ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกมยื้อเวลา ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

เศรษฐกิจ
26 ก.ย. 67
11:48
564
Logo Thai PBS
เกมยื้อเวลา ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการ กังวล ค่าแรงไม่สัมพันธ์ค่าครองชีพกระทบมิติทางสังคม ขณะที่ ประธาน สสรท. มอง ประชุมค่าจ้างล่มเป็นเกมยื้อเวลาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

ผ่านมาหลายครั้งสำหรับการออกมาเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำของสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายแรงงาน ตั้งแต่การขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บ. อ้างอิงตามผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงาน ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่ครั้งนั้นกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงความเป็นไปไม่ได้

ต่อมาจึงมีการปรับข้อเรียกร้องลดลงมาเหลือ 492 บ. และต้องเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าก็เท่ากัน หากทำให้เกิดความแตกต่างจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเกิดการอพยพของแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำไปเขตค่าจ้างสูง ซึ่งตัวเลขนี้เพียงพอต่อการใช้เพียงคนเดียว ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยมีการเรียกร้องตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) เปิดเผยว่า แม้เครือข่ายแรงงานจะเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของแรงงานมาโดยตลอด แต่จนถึงวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำยังไปไม่ถึงไหน แต่ค่าครองชีพขยับไปสูงกว่าแล้ว ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ระบุต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)

แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลับมองเพียงแต่ผลกระทบที่จะเกิดกับนายจ้าง และรัฐบาลไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนครั้งที่หาเสียงเอาไว้ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่ล่ม ก็เป็นเพียงเกมการเมืองอย่างหนึ่งที่ต้องการยื้อเวลาทำให้สถานการณ์ปรับขึ้นค่าจ้างบิดเบี้ยวไป

การปรับขึ้นค่าจ้างบ้านเรา มองที่อำนาจการจ่ายของนายจ้าง แต่ไม่ได้มองบริบทด้านเศรษฐกิจ ว่าคนงานทุกข์ยากยังไง รัฐบาลก็ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ทุกพรรคช่วงหาเสียงบอกว่าจะปรับขึ้นค่าจ้าง จะลดสารพัด มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม ก็พูดไปเรื่อย


ไม่สิ้นหวังไม่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท


นายสาวิทย์ ยังเปิดเผยว่า ไม่สิ้นหวังกับการไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทในครั้งนี้ เพราะไม่ได้เป็นตัวเลขที่คาดหวังไว้แต่แรก และปัจจุบันค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเดินทางและค่าอาหาร ก็เกือบ 300 บาทแล้ว ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายรายเดือนและค่าเลี้ยงดูครอบครัว จึงเป็นที่มาให้แรงงานต้องทำโอทีและหางานทำเพิ่มแลกกับคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เพื่อให้ได้เงินที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย


ส่วนมุมมองที่ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเอื้อเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ตนเองมองว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันมีแรงงานไทยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องจำยอมกับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวนมาก หากรัฐบาลแก้ปัญหาคนกลุ่มใหญ่อย่างแรงงานไม่ได้ ประเทศชาติก็จะไม่พัฒนา แม้จะมีการแจกเงินก็ช่วยแค่คนกลุ่มน้อย

ถ้าคุณแก้ปัญหาคนกลุ่มใหญ่อย่างแรงงาน 41 ล้านคนไม่ได้ อย่าคิดจะไปแก้ปัญหาของประเทศเลย การเอาเงินไปใส่เพราะมิติมองแค่คนยากจนเนื่องจากไม่มีเงิน ผมว่าอันนี้มันผิด ถ้าคนจนไม่จนเงิน จนโอกาส จนอำนาจ จนสิทธิ สารพัด คนเข้าไม่ถึงทรัพยากร บริการสาธารณะ การศึกษา การรักษาพยาบาล อันนี้ คือ สาเหตุความจน


ค่าแรงไม่สัมพันธ์ค่าครองชีพกระทบมิติทางสังคม 

ด้าน นายกฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ผ่านมากว่า 10 ปี หลังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 8 บาท ซึ่งถือว่าน้อย สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูง ปัจจัยหนึ่งมาจากสาธารณูปโภคสาธารณะถูกควบคุมผ่านเอกชน ทำให้ภาระอยู่ที่ประชาชน

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เมื่อค่าแรงไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานแย่ลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงมิติทางสังคมทั้งความเป็นอยู่ การศึกษา และสาธารณสุข แม้จะมีสวัสดิการจากรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม และบางครั้งเข้าถึงยาก การทำงานเพิ่มขึ้นจึงเป็นทางออกในการมีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันแรงงานกว่าร้อยละ 12 ทำงานเกินสัปดาห์ละ 48 ชม.ในจำนวนนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และอนาคตมีแนวโน้มที่แรงงานจะต้องทำงานหนักขึ้น

สถานการณ์ผมคิดว่าเป็นภาพที่น่ากังวลมากในเชิงปัญหาสังคม ซึ่งมันอาจไม่ใช่แค่การทำงานรับค่าแรงและอยู่คนเดียว แต่ต้องมองเชิงโครงสร้างทั้งหมดของสังคม ถ้าค่าจ้างที่เป็นรายได้ไม่พอใช้ มันอาจจะกระทบถึงแม้กระทั่งการเข้าถึงการศึกษา และบริการสุขภาพ


นายกฤษฎา ยังมองว่า รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนแผนการพัฒนาคนที่ชัดเจน ทั้งระยะสั้นและระยาว หากควบคุมค่าครองชีพไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำ คือการปรับขึ้นค่าจ้างและสร้างต้นทุนมนุษย์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการค่าจ้าง โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างต้องมาจากแรงงานอย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้เป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานทุกคน

อ่านข่าว : "นายจ้าง" มองมุมต่าง ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 กระทบต้นทุนธุรกิจ  

สำรวจตัวเลข "ค่าแรงขั้นต่ำ" ใน-นอก กลุ่มประเทศอาเซียน 

ฝันค้างค่าแรงวันละ 400 บาท บทสะท้อน “การเมือง” บงการ   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง