- เปิดความหมาย 5 ขนมสำคัญ "ประเพณีสารทเดือนสิบ"
- ปฏิทินวันหยุดตุลาคม 2567 ปิดเทอมใหญ่ โอกาสดีพาครอบครัวเที่ยว
คำว่า สารท (อ่านว่า สาด) เป็นคำภาษาสันสกฤตว่า ศารท (อ่านว่า สา-ระ-ทะ) แปลว่า ใหม่ สิ่งที่เกิดจากการเพาะปลูกในฤดูร้อน หรือแปลว่า ปี ก็ได้
ในประเทศที่มี 4 ฤดู เช่น ในอินเดียตอนเหนือ ฤดูสารท หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อฤดูร้อนกำลังจะหมดไป ฤดูร้อนเป็นฤดูที่พืชผลเจริญงอกงาม เมื่อย่างเข้าปลายฤดูจึงเก็บเกี่ยวพืชผล ชาวนาถือโอกาสนี้นำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญนี้จึงเรียกว่า ทำบุญสารท หรือ สารท
ประเพณีสารทเป็นความเชื่อที่แตกต่างไปแต่ละท้องถิ่น บางแห่งเชื่อว่าการทำบุญวันสารทก็เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ บางแห่งเป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากว่างภารกิจไร่นา
ในประเทศไทยเรียกการทำบุญนี้ว่า สารท หรือ สารทเดือนสิบ คือเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 ทางจันทรคติ ซึ่งมักจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.

"สารทเดือนสิบ" และ ประวัติความเป็นมา
สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมทำนา ทำไร่ เป็นอาชีพหลักในช่วงเดือน 10 ของภาคใต้เป็นฤดูฝน เป็นช่วงที่ต้นไม้หรือพืชผลทั้งหลายได้ผลผลิต พุทธศาสนิกชนเลยนำพืชผลเหล่านี้ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ตามความศรัทธาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
พุทธศาสนิกชนจะรวบรวมและนัดวันกันนำพืชผลเหล่านี้ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ตามความศรัทธา ในวันแรม 1 ค่ำ จนถึงแรม 15 ค่ำของเดือน 10 ทางจันทรคติ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
อีกทั้งด้วยความห่วงใยของพุทธศาสนิกชนว่าฝนในช่วงฤดูฝนพระภิกษุสงฆ์จะออกไปบิณฑบาตด้วยความยากลำบาก อาจจะเป็นเพราะฝนตก ดินโคลนถามถนนหนทาง ชาวบ้านเลยได้นัดหมายกันไปทำบุญ ซึ่งทำบุญในที่นี้จะเลือกวันปลายเดือน 10 คือ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เป็นวันทำบุญใหญ่

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช
ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช
ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ประเพณีสารทเดือน 10 ไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน โดย ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่าพออนุมานได้ตั้งแต่พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาสู่ดินแดนนครศรีธรรมราชและดินแดนคาบสมุทรไทยมลายู ราว พุทธศตวรรษที่ 10 ประมาณ พ.ศ.900 เป็นต้นมา
การทำบุญให้แด่พระภิกษุก็เริ่มตั้งแต่นั้นมา และการทำบุญในเดือนสิบตามจันทรคติก็กลายเป็นประเพณีการทำบุญใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอด

ระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
ผศ.ฉัตรชัย อธิบายว่า ซึ่งบรรพบุรุษ มี 2 รูปแบบ คือ กลุ่มที่ทำบาปเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ตายไปเชื่อกับว่าไปตกนรก กับกลุ่มที่ยืนอยู่ในหลักศีลธรรม ไม่เบียดเบียนผู้ใด จนตลอดชีวิตก็ทำให้มีโอกาส ได้ขึ้นสวรรค์
เพราะฉะนั้นบรรพบุรุษ 2 กลุ่มนี้ มีฐานที่อยู่ในโลกหน้า ชีวิตหลังความตายที่แตกต่างกัน
ตามความเชื่อของคนโบราณในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ ในเดือน 10 ยมบาลอนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในนรกภูมิได้กลับมาเยี่ยมเยียนลูกหลานบนโลกมนุษย์ และเป็นโอกาสที่ได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ลูกหลานเลยต้องต้อนรับ ทำบุญเพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจสร้างความโกรธและสาปแช่งได้

แก่นแท้ "ประเพณีสารทเดือนสิบ"
ประเพณีสารทเดือนสิบมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่กลายไปเป็นเปรตอยู่ในนรก เป็นการทำบุญด้วยการเอาผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ รวมถึงการจัดหมฺรับ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตเพื่อเป็นเสบียงแก่พระสงฆ์ช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน
และประเพณีเดือนสิบ ยังถือเป็นวันรวมญาติ โดยเฉพาะแรม 14 และ 15 ค่ำ ลูกหลานชาวใต้จะเดินทางกลับมาตุภูมิของตัวเอง เพื่อไปพบปะกับพี่น้อง ปู่ย่าตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อร่วมกันจัดหมฺรับ จัดหาผลไม้ ขนมต่างๆ ทั้ง 5 อย่าง จัดตกแต่งขนมเหล่านี้ให้สวยงาม ยกไปถวายวัด การไปถวายวัด เป็นการถวายพร้อมกับภัตตาหารเพื่อเป็นภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ และกรวดน้ำ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แกบรรพชนของเรา ถือว่าเป็นหัวใจของการทำบุญ

สารทเดือนสิบ 2567 ตรงกับวันอะไร
หลายท้องถิ่นจัดงานในวันแรม 1 ค่ำ เพื่อเป็นการต้อนรับบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกวันดังกล่าวว่า "วันรับตายาย" ซึ่งคำว่าตายายเป็นคำที่แทนที่ใช้เรียกบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับซึ่งปี 2567 "วันรับตายาย" ตรงกับวันที่ 18 ก.ย.2567
และในวันแรม 15 ค่ำ เป็นวันที่บรรพบุรุษจะกลับสู่นรกดังเดิม ลูกหลานจึงหาอาหาร ผลไม้ ขนมที่เก็บไว้ได้ยาวนานเพื่อให้บรรพบุรุษได้นำกลับไปยังนรกภูมิเพื่อไปใช้ชีวิตที่นรก เรียกว่า "วันส่งตายาย" ตรงกับวันที่ 2 ต.ค.2567
ทั้งนี้ในภาคใต้ จะมีประเพณีสารทเดือนสิบ ทั้ง 14 จังหวัด ศูนย์กลางจัดกิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ภาคใต้ตอนกลาง จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี
อ่านข่าว : เปิดความหมาย 5 ขนมสำคัญ "ประเพณีสารทเดือนสิบ"

ขนม 5 อย่าง หัวใจของการจัดหมฺรับ
เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า "วันหลองหมฺรับ" แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผลไม้ตามฤดูกาล จัดเป็นสำรับ หรือที่คนใต้เรียกว่า "หมฺรับ" อ่านว่า "หมับ" โดยนำใส่ภาชนะ ถาด กระเชอ หรือ กระบุง การทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อย ไม่ว่าจะเป็นพืชผล เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงสิ่งที่ใช้ปรุงอาหารในวัด โดยจัดเป็นชั้น ๆ ดังนี้
- ชั้นแรก หรือชั้นล่างสุด บรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้งลงไว้ที่ก้นภาชนะ ได้แก่ ข้าวสาร แล้วใส่พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำเปล่า น้ำตาล มะขามเปียก เครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น
- ชั้นที่ 2 บรรจุอาหารประเภทพืชผักที่เก็บไว้ได้นานใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น
- ชั้นที่ บรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูร พิมเสน ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน
- ชั้นที่ 4 หรือชั้นบนสุด บรรจุขนมสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัด "หมฺรับ" คือขนม 5 อย่าง ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายได้แก่
- ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
- ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม
- ขนมกงหรือขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
- ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินตรา
- ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น
และในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็น "วันยกหมฺรับ" พุทธศาสนิกชนต่างนำ "หมฺรับ" พร้อมภัตตาหารไปวัด การยกหฺมฺรับไปวัดอาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุกสนาน วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวด "หมฺรับ"

"ชิงเปรต" และความเชื่อ
เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" ซึ่งคำว่า "เปต" นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี ตรงกับคำว่า "เปรต" ในภาษาสันสกฤต แปลว่าผู้ไปก่อน อันหมายถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว
การ "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" ซึ่งคำว่าหลาเป็นภาษาใต้แปลว่าศาลา โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะประกอบไปด้วยขนม 5 อย่าง ผลไม้ต่างๆ รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่บรรพบุรุษชื่นชอบ
หลังตั้งเปรตแล้วพระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ก็จะกรวดน้ำเพื่อแผ่ส่วนบุญ แล้วจึงเก็บสายสิญจน์ที่ที่ตั้งเปรต
จากนั้นลูกหลานจะร่วมกัน แย่งชิงอาหารบนหลาเปรต เรียกว่า "ชิงเปรต" ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
การทำบุญในวันแรม 15 ค่ำนี้ ถือเป็นการทำบุญสำคัญ เพราะเป็นวันส่งบรรพบุรุษผู้ล่วงลับกลับสู่เมืองนรก ที่เรียกว่า "วันส่งตายาย"

"ประเพณีสารทเดือนสิบ" อดีต และ ปัจจุบัน
การเดินทางกลับมาตุภูมิของลูกหลานนอกจากจะได้ทำบุญทำธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นการรวมญาติพี่น้อง ซึ่งหลังจากการทำบุญเสร็จในช่วงบ่าย จะกลับบ้านรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว เป็นการรวมญาติกันอัตโนมัติ
ปัจจุบันนี้การเดินทางสะดวกเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันผู้คนก็มีภารกิจมากขึ้น บางครั้งอาจจะไม่ได้เดินทางกลับบ้านเกิด แต่สิ่งที่เห็นเป็นปกติคือเป็นการสนับสนุนทุนในการร่วมทำบุญ
ซึ่งถือว่ายังเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทน

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ หรือการคมนาคมการสื่อสารจะกว้างขวางไปเพียงใด แต่ว่าคนยังรำลึกถึงอยู่
อีกทั้งที่เห็นเป็นปกติคือวัยรุ่นคนรุ่นใหม่พาลูกหลานที่เป็นเด็กเข้าวัดด้วย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่เป็นพ่อแม่ ปูย่าตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีนี้ การพาเด็กไปวัดเพื่อให้เห็นการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ซึมซับ และเป็นการสอนให้อนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมไว้ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าประเพณีนี้ยังคงอยู่กับผู้คนภาคใต้ต่อไป
การทำบุญให้แด่พระภิกษุก็เริ่มตั้งแต่นั้นมา และการทำบุญในเดือนสิบตามจันทรคติก็กลายเป็นประเพณีการทำบุญใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอด
และปัจจุบัน ยังคงมีอยู่และนับวันมีมากขึ้น เพราะคนมีความเห็นว่าที่หนึ่งที่พึ่งได้นอกจากกายตนแล้ว คือ พระพุทธศาสนาที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ หลักธรรม แนวปฏิบัติขององค์พระพุทธศาสนา ทำให้คนมีความสุขขึ้นทุกครั้งที่ได้ไปทำบุญ

"ประเพณีสารทเดือนสิบ" คือซอฟต์พาวเวอร์?
ผศ.ฉัตรชัย มองว่า ต้องดูกิจกรรมทำบุญ มีองค์ประกอบคือรูปแบบการทำบุญ คือสำรับ ที่ประกอบไปด้วยขนม ซึ่งปัจจุบันการผลิตที่มีแพคเกจจิ้งที่ดี มีการเพิ่มสีสันและรสชาติของขนม มีรูปแบบเป็นของฝาก และยังดัดแปลงทำเป็นของที่ระลึกเป็นตัวแทนของประเพณี
ขนมทั้ง 5 อย่าง รวมถึงอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดี โดยเฉพาะพื้นที่นครศรีธรรมราช มีการส่งเสริมให้ซอฟต์พาวเวอร์ชนิดนี้ได้มีการขับเคลื่อนในรูปของโอท็อป สินค้า ประจำถิ่นเพิ่มขึ้น
รวมถึงการผลักดันประเพณีสารทเดือนสิบให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ทั้งนี้การทำบุญที่วัดพระมหาธาตุในวันสารทเดือนสิบ ที่ปฏิบัติต่อเนื่องมากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มาร่วมทำบุญ

facebook : เอก ลิกอร์
facebook : เอก ลิกอร์
ในปี 2466 ทางจังหวัดได้เล็งเห็นว่าสถานที่วัดพระมหาธาตุคับแคบ จึงได้มีการย้ายการจัดงานไปที่สนามหน้าเมือง กลางวันหรือช่วงเช้าเป็นการถวายหฺมฺรับ ถวายภัตตาหารเพล ตกเย็นกลางคืนจะเป็นงานรื่นเริง และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ และในปัจจุบันเปลี่ยนสถานที่เป็นสวนสาธารณะทุ่งท่าลาด
ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวทิ้งท้ายว่าการดำรงรักษางานรื่นเริงควบคู่กับการทำบุญประเพณีสารทเดือนสิบนี้ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแสดงถึงความศรัทธา เป็นแหล่งให้ความรู้ควบคู่กับเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้น แต่ยังคงดำรงแก่นแท้เช่นเดิม
รวมทั้งหวังให้มีการประกวดประชันศิลปะการแสดง ศิลปหัตถกรรม และการประกวดใหม่ๆ ที่เป็นวรรณกรรมท้องถิ่น ดนตรีพื้นเมือง และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้งานเดือนสิบเป็นเสมือนเวทีกลางในการประกวดประชันขันแข่งทางวัฒนธรรมด้วย
อ่านข่าว :
ปฏิทินวันหยุดตุลาคม 2567 ปิดเทอมใหญ่ โอกาสดีพาครอบครัวเที่ยว