่าควรไปอยู่บริเวณใดของเครื่องบินที่จะปลอดภัยมากที่สุด 

อ่านข่าวเพิ่ม : 

เฮอร์ริเคน "เฮลีน" ถล่มฟลอริดารุนแรงระดับ 4 ประกาศภาวะฉุกเฉิน

อันตรายไร้สาย! เทคโนโลยีก่อความไม่สงบ AI - อุปกรณ์สื่อสาร

เปิดเบื้องหลัง ปมดรามา "ไล่แบคโฮ" ออกจากบ้านถ้ำผาจม แม่สาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง