- ขั้นตอน "ล้างท้อง" เตรียมร่างกาย-จิตใจก่อนเทศกาลกินเจ 2567
- เทศกาลกินเจ ห้ามกินอะไรบ้าง "หอยนางรม-ทุเรียน" กินได้ไหม
กลับมาอีกครั้งกับ "เทศกาลกินเจ" อีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนในไทยและผู้ที่สนใจจะงดบริโภคเนื้อสัตว์และถือศีล เพื่อสร้างบุญจากการไม่เบียดเบียนชีวิต ปฏิบัติตนให้บริสุทธิทั้งกายและใจ รวมทั้งได้สุขภาพที่ดีกลับมา แล้วการ "กินเจ" นั้นมีสิ่งใดอีกบ้างที่ควรรู้ วันนี้มีคำตอบมาให้
"เทศกาลกินเจ" ของทุกปี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งปีนี้ 2567 ตรงกับวันที่ 3-11 ตุลาคม รวมเป็นเวลา 9 วัน
"เทศกาลกินเจ" มีอีกชื่อหนึ่งว่า "เทศกาลถือศีลกินผัก" หรือบางครั้งเรียกว่า "ประเพณีถือศีลกินเจ" โดยในช่วงเทศกาลนี้ผู้คนมักจะสวมเสื้อผ้าสีขาว จนถือเป็นสิ่งที่มักปฎิบัติกันมา เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ อีกด้วย
"เจ" คืออะไร "กินเจ" เพื่ออะไร
คำว่า "เจ" ในภาษาจีน มีความหมายว่า "อุโบสถ" หรือ การรักษาศีล 8 ของทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวัน ตามหลักศีล 8 ข้อ และเป็นการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต รวมถึงรักษาศีล โดยการกินเจ นั้นมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ
- กินเจเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น : เพราะอาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต ช่วยปรับร่างกายให้สมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ ร่างกายแข็งแรง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- กินเจเพื่อทำบุญ : เพื่อชำระจิตใจให้ใสสะอาดไม่เบียดเบียดสัตว์โลก ทำให้จิตใจผ่องใสมากขึ้น
- กินเจเพื่อละเว้นกรรม : ที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยตามหลักความเชื่อทางศาสนาพุทธ การฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรมในรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม
การกินเจมีหลักคือ
- งดเว้นเนื้อสัตว์เลย ไม่ว่า นมหรือไข่
- งดเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุ้ยช่าย ใบยาสูบ
- งดเว้นกินรสจัด และของหมักดอง
- ต้องถือศีลครบถ้วน ซึ่งหมายถึงไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ซึ่งจะต้องปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารเจ
- งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก งดผักที่มีกลิ่นฉุนทั้งหลาย แยกภาชนะสำหรับอาหารเจเท่านั้น
- รักษาศีลห้า
- รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ ไม่พูดคำหยาบคาย รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์ ทำบุญทำทาน ไหว้พระ สวดมนต์
- นุ่งขาวห่มขาวตลอดเทศกาลกินเจ และควรแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย
กินเจ อย่างไรถูกหลักโภชนาการ และไม่อ้วน
คนที่กินเจอยู่ทุกปีอาจจะคุ้นชินกับคำว่า "ล้างท้อง" ก่อนการกินเจ ซึ่งมักจะเริ่มก่อนกินเจ 2-3 วัน นั้นคือ การปรับการกิน เพื่อให้ร่างกายได้ค่อย ๆ ปรับระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อย "เนื้อสัตว์" มาเป็น "พืชผัก" แทน
อย่างที่บอก การกินเจควรให้ร่างกายได้ค่อย ๆ ปรับตัว เตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพิ่มการกินผักในมื้ออาหารให้มากขึ้น ลดปริมาณเนื้อสัตว์หรือเปลี่ยนจาก เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นการกิน ปลา ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง แทน และเมื่อกินเจก็อย่าลืมใส่ใจหลักโภชการด้วย โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้ออาหาร ประกอบด้วย โปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้ง คาร์โบไฮเดรตจากข้าวแป้ง วิตามินและแร่ธาตุ จากพืชผัก ผลไม้ และไขมันจากน้ำมันแต่พอดี
- กินโปรตีนจากพืชให้หลากหลายและเพียงพอ เช่น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด
- เลือกปรุงหรือซื้ออาหารที่มีรสชาติปานกลาง ไม่หวาน มัน เค็มจัด โดยเลือกเมนูประเภท ต้ม นึ่ง
- กินอาหารกลุ่มข้าวแป้ง เส้นต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ทำจากแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาจทำให้ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
- เลือกกินผักผลไม้สด มากกว่าของมักดอง เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง
- วัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง พืชผักควรล้างให้สะอาด
การกินเจนั้นดีต่อสุขภาพ หากเลือกกินอย่างถูกต้อง โดยเป็นการเน้นอาหารจากธรรมชาติ เช่น เต้าหู้ ผัก ผลไม้ หรือ อาหารที่มีการปรุงน้อยที่สุด
แต่ปัจจุบันใครที่ไม่สะดวกจะทำอาหารเจกินเอง สามารถหาซื้ออาหารเจจากร้านอาหารต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ในโรงเจเท่านั้น สามารถหาซื้ออาหารเจได้ทุกที่ที่มี "ธงสีเหลือง" แต่อย่างที่บอก ควรเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม นั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของตัวเราเอง
โปรตีนเกษตร ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้หรือไม่
และในช่วงกินเจ สิ่งที่มักเห็นได้บ่อย ๆ นั้นคืออาหารที่ทำจาก "โปรตีนเกษตร" แล้วโปรตีนเกษตรทำมาจากอะไร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร อธิบายว่า "โปรตีนเกษตร" ผลิตจากแป้งถั่วเหลืองพร่องไขมัน 100% จึงมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชถึง 50%
โปรตีนเกษตรจากถั่วเหลืองดังกล่าว ถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกตัว โดยเฉพาะมีไลซีนสูง และยังมีสารอาหารอื่นอีก เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม เหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี 1 และ บี 2 อีกด้วย นอกจากนี้โปรตีนเกษตรยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์
โปรตีนเกษตร ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ให้พลังงาน ด้วยเช่น คาร์โบไฮเดรต (ที่มีกากใยอาหารด้วย) ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับโปรตีน เป็นอาหารที่ให้พลังงาน (366 กิโลแคลอรี่ต่อโปรตีนเกษตร 100 กรัม) และยังมีปริมาณฟอสฟอรัสสูง ซึ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต
การรับประทานโปรตีนเกษตรมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินจำเป็น ฉะนั้นหากกินมาก ก็อาจอ้วนได้เช่นกัน
ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน คือ ไม่ควรเกิน 100-150 กรัม จะได้รับโปรตีน 50-75 กรัมต่อวัน โดยหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ เท่านั้นถึงควรจะรับประทานโปรตีนมากกว่า 75 กรัมต่อวัน
แต่หากบ้านใครที่ทำอาหารเจกินเอง หรืออาจจะเป็นบางมื้อก็แล้ว อาจเลือกวัตถุที่ถูกต้องและเป็นผลดีต่อสุขภาพได้ ดังนี้
อาหารเจกับเครื่องปรุงทดแทน
- เนื้อสัตว์ ให้แทนด้วย ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภันฑ์ เช่น โปรตีนเกษตร เต้าหูเหลือง เต้าหู้ขาว เต้าหู้หลอด น้ำเต้าหู้
- น้ำปลา ใช้แทนด้วย เกลือป่น ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไอโอดีน
- กะปิ ใช้แทนด้วย ถั่วหมัก เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้
- น้ำมันหมู ใช้แทนด้วย น้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา
- กระเทียม ใช้แทนด้วย ขิง งาขาวคั่ว น้ำพริกเจ เครื่องแกงเจต่าง ๆ
- น้ำตาลทรายขาว ใช้แทนด้วย น้ำตาลทรายแดง ไม่ผ่านการฟอกสี ให้ความหอมและรสชาติจากอ้อย
ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม
ผู้ที่กินอาหารเจ ควรระวังเรื่องความเค็มจัด โดยใน 1 วัน ควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งโซเดียมที่พบในอาหารและเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส กระปิเจ และอาหารที่ปรุงรสเค็มจัด
โซเดียมมีมากในเกลือ โดยเกลือ 1 ช้อนชา หนัก 5 กรัม มีปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งผู้ที่บริโภครสเค็มจัด มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ด้วย
ผัก-ผลไม้ 5 สี กินเจได้บุญ สุขภาพดี
ผู้กินเจสามารถเลือกกินผัก ผลไม้ หรือสมุนไพรที่ช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เช่น ขิง ขมิ้นชัน มะระขี้นก และควรเพิ่มการกินผักและผลไม้หลากหลายสีเข้าไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น
- สีขาว -น้ำตาลอ่อน : ขิง เห็ด กะหล่ำดอก ผักกากขาว เงาะ ลองกอง พุทธา ลิ้นจี่ ละมุด ให้สารแซนโทน, กรดไซแนปติก และอัลลิซิน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับไขมันในเลือด
- สีม่วง-น้ำเงิน : มันเทศสีม่วง กะหล่ำปลีสีม่วง ดอกอัญชัญ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ให้สารแอนโทไซยานิน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการทำงานของเซลล์ทำให้เสื่อมถอยน้อยลง ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ
- สีเขียว-เขียวอมเหลือง : ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักคะน้า แตงกวา กีวี่ อะโวคาโด องุ่นเขียว ฝรั่ง ให้สารคลอโรฟิลล์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ยับยั้งการเกิดริ้วรอย กินผักใบเขียวเป็นประจำ ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี
- สีเหลือง-ส้ม : ฟักทอง ส้ม ขนุน แครอต สับปะรด ให้สารลูทีน เบต้าแคโรทีน มีประโยชน์ในการช่วยรักษาสุขภาพหัวใจ หลอดเลือด ช่วยบำรุงสายตา
- สีแดง : พริกหวานแดง พริกชี้ฟ้า มะเขือเทศ ดอกกระเจี๊ยบ แตงโม ทับทิม ให้สารไลโลปีน และเบตาไซซีน ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด
แต่หากใครอยากกินเจเป็นระยะเวลานานขึ้น จะต้องศึกษาข้อมูล เลือกกินอาหารเเพื่อให้ได้โปรตีนจากธัญพืชทดแทน เช่น พืชตระกูลถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลืองซึ่งเป็นแหล่งโปรตีน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 2 ชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กรดไลโนเลอิก และไลโนเลนิก ซึ่งเป็นไขมันที่สามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือด
"เจ" กับ "มังสวิรัติ" แตกต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจมีคำถามแล้ว "เจ" กับ "มังสวิรัติ" แตกต่างกันหรือไม่ เพราะเข้าใจว่า "อาหารเจ" กับ "อาหารมังสวิรัติ" คือ อย่างเดียวกัน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้อธิบายไว้ดังนี้
คำว่า "เจ" ไว้ว่า อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี ส่วนคำว่า "มังสวิรัติ" นั้นหมายถึง การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผัก ว่า อาหารมังสวิรัติ
หรือหากจะอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจง่ายขึ้น นั้นคือ ผู้ที่กินเจสามารถกินผักทุกชนิดได้ ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย กระเทียมเล็ก ผักชี ส่วน อาหารมังสวิรัติ สามารถรับประทานพืชผักทุกชนิดได้โดยไม่มีข้อห้าม นั้นเอง
แล้ว "ไข่" ละกินได้หรือไม่นั้นมีคำอธบายว่า ผู้ที่กินเจจะกินไข่ไม่ได้ นั้นเพราะถือว่าหากรอให้ครบกำหนดเวลาฟักไข่ย่อมฟักเป็นตัว การรับประทานไข่จึงเท่ากับเป็นการรับประทานเนื้อสัตว์โดยอ้อม ส่วน อาหารมังสวิรัติ กินไข่ได้เพราะถือว่าไข่ที่บริโภคกันอยู่ทั่วไปเป็นไข่ที่ไม่มีเชื้อ
ในช่วงเทศกาล "ถือศีล กินเจ" ตลอดระยะเวลา 9 วัน เหมือนช่วยให้อวัยวะภายในร่างการได้พัก สุขภาพโดยรวมจะดีขึ้น ในส่วนของ "จิตใจ" การได้ปฎบัติดี รักษาศีล พลังใจจะเข้มแข็งขึ้น ซึ่งการดูแลร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี
อ้างอิงข้อมูล กรมอนามัย, สำนักโภชนาการ, มหาวิทยาลัยนเรศวร
อ่านข่าว : รับบำเหน็จหรือบำนาญ ? เพื่อบริหารคุณภาพชีวิตหลัง "เกษียณ"
เปิดความหมาย 5 ขนมสำคัญ "ประเพณีสารทเดือนสิบ"
ปฏิทินวันหยุดตุลาคม 2567 ปิดเทอมใหญ่ โอกาสดีพาครอบครัวเที่ยว