ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Sitang Pilailar" ว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 ได้ไปคุยติดตามสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน รวมถึงการรับมือในฉากทัศน์ต่าง ๆ
สำหรับลุ่มน้ำวัง มีเขื่อนสำคัญ คือ เขื่อนกิ่วคอหมา ความจุ 170 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เก็บไป 189 คิดเป็น 111% และเขื่อนกิ่วลม ความจุ 106 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เก็บ 87 คิดเป็น 82% ซึ่งต้องระบายน้ำออก เพื่อความปลอดภัยของเขื่อน
เขื่อนกิ่วคอหมา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ระบายที่อัตราการไหล 150 ลบ.ม.ต่อวินาที และวันที่ 25 ก.ย. เพิ่มมาถึง 250 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีแผนจะเพิ่มไปแตะ 300 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำท่วมพื้นที่แจ้ห่ม ได้รับผลกระทบแล้ว 7 หลังคาเรือน หากปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้น้ำท่วมขยายพื้นที่มากขึ้น ซึ่งทางจังหวัดลำปางได้ระดมวางกระสอบทรายในแนวคาดว่าจะมีน้ำล้น
เมื่อเขื่อนกิ่วคอหมาเพิ่มการระบายน้ำ จะถูกส่งต่อมาที่เขื่อนกิ่วลม (ระยะเวลาน้ำไหลจากกิ่วคอหมามากิ่วลมประมาณ 12 ชม.) ทำให้เขื่อนกิ่วลมก็ต้องปรับเพิ่มการระบาย ขณะนี้ประมาณ 320 ลบ.ม. ต่อวินาที และคงต้องเพิ่มการระบายอีก หากเขื่อนกิ่วคอหมามีระดับน้ำเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พื้นที่ท้ายเขื่อนกิ่วลม อ.เมือง ลำปาง ยังไม่เกิดน้ำท่วม แต่ท่วมท่วมในพื้นที่ อ.เกาะคา ลำปาง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเขื่อนกิ่วลมแล้ว และยังรับน้ำ side flow รวมทั้งน้ำสาขา เช่น ลำนำตุ๋ย ลำน้ำจาง ลำน้ำตาล
ส่วนแม่น้ำวัง จะไปบรรจบแม่น้ำปิง ที่ ต.สบเปิง อ.สามเงา จ.ตาก จากนั้นไหลไป จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ แต่ลำน้ำปิงช่วงนั้น รองรับการไหลได้ถึงประมาณ 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเพียงพอต่อการรับน้ำจากแม่น้ำวัง จึงไม่ส่งผลให้น้ำท่วม จ.ตาก และ จ.กำแพงแพชร
ตอนนี้น้ำในกิ่วคอหมาทรง ๆ และฝนในพื้นที่หยุดแล้ว แต่อาจมีฝนได้อีกในช่วง 2-3 วันนี้ รวม ๆ ก็จะมีพื้นที่ท่วมที่แจ้ห่ม และเกาะคา
ลุ่มภาคกลาง สถานการณ์ยังไม่น่ากังวล
ขณะที่ลุ่มภาคกลาง ประมวลผลทั้งจากแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ขณะนี้สถานกาณ์ไม่มีอะไรน่ากังวล โดยแม่น้ำปิงจาก จ.เชียงใหม่ ลงเขื่อนภูมิพลทั้งหมด เพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนมีเพียงครึ่งเดียว
น้ำยมที่ท่วมที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ขณะนี้คันดินแตก และน้ำท่วมขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น หรือหากจะมาถึงเมืองสุโขทัย ก็จะโดนผันไปตะวันออก ไปลงแม่น้ำยมสายเก่า และลงบางระกำ ขณะนี้รับน้ำได้อีกประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. หรือไปลงน่าน ก็จะลงบึงบอระเพ็ด ซึ่งรับน้ำได้อีก 100 ล้าน ลบ. ม. เช่นเดียวกัน โดยน้ำไม่มาถึงภาคกลาง
ส่วนสถานการณ์ภาคกลาง ลุ่มเจ้าพระยา ขณะนี้ระบายที่เขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที และวันที่ 27 ก.ย.นี้ อาจระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากฝนจะลงภาคกลาง โดยยังเป็นไปตามแผน ซึ่งจะไหลพอดีลงอ่าวไทยช่วงที่น้ำทะเลลด คือ ช่วงวันที่ 2-3 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม จะมีน้ำท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ อ.บางบาล อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยกรมชลประทานพยายามส่งน้ำเข้าระบบชลประทานบางส่วน เพื่อไม่ให้ อ.บางบาล อ.เสนา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากนัก ส่วน กทม.ยังไม่ได้รับผลกระทบใด แต่ช่วงนี้ขอให้จับตาฝนภาคกลาง ช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต้น ต.ค. คาดว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าจะจัดการได้ เพราะยังมีพื้นที่ทุ่ง 10 ทุ่ง เป็นมาตรการสุดท้าย ร่วมกับการผันน้ำไปซ้ายขวา ตามศักยภาพการระบายของคลอง
อ่านข่าว : สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา "นครสวรรค์-ชัยนาท" น้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง
รร.ในเชียงใหม่ แจ้ง ปิดเรียนเพิ่ม - ปิดเทอม หลังเผชิญน้ำท่วม
2 ช่องทาง ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ "น้ำท่วม"