วันนี้ ( 21 ก.ย.2567) นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผย ปัจจุบันรายได้หลักในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ มาจาก ภาคการท่องเที่ยว ,เกษตรและอาหาร, ยานยนต์ โลจิสติกส์และพลังงาน เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่กับไทยมานานและเป็นธุรกิจอนาคตที่มีโอกาสเติบโต
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD
โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต ที่ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน ยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะรถยนต์อีวี ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก และโลจิสติกส์ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต หากบริหารจัดการได้ดี ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ได้ โดย ITD ได้เห็นถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการแข่งขัน จัดทำหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา ที่เป็นเวทีให้ทั้งผู้บริหารภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมกันระดมสมอง
ปีนี้เป็นปีแรกมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกว่า 200 ราย และคัดเลือกเหลือ 81 ราย เพื่อมาร่วมกันจัดทำนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะเน้นใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร ยานยนต์ โลจิสติกส์และพลังงาน เพราะเป็นธุรกิจที่ที่มีโอกาสเติบโตสูง
นายสุภกิจ กล่าวอีกว่า สถาบันฯเน้นคัดผู้เข้าอบรมที่เป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 ของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน คละกันไปทั้งรายใหญ่ ที่เป็นบริษัทมหาชน รายเล็ก นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี และ AI สถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ โดยคนเหล่านี้ จะมาเรียนรู้ด้วยกัน มาทำงานร่วมกัน โดยใช้เวลาอบรมประมาณ 3 เดือน
“4 อุตสาหกรรม ITDมองว่า เป็นรายได้หลักในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ มีโอกาสขยายตัวได้ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต หากบริหารจัดการได้ดี ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งข้อเสนอจากหลักสูตรนี้จะข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสนอให้กับระดับนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่อไป”
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ส.ค. 2567 พบว่าไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม รวม22,474,172 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1,058,026 ล้านบาท
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน มายาวนาน ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตเพื่อส่งออกสินค้าและบริการ และมีความตกลงการค้าเสรีกว่า 15 ฉบับ นำมาสู่การจ้างงานหลากหลายสาขา
ทั้งนี้ การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า การเกิดขึ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ทำให้หลายประเทศต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและปรับโครงสร้างการส่งออกให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสากล นำมาสู่การยกระดับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนประเทศสมาชิก และขอบเขตความตกลงที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานมากขึ้น
อุตสาหกรรมอีวี
หลายประเทศให้ความสำคัญกับการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่มุ่งให้การทำธุรกรรมออนไลน์ในภูมิภาคเปิดกว้าง มีความปลอดภัย สนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศแข่งขันในตลาดการค้าโลก
ภาคการเกษตร
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า ITD เล็งเห็นความสำคัญในการถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไม่เพียงแต่เป็นรากฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ แต่ยังรวมถึงธุรกิจการค้าในภาคบริการที่มุ่งไปสู่ Modern Services ที่ไทยแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกท่ามกลางความผันผวน คาดการณ์ยาก
ผู้นำที่มีศักยภาพสูง จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของไทยเพื่อให้แก้วิกฤตและความผันผวนได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศรายได้สูงได้ในอนาคต
อ่านข่าว:
รอลุ้น! เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทวันนี้ นายจ้างชี้กระทบธุรกิจ