ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"นายจ้าง" มองมุมต่าง ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 กระทบต้นทุนธุรกิจ

เศรษฐกิจ
23 ก.ย. 67
18:10
2,293
Logo Thai PBS
"นายจ้าง" มองมุมต่าง ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 กระทบต้นทุนธุรกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังคงคาราคาซัง สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 9/2567 เพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท หลังการประชุมล่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตัวแทนราชการไม่เข้าประชุม 4 คน และลูกจ้างไม่เข้า 2 คน จึงทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่จะต้องมีผู้เข้าประชุม 10 คนขึ้นไป

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงในเดือนต.ค.2567 มีเสียงที่เห็นแย้งและเห็นต่างในการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว โดยฝั่งที่คัดค้านมองว่าจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังการจ้างงาน การลงทุน รวมถึงส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ ผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอาจมีไม่มากนัก

"กสิกรฯ"ชี้ ขึ้นค่าแรงกระทบต้นทุนพุ่ง

ศูนย์วิจัย กสิกรไทย ทำการวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมากให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนสูง เช่น ภาคเกษตร งานในครัวเรือนส่วนบุคคล และที่พักและบริการด้านอาหาร

ทั้งนี้ไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ปี 2567 รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 16% จากค่าเฉลี่ยในระดับปัจจุบัน (ณ พ.ค.2567) ที่ราว 345 บาทต่อวัน

การปรับขึ้นค่าจ้างพร้อมกันทั่วประเทศครั้งที่สองของไทย และจะเป็นครั้งที่สามที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างนับตั้งแต่ต้นปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท โดยเฉพาะภาคธุรกิจจะมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 6% (คำนวณจากข้อมูลปลายปี 2566 ที่มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของลูกจ้างทั้งหมด)

ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) เช่น ภาคเกษตร การบริการด้านอื่น ๆ งานในครัวเรือนส่วนบุคคล ที่พักแรมและบริการอาหาร และก่อสร้าง จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 8-14%

นอกเหนือจากการปรับค่าจ้างแรงงานตามค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว บางธุรกิจอาจมีต้นทุนแรงงานในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อิงกับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม ซึ่งคงขึ้นอยู่กับโครงสร้างการจ่ายค่าจ้างของแต่ละธุรกิจ โดยกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง

เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีระดับแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ 330-370 บาทต่อวัน จากการปรับทั้งประเทศครั้งล่าสุด 1 ม.ค. 2567 ส่งผลให้ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ประกอบการอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

"บิ๊กเอกชน" เผยนายจ้างหลายจังหวัดค้านหนัก

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าสนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงตามกรอบของกฎหมายที่มีคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการฯ แต่ทั้งนี้ จากการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด มีข้อมูลชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท

ข้อร้องเรียนของภาคเอกชน คือ ควรไปปรับขึ้นปีหน้า เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เดิมทำปีละ 1 ครั้ง ไม่ใช่ 3 ครั้งต่อปี แต่ปีนี้มีการปรับขึ้นไปค่าแรงไปแล้ว 2 ครั้ง ดังนั้นไม่ควรมีการปรับอีก ซึ่งก็คงต้องให้ต้องให้เป็นไปตามกลไกของกฎหมาย หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะปรับ ก็น่าจะมีเสียงสะท้อนออกมาจากภาคเอกชนอีกแน่

ขณะที่แหล่งข่าวจากตลาดแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท คนที่ได้ประโยชน์จริง คือ แรงงานข้ามชาติที่ได้เงินเพิ่มอีก 50 บาท และคนพวกนี้ก็ขนเงินกลับประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีสายป่านสั้น เตรียมตัวตายได้ และหากรัฐบาลยืนยันว่าจะยังคงขึ้นค่าแรง 400 บาทตามที่หาเสียงไว้ ส่วนตัวมองว่าบริษัทน่าจะไม่ปรับขึ้นและจะมาบังคับให้เอกชนปรับขึ้นคงไม่ได้

อยากฝากถึงรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องนโยบายค่าแรง ต้องดูดีๆ เพราะจริงๆแล้ว สถานการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ยังคงไม่ฟื้นตัว ทั้งต้นทุนที่สูง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังมีปัจจัยลบอย่างค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงเชื่อว่าจะมีปัญหากระทบเป็นห่วงโซ่ตามมาอย่างมาก

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ว่า การปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลนั้นต้องเป็นไปตามกลไกกฎหมาย ซึ่งหากผลของคณะกรรมการไตรภาคีออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพข้อยุติของไตรภาคี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

วอน "การเมือง"หยุดใช้ค่าแรง เครื่องมือหาเสียง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดใจกับ "ไทยพีบีเอส ออนไลน์" การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ส่งผลกระทบแน่นอน และที่ผ่านมาภาคเอกชนเคยเสนอทางออกเพื่อลดผลกระทบรอบด้านไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ปรับยุทธศาสตร์แบบขั้นบันได และค่อยเป็นไป ไม่ใช่ในลักษณะปรับรวดเดียวแบบก้าวกระโดด 400 บาททั่วประเทศ

โดยควรกำหนดให้เป็นกลยุทธ์ หรือวางแผนทำเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว แยกประเภทเป็นกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจที่สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ทันที ,กลุ่มที่ต้องใช้เวลาปรับตัว 6-12 เดือน และกลุ่มที่ใช้เวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งรัฐบาลจะทำอย่างไร ดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร ต้องมีแผนให้ชัดเจน โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาในภายหลัง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

นอกจากนี้รัฐบาลควรมี โรดแมปหรือแผนปรับขึ้นค่าแรง เช่น จาก ค่าแรง 400 บาท จะขึ้นเป็น 420 ,450, 470, 480 หรือ 500 บาท รัฐบาลต้องชัดเจนและอย่าใช้ค่าแรงเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง เพราะผู้ได้รับผลกระทบ คือ ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาครัฐไม่ได้มาจ่ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตรงนี้

เราไม่คัดค้านการขึ้นค่าแรง แต่ต้องมียุทธศาสตร์ สำหรับกลุ่ม SME เล็ก ๆ พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่มีลูกน้อง ขายได้วันละไม่กี่ร้อยบาท แต่ต้องมาแบกรับต้นทุนตรงนี้

ประธานสหพันธ์SMEs กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าแรง ต้องให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ เช่น การปรับ 400 บาท เป็นการปรับจากฐานล่างหรือฐานบน ตัวเลขฐานบนปรับครั้งล่าสุดอยู่ที่ 370 บาท ส่วนฐานล่าง 330 บาท ถ้าปรับที่ฐานล่าง จาก 330 ขึ้นไป 400 บาท เป็นการกระชากแรงมาก แต่ถ้าปรับจากฐานบน 370 บาทเป็น 400 บาท ผู้ประกอบการก็อยู่ยากเช่นกัน แต่อาจจะกระทบน้อย แต่ไม่ใช่ขึ้นทั่วประเทศ 400 บาท เพราะเหวี่ยงแหเกินไป ดังนั้นควรเจรจาในไตรภาคี

หวั่น "แรงงานนอกระบบ"ไม่ได้รับความเป็นธรรม

สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีปัญหา และไม่ได้รับความเป็นธรรม คือ แรงงานนอกระบบ และภาคเกษตร ประมาณ 20 ล้านคน เป็นแรงงานภาคเกษตร 58 % ภาคการค้าส่งค้าปลีก 17% และภาคบริการร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม 8 % และภาคการผลิต 4-5 % ที่เหลือภาคก่อสร้าง

แม้ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ SME ไทยเสนอไปยังกระทรวงแรงงาน ให้ใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคี นำกลุ่มนักธุรกิจ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นเพื่อกระจายโอกาส และมีพื้นที่ที่จะกำหนดอนาคต ออกแบบรายได้ให้กับท้องถิ่นของตัวเอง

ยังไม่มีการตอบรับ ส่วนการให้ความช่วยเหลือของรัฐ เช่น มาตรลดค่าครองชีพ ก็ควรให้ทั้งสองฝ่าย เพราะเดือดร้อนเหมือนกัน

ปัจจุบันแรงงานไทยทั่วประเทศมีจำนวน 38 ล้านคน จำนวนนี้จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา 16 ล้านคน 42% จบแต่ประถมหรือต่ำกว่าประถม คือ วิกฤติของประเทศ ขณะที่มีแรงงานต่างด้าวในประเทศประมาณ 2 ล้านคน จึงมีคำถามว่า การปรับค่าแรง 400 บาท ผู้ได้รับประโยชน์จริง ๆ คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบใช่หรือไม่

ประธานสหพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องทรานส์ฟอร์มหรือการเปลี่ยนแปลงแรงงาน โดยมีระบบจูงใจให้แรงงานและเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบ ให้เข้าระบบ และส่งเสริมและอัพสกิลคู่ขนานไปพร้อมกัน เพราะเอสเอ็มอีจะเติบโตขึ้นได้ต้องอาศัยและพึ่งพาแรงงานในการโตไปด้วยกัน

การจะพัฒนาแรงงานให้ยั่งยืน ภาครัฐต้องรับฟังความคิด และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆที่เกิดขึ้น สิ่งที่อยากเห็นเรื่องการปรับค่าแรง คือ การรับฟังเสียงเอสเอ็มอีรายย่อย ดึงแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งม.33 ม.39 และม.40 เข้ามาทั้งหมด และมีมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน

SME ไทยชี้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ประธานสหพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวอีกว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ปัจจุบันต้นทุนค่าขนส่ง พลังงาน ไฟฟ้า เป็นปัจจัยหลักของผู้ประกอบการ และเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของแรงงานด้วย ถ้ารัฐบาลสามารถดูแลต้นทุนโครงสร้างพลังงานได้ก็จะลดค่าครองชีพได้ระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันสัญญาณหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งให้แรงงานเริ่มมีให้เห็นยิ่งมาเจอเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซ้ำเติมยิ่ง ทำให้แรงงานอาจจะไม่มีขีดความสามารถในอยู่ในระบบการเงินได้ในอนาคต

ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการMicroSME ในปัจจุบัน คือ การเข้าไม่กลไกการพัฒนาของภาครัฐ เป็นลูกจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างช่วง และผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความล้าสมัยที่จะพัฒนาคนของตัวเอง บางส่วนใช้แรงงานจนพลาดโอกาสในการพัฒนาแรงงานของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและตัวผู้ประกอบการทำได้ คือ ส่งเสริมพัฒนาฝีมือ ในรูปแบบการเทรน์นิ่งในรูปแบบต่าง ๆ

สำหรับผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับค่าแรง 400 อาจจะดีใจเพราะช่วยลดผลกระทบค่าใช้จ่าย แต่ฟากผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีกำไรไม่มากพอที่จะจ่ายค่าแรงได้ อาจกระทบหนัก เพราะผู้ประกอบการกว่า 50% เป็นเกษตรกร ค้าขาย และกลุ่มนี้เกือบ 40-50 % เป็นหนี้นอกระบบ

นี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากฝั่งผู้ประกอบการที่หากรัฐบาลยังคงทู่ซี้เดินหน้าปรับขึ้น แน่นอนว่าการรับขึ้นค่าแรง คนที่ได้ประโยชน์คือลูกจ้าง แต่อย่างลืมว่า นายจ้างที่ไม่ได้มีสายป่านยาวอาจได้เห็นSME ,MicroSME ล้มหายตายจากไปจากระบบธุรกิจได้ คงต้องลุ้นว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลแพทองธาร จะตัดสินใจไปในทิศทางใด

 อ่านข่าว:

ปรับค่าแรง 400 บาท นายจ้างต้องใจกว้าง ค่าครองชีพสวนทาง

 เปิดใจ "แสงชัย" ค่าแรง 400 บาท อย่ากระชากแรงจน SMEs ล้มตาย

ขึ้นค่าแรง 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค.67 เลื่อนประชุมบอร์ดไม่มีกำหนด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง