ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำรวจตัวเลข "ค่าแรงขั้นต่ำ" ใน-นอก กลุ่มประเทศอาเซียน

เศรษฐกิจ
23 ก.ย. 67
18:02
5,273
Logo Thai PBS
สำรวจตัวเลข "ค่าแรงขั้นต่ำ" ใน-นอก กลุ่มประเทศอาเซียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

1 ต.ค.2567 ไทยจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากเดิมเฉลี่ย 330-370 บาทต่อวัน เป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ มีการประเมินกันว่า หลังมีการปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจาก เวียดนาม กัมพูชา และลาว

ในขณะเดียวกัน ค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มประเทศอาเซียน ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง อิสราเอล ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ทำให้แรงงานไทย มีความต้องการจะเดินทางไปขายแรงงานอยู่ไม่น้อย

หากส่องเฉพาะ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยต่อวันใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน พบว่า ค่าแรงต่อวัน ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยแต่ละจังหวัดและภูมิภาค จะมีอัตราค่าจ้างต่างกันออกไป บางประเทศ เช่น บรูไน และ สิงคโปร์ ไม่มีการประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะที่ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และลาว ค่าแรงจะถูกกว่า มาเลเซีย และ ไทย

"อินโดนีเซีย" ค่าแรงเฉลี่ยวันละ 159 บาท

ในเขตเมืองหลวงจาการ์ตา ค่าจ้างขั้นต่ำตกเดือนละ 325 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,960 บาท ทั้งนี้ แต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค จะมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกันไป เขตที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด คือ กรุงจาการ์ตา  ส่วนเขตที่ได้อัตราต่ำสุด ได้แก่ เขตชวากลาง ค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 130 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 4,784 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 159 บาท

รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่งประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นมา กรุงจาการ์ตา เมืองหลวง ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ 3.38 จากเดิมเดือนละ 4,901,798 รูเปียห์ เป็น 5,067,381 รูเปียห์ (325 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11,960 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36.80 บาท) โดยค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 398 บาท/วัน

"มาเลเซีย" ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 393 บาท

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนติดกันเพียงแม่น้ำโก-ลก กั้น ค่าจ้างขั้นต่ำในมาเลเซียอยู่ที่เดือนละ 1,500 ริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยราว 11,790 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต = 7.86 บาท) เริ่มมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 ค่าจ้างรายชั่วโมงอยู่ที่ 7.21 ริงกิต หรือประมาณ 56 บาท มาเลเซียปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 25 จากเดิมเดือนละ 1,200 ริงกิตในปี 2565 เป็นเดือนละ 1,500 ริงกิตในปีที่ผ่านมา โดยค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 393 บาท/วัน

"ฟิลิปปินส์" ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ229.34 บาท

มาที่เมืองตากาล็อก ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 186.97 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หรือคิดเป็นเงินไทย 6,880 บาท เฉลี่ยวันละ 229.34 บาท ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค และประเภทของการจ้างงาน ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 229.34 บาท/วัน

"กัมพูชา" ราคาแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 250.24 บาท

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกัมพูชาซึ่งปรับปรุงใหม่และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 (ข้อมูลอ้างอิง wageindicator.org) ได้มีการปรับขึ้น คือ ค่าจ้างคนงานทดลองงาน (probationary worker) เพิ่มจากเดือนละ 198 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 202 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,433.60 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36.8 บาท) เฉลี่ยวันละ 247.78 บาท ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำคนงานทั่วไป (regular employee) เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 204 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,507 บาท เฉลี่ยวันละ 250.24 บาท

"เวียดนาม" ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 250 บาท

ปัจจุบัน เวียดนามมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 4.68 ล้านดอง/เดือน หรือประมาณ 235.92 บาท ในเขตเมืองหลวงกรุงฮานอย แต่ในเดือน ก.ค.2567 ที่ผ่านมา เวียดนามจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนรอ้ยละ 6 จากฐานปี 2565 ตามข้อเสนอของสภาค่าจ้างแรงงานแห่งชาติ หรือ National Wage Council โดยแบ่งเป็น 4 เขตภูมิภาค ดังนี้ (ข้อมูลอ้างอิง https://www.vietnam-briefing.com/) โดยค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 250 บาท/วัน

เขต 1 เพิ่มจาก เดือนละ 4.68 ล้านดอง หรือ 192.33 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 203.87 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,502.40 บาท เฉลี่ยวันละ 250 บาท

เขต 2 เพิ่มจาก เดือนละ 4.16 ล้านดอง หรือ 170.96 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 181.22 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,668.80 บาท เฉลี่ยวันละ 222.29 บาท

เขต 3 เพิ่มจาก เดือนละ 3.64 ล้านดอง หรือ 149.59 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 158.57 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,835.37 บาท เฉลี่ยวันละ 194.51 บาท

และเขต 4 เพิ่มจาก เดือนละ 3.25 ล้านดอง หรือ 133.56 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 141.28 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,199.10 บาท เฉลี่ยวันละ 173.30 บาท

"ลาว" ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 100.58 บาท

ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2566 สำนักนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว) มีการอนุมัติให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับผู้ใช้แรงงาน จากเดิม 1.3 ล้านกีบ เป็น 1.6 ล้านกีบ/เดือน หรือราว 82 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 3,017 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36.80 บาท) หรือ เฉลี่ยวันละ 100.58 บาท

และเป็นการปรับขึ้นค่าแรงครั้งที่ 3 หลังปรับขึ้นค่าแรงล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.2565 เพื่อสู้ปัญหาเงินเฟ้อและเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายนี้ครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท ทั้งพนักงานเก่าและพนักงานใหม่

"เมียนมา" ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 101.56 บาท

รัฐบาลเมียนมา ได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ทั่วประเทศครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังเหตุการณ์ รัฐประหาร โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 จ๊าด/วัน หรือราว 2.76 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 101.56 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36.80 บาท) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากอัตราเดิม 4,800 จ๊าด ในปี 2561 สำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน

ส่วนสิงคโปร์ และบรูไน เป็นประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เฉพาะที่ สิงคโปร์ พบว่ารายได้ขั้นต่ำของคนในสาขาอาชีพต่าง ๆ แตกต่างกันไป โดยในปี 2567 ได้ทยอยปรับขึ้นค่าจ้างตั้งแต่ มิ.ย.ที่ผ่านมา เช่น พนักงานภาครัฐ จะมีเงินเดือนขึ้นต่ำเริ่มที่ 1,500-2,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 41,130-103,040 บาท, หรือเงินเดือนขึ้นต่ำของพนักงานทำความสะอาดอยู่ที่ 1,570-2,410 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทย 43,049-66,082 บาท เป็นต้น

ขณะที่ประเทศบรูไน กรมแรงงานบรูไน มีการจ้างงานใหม่ว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำปี 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2566 กำหนดให้ปรับขึ้นค่าแรงเป็นระยะ ๆ เป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคการธนาคารและการเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ข้อมูลจาก https://www.linkedin.com/)

โดยพนักงานเต็มเวลา มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 500 ดอลลาร์บรูไน/เดือน หรือคิดเป็นเงินไทย 13,760 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์บรูไน = 27.52 บาท) ส่วนพนักงาน part time จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่ 2.62 ดอลลาร์บรูไน/ชั่วโมง

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ปี 2566 ระบุว่า สำหรับประเทศปลายทางมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานมากที่สุด มี 4 ประเทศ คือ ไต้หวัน จำนวน 49,820 คน, อิสราเอล จำนวน 25,887 คน, เกาหลีใต้ จำนวน 18,962 คน และญี่ปุ่น จำนวน 8,570 คน

สำหรับค่าแรงที่ไต้หวัน คนงานได้รับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 1,043.38 บาท หลังจากเมื่อวันที่ 1 ม.ค2567 กระทรวงแรงงานไต้หวัน ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจากเดือนละ 26,400 ดอลลาร์ไต้หวัน เป็น 27,470 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือคิดเป็นเงินไทย 31,315 บาท เฉลี่ยวันละ 1,043.38 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ปรับเพิ่มจากชั่วโมงละ 176 ดอลลาร์ไต้หวัน เป็น 183 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือเพิ่มจาก 200.64 บาท เป็น 208.62 บาท/ชั่วโมง

ส่วนประเทศอิสราเอล ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เฉลี่ยวันละ 1,938.16 บาท ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย 2567 เป็นต้นมา อิสราเอลได้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรายเดือนจาก 5,571 เชเกล เป็น 5,880.02 เชเกล หรือคิดเป็นเงินไทย 58,145 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 เชเกล = 9.88 บาท) เฉลี่ยวันละ 1,938.16 บาท ทั้งนี้สกุลเงินของอิสราเอล คือ นิวเชเกลอิสราเอล (New Israel Shekel)

เกาหลีใต้ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยชั่วโมงละ 265.12 บาท โดยเกาหลีใต้ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 จากชั่วโมงละ 9,620 วอน เป็น 9,860 วอน หรือคิดเป็นเงินไทย 265.12 บาท/ชั่วโมง

ญี่ปุ่น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยชั่วโมงละ 238.83 บาท เป็นการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาคและประเภทอุตสาหกรรม มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 โดยค่าแรงขั้นต่ำถัวเฉลี่ยประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 961 เยน หรือราว 6.49 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 238.83 บาท/ชั่วโมง เมืองโตเกียวเป็นเขตที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด คือ 1,113 เยน หรือราว 262.91 บาท/ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย เมื่อปี 2566 จนถึงปัจจุบัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยขยายการตลาดแรงงานไทย ไปยังประเทศใหม่ ๆ นอกเหนือจากที่กล่าว เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ และแรงงานที่มีทักษะเฉพาะที่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และออสเตรเลีย

อ่านข่าว

ไม่เหมาะสมคอนเทนต์ "ลีน่า จัง" ตะโกนปลุก "หมูเด้ง" ขอตร.เสริม

กรมอุทยานฯ ปล่อยสัตว์ป่าของกลางสิ้นสุดคดีคืนธรรมชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง