ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทองคำ" ของถูกไม่มีอยู่จริง ไม่ดรามา ตั้งสติ "คิด" ก่อนควักจ่าย

เศรษฐกิจ
26 ก.ย. 67
17:38
849
Logo Thai PBS
"ทองคำ" ของถูกไม่มีอยู่จริง ไม่ดรามา ตั้งสติ "คิด" ก่อนควักจ่าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ดรามา แต่เป็นเรื่องจริง เมื่อลูกค้าเข้าแถว ขอคืนทองให้แม่ค้าทองออนไลน์ ชื่อดังบน TikTok หลังพบว่า ทองที่ซื้อมา ไม่ได้มาตรฐานและมีเปอร์เซ็นต์ทองไม่ตรงตามที่สมาคมค้าทองคำกำหนด ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งหามาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อรายต่อไป

ขึ้นชื่อว่า "ทอง" ใครๆก็อยากมีไว้ครอบครอบ ยิ่งตอนนี้ราคาทองพุ่งสูงแตะบาทละ 41,000 บาท ทำให้นักลงทุนรายย่อย ต้องการที่จะหาซื้อไว้ครอบครอง โดยหวังเกร็งกำไรในอนาคต ด้วยราคาทองที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดร้านทองที่หัวใส นำทองต้นทุนต่ำมาไลฟ์ขาย

โดยมีการบรรยายเปอร์เซ็นทอง 99.99% ขายในราคาที่ถูกกว่าตลาด ซึ่งแน่นอนว่า ผู้บริโภค หรือชาวบ้านทั่วไปเมื่อเห็น ราคาทองที่ร้านออนไลน์ไลฟ์ขายมีราคาถูกและยังได้ของแถมอีกมากมาย หลงเข้าไปกดซื้อเป็นจำนวนมาก และต่างหวังว่าจะสามารถนำไปขายทำกำไรได้ในอนาคต

และกลายเป็นดรามาร้อนแรงไม่แผ่ว เมื่อผู้บริโภคที่ซื้อทองคำ ผ่านร้านค้าออน ไลน์ เป็นทองคำที่ไม่ได้มาตรฐาน มีเปอร์เซ็นทองไม่ตรงปก ตามที่สมาคมค้าทองคำกำหนด และยังเป็นการโฆษณาเกินจริงจนสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค

จากเหตุการณ์ "แม่ตั๊ก" หรือ กรกนก สุวรรณบุตร แม่ค้าทองออนไลน์ ชื่อดังบน TikTok ที่มีลูกค้าออกมาโวยหลัง เอาทองที่ซื้อมาไปขายที่ร้านทอง แต่ปรากฏว่าทางร้านทองไม่รับซื้อ เพราะไม่มีเปอร์เซ็นต์ทอง และไม่มียี่ห้อ จนเกิดทำให้ลูกค้าแห่ไปขอคืนทองและให้ร้านคืนเงินให้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. สมาคมผู้ค้าทองคำ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GI ต้องออกโรงเตือนผู้ค้าและผู้บริโภคให้มีสติ และทำการค้าด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใสสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ในขณะที่ผู้บริโภคเองต้องมีสติในการซื้อสินค้าเพราะไม่มีของถูกและดีไม่มีในโลก

GIT ตรวจ 3 ชิ้น แท้แค่ 1ชิ้น

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานในการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า มีเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัย และเชื่อถือได้ ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ได้ทำการตรวจสอบทองคำจากร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวที่ "รายการโหนกระแส" ส่งมาให้ตรวจสอบทองของลูกค้า จำนวน 3 รายการ และได้ส่งผลการตรวจสอบกลับคืนไปให้แล้ว โดยแจ้งว่า ทองลูกปัด มีทองคำอยู่เพียง 71.38% ส่วนสร้อยทอง มีทองคำ 92.08% และชิ้นส่วนเครื่องประดับ มีทองคำ 99.83%

หมายความว่า ทองคำที่มีเปอร์เซ็นต์ทองไม่ถึง 92.50% เป็นทองคำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนที่เกิน 92.50% ถือเป็นทองคำได้มาตรฐาน

สำหรับทองรูปพรรณ คือ ทอง 96.5% เป็นมาตรฐานของทองที่จำหน่ายตามร้านทองในประเทศไทย นิยมผลิตเป็นทองคำแท่ง และเครื่องประดับ เช่น สร้อยทอง, สร้อยข้อมือ, แหวนทอง, จี้ทอง เป็นต้น ส่วนเกณฑ์มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณหลังหลอมละลาย

โดยกำหนดให้ทองรูปพรรณที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 10 กรัมขึ้นไป ต้องมีปริมาณความบริสุทธิ์หลังหลอมละลายไม่ต่ำกว่า 93.5% และทองรูปพรรณที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 10 กรัม ต้องมีปริมาณความบริสุทธิ์หลังหลอมละลายไม่ต่ำกว่า 92.5%

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที กล่าวว่า หากยังไม่แน่ใจว่าทองคำที่ซื้อไปหรือที่มีอยู่เป็นของแท้หรือไม่ สามารถนำไปตรวจสอบหาค่าความบริสุทธิ์ของโลหะได้ที่สถาบันฯ เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติที่มีเครื่องมือขั้นสูงสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที

กรณีนี้ สามารถตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอมด้วยคลื่นอัลตราโซนิคที่ไม่ทำลายชิ้นงาน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีร้านค้าบางแห่ง หรือร้านค้าที่จำหน่ายทองคำทางออนไลน์ ได้นำทองคำมาสอดไส้โลหะอื่นๆ เช่น ทองแดง หรือตะกั่ว เพื่อหลอกขายเป็นทองคำบริสุทธิ์ เพราะปัจจุบันประชาชนมีความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น และการตรวจสอบทองคำปลอมเหล่านี้

หากดูด้วยตาปกติ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะใช้ทองคำจริงมาหุ้ม ขนาดและน้ำหนัก จะเท่ากับทองคำแท้ แต่ไส้ในจะเลือกวัตถุดิบที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกับทองคำมาทำ หรือหากเป็นร้านขายทองคำ จะใช้การตะไบเข้าไปในเนื้อทองคำ เพื่อเช็กดูว่ามีการสอดไส้หรือไม่ แต่หากหุ้มหนาๆ การตะไบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้มีการหลอกลวงขายทองคำปลอมกันเป็นจำนวนมาก

สคบ.แนะ"ลูกค้า"สังเกตุทองก่อนจ่ายเงิน

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากร้านทอง ผู้บริโภคต้องรู้ก่อนซื้อทองจากร้านทองทั้งจากร้านออนไลน์ หรือร้านทองที่มีหน้าร้าน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มีวิธีแนะนำในการสังเกตก่อนจะตัดสินใจซื้อทอง

1. ร้านทองต้องแสดงราคาขายทองแท่งและทองรูปพรรณของแต่ละวันชัดเจน มีการแสดงราคารับซื้อคืน และมีการแสดงค่ากำเหน็จ ซึ่งค่ากำเหน็จอาจจะไม่ได้ติดที่หน้าร้าน แต่ติดอยู่ในถาด

2. มีป้ายบอกประเภทสินค้าชัดเจนว่าเป็นสร้อย แหวน กำไล

3. มีการระบุชัดเจนว่า มีเปอร์เซ็นต์ทองเท่าไร เช่น 96.5% หรือ 99.99% เป็นต้น

4. ที่เนื้อทองคำทุกชิ้นจะต้องมีโลโก้ของโรงงานผู้ผลิต
5. ต้องระบุน้ำหนักของทองแต่ละชิ้นให้ชัดเจน

ทั้งนี้สคบ. ระบุว่า ตามหลักเกณฑ์ของ สคบ. การรับซื้อคืนทองรูปพรรณกำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% โดยให้คิดจากราคารับซื้อคืนทองคำแท่งในวันนั้น ๆ ซึ่งจะต้องเป็นการซื้อหรือขายกับร้านทองร้านเดิมเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น นาง ก. ซื้อทองคำ จากร้านนาย ค. หากต้องการจะขายทองที่ซื้อมาจะต้องนำกลับมาขายที่ร้านนาย ค. เท่านั้น เพื่อที่จะเข้าหลักเกณฑ์ที่ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5 % เช่น นาง ก. ซื้อทองคำแท่งในราคา 41,000 บาท หัก 5% ของราคารับซื้อคืนทองแท่ง จะเท่ากับ 41,000 x5/100 = 2,050 บาท (ที่จะถูกหัก)เท่ากับว่านาง ก. จะขายคืนได้ในราคา 38,950 บาท

แต่หากเป็นราคาทองรูปพรรณ ที่ร้านทองจะรับซื้อคืน ซึ่งสมาคมค้าทองคำประกาศในแต่ละครั้งจะไม่เกิน 5% เช่นวันนี้ ทองคำแท่งรับซื้อคืน 41,000 ทองคำรูปพรรณรับซื้อคืน 40,264 ราคาห่างกัน 736 บาท ซึ่งไม่เกิน 5% ที่คิด(สคบ.ประกาศ)ได้คือ 2,050 บาท และเมื่อรู้อย่างนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆอย่าลืมตรวจสอบกับร้านทองว่าหักเกิน 5% หรือไม่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องสังเกตอีกข้อเมื่อซื้อทองคำ คือ ต้องให้ทางร้านค้าชั่งน้ำหนักให้เห็นชัดเจน โดยทองคำ 1 บาท จะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.16 กรัม และไม่ว่าน้ำหนักจะอยู่ที่ 15.17 กรัม 15.18 กรัม 15.19. กรัม และ 15.20 กรัม ถือเป็นทอง 1 บาททั้งหมด ที่สำคัญตราชั่งที่ใช้นั้น ต้องมีความเสถียรที่ 0.00 หน่วย

ปคบ.-สคบ.เข้มปราบ "ร้านทองหัวหมอ"

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจ ปคบ.ได้ประสานงานกับสคบ.ในการนำทองจากร้านค้าที่มีกระแสดรามา มาตรวจสอบเพื่อเก็บข้อมูล เนื่องจากสคบ.มีหน้าที่ดูแลผู้บริโภคในเรื่องของทางแพ่ง รวมถึงข้อมูลเพื่อมาตรวจสอบถึงประเด็นต่างๆ ที่กำลังโต้แย้งกันอยู่ ซึ่งกำลังรอผลตรวจจาก สคบ.

ส่วนการที่ไลฟ์สดแล้วบอกว่าทองแท้ 99.99% อาจเข้าข่ายหลายความผิด ไมว่าจะเป็น ฉ้อโกง ขายสินค้าไม่มีคุณภาพ ตั้งราคาเกินจริง และโฆษณาทำให้หลงเชื่อในเรื่องของคุณภาพ และแหล่งที่มาตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และอาจเข้าข่าย พ.ร.บ คอมพิวเตอร์การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ

การซื้อทองอยากให้ซื้อจากหน้าร้าน ที่มีความน่าเชื่อถือ บอกราคาชัดเจนมีที่ตั้งชัดเจน ส่วนร้านออนไลน์ก็ขอให้ใช้ดุลพินิจให้มากขึ้นในการที่จะซื้อเพราะร้านที่มีที่ตั้งชัดเจนก็จะสะดวกในเวลาที่ซื้อและขายคืน

อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภค พบ ร้านค้าแห่งใดไม่แสดงฉลากตามที่กำหนด สามารถแจ้งสายด่วน สคบ.โทร. 1166 โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท

แจงวิธีแยกทองคำ 96.5% และทอง 99.99%

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในกรณีร้านทองแจ้งลูกค้า ทองเส้นนี้ คือ 96.5% หรือ ทองเส้นนี้ คือ 99.99% ในฐานะผู้บริโภคจะทราบอย่างไร เส้นไหน คือทอง 99.99% หรือทองคำ 96.5 %

โดยทองคำ 96.5 % เป็นทองที่มีความบริสุทธิ์ และมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แร่เงิน กับแร่ทองแดง และโลหะอื่นๆ ผสมอยู่อีก 3.5% เป็นไปตามมาตรฐานการซื้อ-ขายทองจากสมาคมค้าทองคำ โดยเป็นอัตราส่วนความบริสุทธิ์ที่นิยมซื้อ-ขายในตลาดทองของประเทศไทย มีหน่วยที่ใช้เป็น บาท โดยทองคำแท่ง 96.5% 1 บาท จะมีน้ำหนักเท่ากับ 15.244 กรัม

ขณะที่ทองคำ 99.99% มีความบริสุทธิ์สูงสุด อยู่ที่ 99.99% ผู้ผลิตจำเป็นที่จะต้องใส่สารอื่นอีก 0.01% เพื่อให้ทองคำมีความแข็งตัวขึ้น ทำให้สามารถซื้อขายได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ค่อนข้างมีความอ่อนตัวมาก ไม่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับทอง จึงนิยมนำมาทำเป็นทองคำแท่งเพื่อเพื่อการลงทุน โดยทั่วไป นิยมซื้อ-ขายในตลาดทองคำโลก เป็นหน่วย กิโลกรัม

ทั้งนี้การขึ้นรูปทองคำ 99.99 % จะทำยากกว่าทองคำ 96.5% ด้วยคุณสมบัติมีความอ่อนตัวอยู่ เมื่อนำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ,สร้อยข้อมือ,แหวนทอง บางลวดลายอาจขึ้นรูปยาก

ดังนั้น จึงมีการกำหนดส่วนผสมที่จะทำให้ทองคำนั้นมีความแข็งแรง,ทนทาน มากขึ้น จึงได้กำหนดให้ใช้ ทองคำแท้ 96.5 % ส่วนอีก 3.5 % เพิ่มโลหะอย่าง ทองแดง,นาค,เงิน เข้าไป เพื่อให้ง่ายต่อการทำลวดลายทองต่างๆนั้นเอง

ทั้งนี้หากผู้บริโภคต้องการซื้อทองคำ 96.5 % กับทองคำ 99.99 % หากขายแบบไหนดีกว่า ต้องบอกว่าต้องขึ้นอยู่กับความต้องการลงทุนของแต่ละคน และกำลังทรัพย์ มากกว่า เพราะราคาทอง 96.5 % และทอง 99.99 % ซึ่งแตกต่างกัน

โดยทองคำแท่ง 96.5 % ( 26 ก.ย. 2567) ราคาขายออกบาทละ 41,150 บาทรับซื้อ บาทละ 41,050 บาท ทองรูปพรรณ 96.5% ราคาขายออกบาทละ 41,650.44 บาท รับซื้อ บาทละ 40,310 บาท กรัมละ 2,659 บาท ส่วนราคาทอง 99.99 % รับซื้อ ราคาบาทละ 41,765.80 บาท กรัมละ 2,755 บาท 1 กิโลกรัม ราคา 2,755,000 บาท

ขณะที่ทองรูปพรรณ 90% ราคารับซื้อบาทละ 36,279.40 กรัมละ 2,393.10 บาท ,ทองรูปพรรณ 80% ราคารับซื้อบาทละ 32,248.35 กรัมละ 2,127.20บาท, ทองรูปพรรณ 50 % ราคารับซื้อบาทละ 18,146.52 กรัมละ 1,197 บาท และทองรูปพรรณ 40% ราคารับซื้อบาทละ 14,113.96 กรัมละ 931 บาท

ทั้งนี้ เว็บไซต์ ฮั่วเซ่งเฮง ระบุว่า ทองคำ 99.99% คือทองคำที่มีความบริสุทธิ์สูงสุด อยู่ที่ 99.99% แทบไม่มีแร่ธาตุอื่นเจือปน จึงนิยมนำมาทำเป็นทองคำแท่งเพื่อการลงทุน

โดยทั่วไป นิยมซื้อ-ขายในตลาดทองคำโลก เป็นหน่วยกิโลกรัม ซึ่งทองคำ 1 กิโลกรัมมีค่าเท่ากับ 65.6 บาททอง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดทองคำต่างประเทศเพื่อทำกำไรและเก็บออมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 อ่านข่าว:

 “ทองคำ” ไม่เปลี่ยนแปลง “รูปพรรณ” ขายออก 41,600 บาท

"ทองคำ" พุ่งไม่หยุด อานิสงส์เศรษฐกิจ"สหรัฐ-จีน" ฟื้นตัวต่อเนื่อง

“ทองคำ” บวก 150 บาท “รูปพรรณ” ขายออก 40,219 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง