ปรับค่าแรง 400 บาท นายจ้างต้องใจกว้าง ค่าครองชีพสวนทาง

เศรษฐกิจ
23 ก.ย. 67
17:01
74
Logo Thai PBS
ปรับค่าแรง 400 บาท นายจ้างต้องใจกว้าง ค่าครองชีพสวนทาง

ปี 2547 อัตราค่าแรงขั้นต่ำของมนุษย์งานอยู่ที่วันละ 133-170 บาท แม้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาจะมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในปี 2567 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 330-400 บาท ตัวเลขการจ้างงานเมื่อเดือน เม.ย.2567 เฉพาะเขตกรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย วันละ 330-370 บาท และได้มีการนำร่องปรับขึ้นค่าแรงใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวไปแล้ว และวันที่ 1 ต.ค.นี้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศเป็นวันละ 400 บาท

ท่ามกลางกระแสความเห็นต่าง ระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อฝ่ายนายจ้างเห็นว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง เกรงจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ฝั่งลูกจ้างมองว่า ค่าแรงยังไม่ได้ขยับขึ้นก็จริง แต่ปัจจุบันค่าครองชีพได้ปรับขึ้นไปรอล่วงหน้า สวนทางกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคนงานที่รับค่าจ้างแรงขั้นต่ำ

นายสาวิตต์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) อธิบายในมุมของลูกจ้างว่า การปรับขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท อยู่บนเงื่อนไขหลักการในสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริง ปัจจุบัน ราคาสินค้าได้ปรับตัวสูง หากกำลังซื้อไม่มี ด้วยเหตุรายได้หรือรายรับไม่พอ ถามว่า รัฐบาลจะไปฟื้นฟูและพัฒนาประเทศอย่างไร หากประชาชน ไม่มีรายได้ เป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่การส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศก็ลำบาก เนื่องจากสถานการณ์โลกก็มีปัญหา ทั้งสงครามเศรษฐกิจและการสู้รบ การแก้ไขก็ต้องเพิ่มรายได้ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มค่าจ้างการจ้างงาน

"ค่าจ้างและรายได้ของคนทำงาน ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่เพิ่ม เพราะสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้ปรับขึ้นไปรอล่วงหน้าหมดแล้ว การขึ้นค่าแรง เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ในระยะยาว ซึ่งจะมีผลทางจิตวิทยาด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้ คนเล็ก คนน้อย SMEs อยู่กันไม่ได้ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด มาเจอปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม อุทกภัย จะทำอย่างไร หากไม่มีการจ้างงาน"

ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ย้ำว่า หากมองภาพรวมด้านเศรษฐกิจ การขึ้นราคาค่าจ้างอย่างเดียวไม่พอ ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้า และทำให้พลังงานถูกลง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ หรือแก๊สในครัวเรือน ค่าขนส่ง ค่ากระแสไฟฟ้าที่รัฐไปทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมาบีบบังคับประชาชนให้ซื้อในราคาที่แพง หรือนโยบายทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็ยังทำไม่ได้ ขณะที่รถเมล์ บนท้องถนน มีจำนวนลดลง ปล่อยให้รถเอกชน เข้ามาทำหน้าที่แทน ขสมก. ตรงนี้ทำให้ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายแพงที่ขึ้น

"...การแจกเงินหมื่น ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการแก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราว ไม่ได้อะไร แม้ชาวบ้าน พ่อค้า แม้ค้า บางส่วนอาจได้ก็จริง แต่ระยะยาว คือ การเพิ่มหนี้ให้กับทุกคน แทนที่รัฐจะเอาเงินไปใส่ในระบบ เพื่อให้เกิดกำลังซื้อ ที่สุดแล้วเงินเหล่านี้ก็ไม่ได้ตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ปรับขึ้นค่าจ้าง จะต้องทำควบคู่กับการทำให้ราคาพลังงานลดลง ซึ่งเชื่อว่าจะได้ทั้งหมด คือ ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน"

นายสาวิตต์ ยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้ทำให้แรงงานต่างด้าว ได้ประโยชน์มากกว่าแรงงานไทย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีเพียง 2-3 ล้านคนเท่านั้น และแรงงานส่วนใหญ่ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะลูกจ้างภาครัฐ หลายหน่วยงาน ยังไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะพนักงานจ้างเหมาหรือลูกจ้างตามกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ใรความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะกฎหมายแรงงาน ไม่ได้ใช้บังคับกับลูกจ้างของรัฐ ดังนั้นจะหากจะบอกว่า การขึ้นค่าแรงจะเอื้อประโยชน์ให้กับแรงงานต่างด้าวมากกว่าคนไทย ไม่จริง

ยิ่งไปกว่านั้น หากไปศึกษาข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในภาคเกษตรจะพบว่า การจ้างงานไม่ได้อยู่วันละ 400 บาท แต่ราคาค่าจ้าง/วัน ราคาอยู่ที่ 700-800 บาท แต่ตรงนี้เป็นเหตุ หรือข้ออ้าง ทำให้ไม่อยากปรับขึ้นค่าจ้างมากกว่า

การปรับขึ้นค่าแรงอาจจะมีผลทำให้ผู้ประกอบการแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว และอาจทำให้ปิดโรงงาน หรือกิจการที่ทำอยู่ หรือย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อื่น เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือลาวที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า ประเด็นดังกล่าว สาวิตต์ บอกว่า ถกเถียงกันมานานแล้ว และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งในข้อเท็จจริง เคยหารือกับฝั่งผู้ประกอบการ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SMEs บอกให้ สสรท.มาช่วยกัน เรียกร้องรัฐบาลให้ปรับลดราคาพลังงานให้ถูกลง ก็จะได้กันทั้งหมด

ฝั่งนายจ้างเห็นด้วยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนทำให้คนมีกำลังซื้อ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้อยู่ได้ การที่คนไม่มีกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจไม่มีกำลังซื้อ ก็จะอยู่กันยาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีข้อเสนอใด ๆ ออกมา

นายสาวิตต์ กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานในระบบประกันสังคมรวมทุกมาตรา (33, 39 และ 40) ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 24,633,584 คน ลูกจ้างภาครัฐอีกประมาณกว่า 1,000,000 คน รวมแล้วผู้จ้างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่ที่ 25 ล้านคน ส่วนที่เหลือจ้างเหมารายวัน ไม่ได้อยู่ระบบ เช่น พวกคนงานก่อสร้าง ดูเฉพาะคนรับเหมารายวันที่ซอยกีบหมู พวกนี้มีรถ-รับส่งถึงที่ ส่วนใหญ่เป็นพวกแรงงานฝีมือ ฉาบปูน เดินไฟ ค่าแรงงานจ้างเหมาวันละ 600-800 บาท ตามแต่ทักษะเฉพาะ

จริง ๆ พวกแรงงานนอกระบบที่มีทักษะเฉพาะ ค้าจ้างแรงงานไปไกลกว่านั้นแล้ว แต่ว่าโรงงานต่าง ๆ พยายามที่จะกดค่าจ้างให้ต่ำลง สะท้อนให้เห็นว่า ค่าจ้างแรงานข้างนอกสูงกว่า และราคาสินค้าก็สูงขึ้น

สำหรับแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะตัว หรือเฉพาะด้าน ประธานฯ สสรท. บอกว่า เขาสามารถต่อรองราคาได้ ถามว่า คนงานในโรงงานมีอาชีพ มีทักษะหรือไม่ เขามีทักษะอยู่แล้ว แต่ก็มีความพยายามกดราคาค่าจ้าง เพื่อให้เกิดการจ้างงานในราคาถูกลง ส่วนตัวมองว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง มีผลดีมากกว่าผลเสีย

ดังนั้น นายจ้างต้องใจกว้างและมองผลรวมทางเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า โดยเอาความจริงเป็นตัวตั้ง ไม่ต้องใช้สูตรคณิตศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ใด ๆ เลย เอาแค่หลักคิดของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ก็เห็นภาพกันอยู่ เราต้องจ่ายค่าเดินทางในแต่ละวันเท่าไหร่ ค่ารถ ตั้งแต่ออกจากปากซอยบ้าน ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าแรงวันละ 400 บาท แบบไม่ต้องเลี้ยงดูใคร แค่เลี้ยงดูปากท้องตัวเองคนเดียว ก็แทบไม่รอดแล้ว

อ่านข่าว :

คุมแล้ว! อาจารย์ถือปืนปลอมในสถาบันการศึกษา

รู้เบาะแสผู้ก่อเหตุปล้นปืน-เผาอาคารป่าฮาลา-บาลา

“ก้นหม้อ” ยังไม่ทันดำ รัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรมแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง