ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รับบำเหน็จหรือบำนาญ ? เพื่อบริหารคุณภาพชีวิตหลัง "เกษียณ"

ไลฟ์สไตล์
25 ก.ย. 67
14:34
7,483
Logo Thai PBS
รับบำเหน็จหรือบำนาญ ? เพื่อบริหารคุณภาพชีวิตหลัง "เกษียณ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเกษียณอายุเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของ "ข้าราชการไทย" นอกจากจะสิ้นสุดภารกิจการทำงานราชการแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นการใช้ชีวิตอีกบทบาทหนึ่ง ที่มีความท้าทายการปรับตัวทั้งด้านจิตใจและการเงิน การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีคุณภาพที่ดีตาม

การวางแผนการเงินก่อนเกษียณ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ที่ข้าราชการต้องวางแผนก่อนการเกษียณเพื่อให้มั่นใจว่า จะมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยไม่เป็นภาระให้กับคนรอบข้างและสังคม โดยเริ่มจากการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ว่าเมื่อเกษียณอายุแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เช่น เงินบำนาญ, เงินสะสมจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), สิทธิในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

จากนั้นบริหารจัดการหนี้สิน หากเป็นไปได้ข้าราชการควรปลดหนี้สินให้เสร็จสิ้นก่อนเกษียณ เช่น หนี้บ้าน หนี้สินส่วนตัว และจัดทำแผนรายรับรายจ่าย เช่น ค่าครองชีพ, ค่ารักษาพยาบาล, และค่าใช้จ่ายประอื่น ๆ และประเมินรายได้ที่จะได้รับ เช่น เงินบำนาญ, เงินจากการลงทุน, หรือรายได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ

รู้จัก กบข.

กบข. หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (Government Pension Fund: GPF) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสะสมเงินเพื่อการเกษียณอายุสำหรับข้าราชการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยให้ข้าราชการมีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการมีการออมเพิ่มขึ้น และเป็นการจัดการเงินออมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทุนมากที่สุด

ข้าราชการ 14 ประเภทที่สามารถเป็นสมาชิก กบข.

  1. ข้าราชการพลเรือน
  2. ข้าราชการตุลาการ
  3. ข้าราชการอัยการ 
  4. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  5. ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
  6. ข้าราชการตำรวจ 
  7. ข้าราชการทหาร
  8. ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
  9. ข้าราชการศาลปกครอง
  10. ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  11. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  12. ข้าราชการในพระองค์
  13. ข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น
  14. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ

ทั้งนี้ ข้าราชการที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มี.ค.2540 (พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ) จะเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ แต่ข้าราชการที่เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.2540 ทุกคนต้องเป็นสมาชิก กบข.

ดังนั้น สมาชิก กบข. ทุกคนเป็นข้าราชการ
แต่ข้าราชการทุกคนไม่ใช่สมาชิก กบข.

ใครได้รับเงินบำเหน็จบำนาญปกติบ้าง ?

เมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ ผลประโยชน์อันพึงได้แยกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. ผู้เป็นสมาชิก กบข.
  2. ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.

โดยที่ทั้ง 2 ประเภท จะสามารถเลือกรับเงินเป็นบำเหน็จหรือเงินบำนาญได้นั้น ให้ดูจากอายุรับราชการและเหตุที่ออกจากราชการ เช่น

กรณีลาออกจากราชการ : หากมีเวลาราชการตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญก็ได้ แต่หากมีเวลาราชการ 10-25 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จเท่านั้น และสำหรับผู้ที่รับราชการไม่ถึง 10 ปี จะไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ แต่อาจได้เงินสะสม, เงินสมทบ และผลประโยชน์ หากเป็นสมาชิก กบข.

กรณีออกจากราชการ ซึ่งได้แก่ ทุพพลภาพ, เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์, สูงอายุ (50 ปี), ทดแทน (ยุบ ยกเลิกตำแหน่ง ให้ออกโดยไม่มีความผิด ออกนอกระบบเกษียณก่อนกำหนด) : จะสามารถเลือกรับเงินบำนาญ หรือเงินบำเหน็จ เมื่อมีอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีเวลาราชการ 1-10 ปีจะได้รับเงินบำเหน็จ และ ผู้ที่รับราชการไม่ถึง 1 ปี ไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ แต่อาจได้เงินสะสม, เงินสมทบ และผลประโยชน์ หากเป็นสมาชิก กบข.

สมาชิก กบข. จะได้รับเงิน 2 ส่วน 

ส่วนที่ 1 เงินบำเหน็จ หรือ บำนาญ (สิทธิในบำเหน็จหรือบำนาญเป็นเช่นเดิม คือขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน) จากเงินงบประมาณ ซึ่งคำนวณจาก

บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี)
บำนาญ = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี)) หารด้วย 50 

ทั้งนี้ เงินจำนวนนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ส่วนที่ 2 สมาชิกจะได้รับเงินก้อนจากกองทุนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน นับแต่เกษียณอายุหรือลาออกจากราชการซึ่งเงินก้อนนี้จะประกอบ

  • เงินสะสม หรือเงินออมของสมาชิกที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน
  • เงินสมทบ หรือรางวัลการออมที่รัฐให้
  • เงินประเดิม และเงินชดเชย เป็นเงินที่รัฐให้กับสมาชิกเพื่อชดเชยสูตรบำนาญที่จะได้น้อยลง (ชดเชยเพื่อไม่ให้ผู้เป็นสมาชิก กบข. เสียเปรียบคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก) เงินนี้มีเงื่อนไขว่าจะจ่ายให้สมาชิกเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญเท่านั้น หากสมาชิกที่เลือกรับบำเหน็จจะไม่ได้รับเงินประเดิมและเงินชดเชย เพราะไม่มีการเปลี่ยนสูตรบำเหน็จ
  • ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารเงินดังกล่าว

ผู้ที่ไม่เป็นสมาชิก กบข.

เงินบำนาญ นำเงินเดือน ๆ สุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50 
เงินบำเหน็จ ให้นำเงินเดือน ๆ สุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ โดยคำนวณได้เท่าไรก็จะได้รับไปทั้งหมด

สวัสดิการจากรัฐดูแลหลังวัยเกษียณ

สำหรับข้าราชการที่ออกจากราชการแล้วนั้น ไม่เฉพาะเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญเท่านั้นที่ได้รับหลังสิ้นสุดชีวิตราชการ แต่สวัสดิการ ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่รัฐยังสนับสนุนให้นั้น สำหรับผู้ที่เลือกรับ "เงินบำนาญ" จะได้สิทธิ์ดังต่อไปนี้อีกด้วย

1.สิทธิรักษาพยาบาล ผู้รับเงินบำนาญมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลของตนเองและบุคคลในครอบครัวที่ชอบด้วยกฎหมาย (บุตรไม่รวมบุตรบุญธรรม ได้สิทธิ 3 คน อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง คู่สมรสตามกฎหมาย บิดาและมารดา) "ค่าตรวจสุขภาพประจำปี" เบิกได้เฉพาะผู้มีสิทธิ ไม่รวมบุคคลในครอบครัว ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด และสิทธิรักษาพยาบาลจะสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าของสิทธิ์เสียชีวิต

2.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร ผู้รับเงินบำนาญมีสิทธิ นำเงินบำรุงการศึกษาหรือเงินค่าเล่าเรียนของบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มาเบิกกับทางราชการ

บุตร หมายถึง บุตรชอบด้วยกฎหมายอายุ 3-25 ปี แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม และบุตรซึ่งบิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น และเป็นบุตรคนที่ 1-3 โดยนับเรียงลำดับการเกิดก่อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งใด และอยู่ในความปกครองของใคร

3.ยกเว้นเงินได้เสียภาษี 190,000 บาท ข้าราชการบำนาญที่มีอายุ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภทที่ได้รับรวมกัน ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษี 

การเสียสิทธิ์รับเงินบำนาญ

ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.2551 เป็นต้นไป ผู้รับเงินบำนาญจะเสียสิทธิ์รับเงินบำนาญหากกระทำ ดังนี้

  1. กระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาโทษจำคุก
  2. เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

กรณีข้าราชการบำนาญเสียชีวิต

สิทธิประโยชน์ที่ทายาทได้รับมี 5 ข้อ ดังนี้

  1. เงินบำเหน็จตกทอดให้ทายาท = (เงินบำนาญ + เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) (ถ้ามี)) x 30 เท่า - (บำเหน็จดำรงชีพที่รับไป) มอบให้แก่ทายาทตามกฎหมาย บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือผู้แสดงเจตนาไว้
  2. เงินช่วยพิเศษ (ค่าทำศพ) = (เงินบำนาญ + เงิน ชคบ. (ถ้ามี)) x 3 เท่า มอบให้แก่ 
    • ผู้ที่แสดงเจตนาไว้
    • คู่สมรส
    • บุตร
    • บิดา มารดา (ตามลำดับที่ผู้รับเงินบำนาญได้ระบุไว้)
  3. ได้รับเงินช่วยค่าทำศพจากสหกรณ์กรมพัฒนาที่ดิน 40,000 บาท (กรณีเป็นสมาชิก) ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย.2564
  4. ได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์กรมพัฒนาที่ดิน (กรณีเป็นสมาชิก)
  5. มีสิทธิขอพระราชทานเพลิงศพ ยกเว้นผู้เสียชีวิตฆ่าตัวตาย ไม่สามารถขอพระราชทานเพลิงศพ

ควรเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ ?

การเลือกว่าจะรับ "เงินบำเหน็จ" หรือ "เงินบำนาญ" หลังเกษียณหรือลาออกจากราชการนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเงินและความต้องการของแต่ละบุคคล เนื่องจากทั้ง 2 แบบมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน การพิจารณาว่าแบบใด "ดีกว่า" นั้น ควรพิจารณาตามเงื่อนไขชีวิตและแผนการใช้ชีวิตสิ้นสุดอาชีพข้าราชการ

ข้อดี-ข้อเสียของเงินบำเหน็จ 
การได้รับเงินก้อนใหญ่ทันที ทำให้สามารถใช้เงินก้อนนั้นไปลงทุน, ปลดหนี้สิน, หรือวางแผนการใช้เงินในแบบที่ตนเองต้องการได้อย่างอิสระ แต่หากไม่มีการวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบหรือการลงทุนที่ดี อาจทำให้เงินหมดเร็วและขาดรายได้ในระยะยาว หรือหากไม่มีรายได้อื่นมาเสริม เงินก้อนใหญ่ที่ได้อาจหมดไปในระยะเวลาสั้น และอาจทำให้ขาดเงินใช้จ่ายในอนาคต

ข้อดี-ข้อเสียของเงินบำนาญ
เงินบำนาญให้ความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ เนื่องจากจะมีรายได้เข้ามาทุกเดือนตลอดชีวิต ผู้รับไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารเงิน หากมีอายุยืนยาว การได้รับเงินบำนาญจะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากยังคงมีรายได้ทุกเดือนแม้ผ่านไปหลายปีหลังเกษียณ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเงินก้อนใหญ่สำหรับการลงทุนหรือจ่ายหนี้สิน การรับเงินบำนาญอาจไม่ตอบโจทย์ หรือหากเสียชีวิตเร็ว ไม่ว่าจะจากสุขภาพแย่ โรคภัยไข้เจ็บ หรือ อุบัติเหตุ เงินที่ได้อาจน้อยกว่าบำเหน็จ

ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการตัดสินใจ

  • ภาระหนี้สินและความต้องการเงินก้อน หากมีภาระหนี้สินหรือความต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น เพื่อปลดหนี้หรือเริ่มธุรกิจ การรับเงินบำเหน็จอาจเหมาะสมกว่า
  • แผนการลงทุนและความสามารถในการจัดการเงิน หากมีแผนการลงทุนหรือการจัดการเงินอย่างชัดเจน การรับเงินบำเหน็จอาจช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมในอนาคต แต่หากไม่มั่นใจในการบริหารเงิน การรับเงินบำนาญที่มีรายได้ประจำทุกเดือนจะปลอดภัยกว่า
  • สุขภาพและอายุขัยที่คาดหวัง หากคาดว่าจะมีอายุยืนยาว การรับเงินบำนาญอาจเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่า แต่หากมีปัญหาสุขภาพ การรับเงินบำเหน็จอาจเหมาะสมกว่า
  • ความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว หากครอบครัวมีความมั่นคงทางการเงินและไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินบำนาญ การรับเงินบำเหน็จอาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้เงิน
การตัดสินใจระหว่างการรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญควรพิจารณาตามสถานการณ์ทางการเงิน แผนการใช้ชีวิต และความต้องการส่วนบุคคล

อ่านข่าวอื่น :

164 ปางช้างตื่นตัวยื่นขอใบอนุญาตรับรองมาตรฐาน

แนะ 120 วันศึกษากม."สมรสเท่าเทียม" ชี้ผูกพันอาญา-แพ่ง

แห่กดเงินสด 10,000 บาท ต่อลมหายใจ ซ่อมบ้าน - จ่ายค่าเทอมลูก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง