เปิดความหมาย 5 ขนมสำคัญ "ประเพณีสารทเดือนสิบ"

ไลฟ์สไตล์
25 ก.ย. 67
13:05
139
Logo Thai PBS
เปิดความหมาย 5 ขนมสำคัญ "ประเพณีสารทเดือนสิบ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จักขนม 5 ชนิด ที่ลูกหลานชาวนครศรีธรรมราชใช่ในประเพณี "ชิงเปรต" ในเทศกาลเดือนสิบ หรือ "ประเพณีสารทเดือนสิบ" ความเชื่อนี้มีความหมายอย่างไร

ประเพณี "สารทเดือนสิบ" งานบุญใหญ่ประจำปีของชาวใต้ โดยเฉพาะใน จ.นครศรีธรรมราช เป็นช่วงที่ลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นจะเดินเข้ากลับภูมิลำเนาเข้าวัดทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนหลายคนอาจไม่ได้กลับภูมิลำเนาดังแต่ก่อน แต่ประเพณีสารทเดือนสิบก็ยังคงถูกสานต่อ หลายวัดในกรุงเทพฯ มีการรวมตัวกันของลูกหลานชาวใต้ จัดกิจกรรมคึกคักไม่แพ้กัน

อ่านข่าว : "ยกหมฺรับ-ชิงเปรต" ประเพณีสารทเดือนสิบงานบุญใหญ่ชาวใต้

"สารทเดือนสิบ" เชื่อกันว่าในช่วงเดือน 10 ตามปฎิทินจันทรคติ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีกรรมหนัก เป็น "เปรต" ตกอยู่ในนรกภูมิ จะได้รับการปล่อยตัวจากยมโลก ให้มาพบลูกหลาน ญาติ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 จะเรียกว่า "วันรับตายาย" และ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า "วันส่งตายาย"

ลูกหลานจะจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับในสองวันนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการทำบุญในวันส่งตายายมากกว่าการรับตายาย เมื่อถึงวันส่งตายายลูกหลานจะเตรียมอาหารคาว หวาน สิ่งของต่าง ๆ พร้อม สำรับ หรือที่เรียกว่า "หมฺรับ" ไปทำบุญถวายพระสงฆ์ที่วัด

จากนั้นจะมีการ "ตั้งเปรต" เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" ซึ่งคำว่าหลาเป็นภาษาใต้แปลว่าศาลา โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะประกอบไปด้วยขนม 5 อย่าง ผลไม้ต่างๆ รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพบุรุษชื่นชอบ

เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ คนเฒ่า คนแก่ หนุ่มสาว เด็ก ๆ จะกรูเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรตกันอย่างตั้งใจ เพราะเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หากใครได้กินจะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พาลงใต้ไปหาความหมายของขนมเดือนสิบ สัญลักษณ์ของประเพณีสารทเดือนสิบ ถือเป็นหัวใจของ "หมฺรับ" ที่จะขาดไม่ได้ ประกอบด้วย คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมดีซำ ขนมกง และขนมบ้า แต่ละอย่างนั้นมีเรื่องราว ความหมายที่ต่างกัน 

1. "ขนมลา"

"ขนมลา" ขนมพื้นบ้านโบราณที่คนใต้รู้จักกันดี สืบทอดสูตรกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ วัตถุดิบหลักทำจาก แป้ง น้ำตาล ไข่ วิธีการทำไม่ซับซ้อน นำแป้งที่ผสมเตรียมไว้เทใส่ลงในกะลาหรือกระป๋องเจาะรู นั้นเพื่อให้ได้แป้งที่มีขนาดเล็ก บาง แกว่งแป้งลงกระทะที่ตั้งไฟไว้แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะมีลักษณะเป็นเส้นใยสีเหลืองทอง 

ภาพจาก : วัดคลองครุ-ปัฐวิกรณ์ Buddhist Temple

ภาพจาก : วัดคลองครุ-ปัฐวิกรณ์ Buddhist Temple

ภาพจาก : วัดคลองครุ-ปัฐวิกรณ์ Buddhist Temple

ขนมลา

ขนมลา

ขนมลา

เชื่อกันว่า "ขนมลา" เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม ผ้าแพร เนื่องจากมีลักษณะคล้ายการถักทอผ้าเป็นร่างแห ที่ลูกหลานต้องการอุทิศให้กับพรรษบุรุษ บางความเชื่อระบุว่า ขนมลา เป็นเสมือนแหที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตจะได้ตกปลา หาสัตว์น้ำ และยังเชื่อกันว่าเป็นขนมชนิดเดียวที่เปรตที่มีปากเท่ารูเข็มสามารถกินได้

ขนมลามี 2 ชนิด คือ "ลาเช็ด" อีกชนิดคือ "ลากรอบ" โดย "ลาเช็ด" จะโรยแป้งหนา เมื่อสุกจะพับเป็นสี่เหลี่ยม แป้งนิ่มลักษณะคล้ายแห ส่วน "ลากรอบ" จะเป็นการแปรรูป ลาเช็ด นำมาโรยน้ำตาลก่อนนำไปตากแดด 

2. "ขนมพอง" 

"ขนมพอง" เป็นขนมอีกอย่างที่ต้องมีในเทศกาลเดือนสิบ เป็นขนมที่ทำมาจาก "ข้าวเหนียว" จะเป็นข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำก็แล้วแต่นำไปนึ่งจนสุก แล้วอัดลงในพิมพ์ตามรูปร่างที่ต้องการ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นรูปวงกลม นำไปตากจนแห้ง จากนั้นนำมาทอดให้มีความฟูและกรอบ ขนมพองส่วนใหญ่มีสีขาว แต่ปัจจุบันก็มีการเพิ่มสีสันด้วยสีผสมอาหารให้ขนมมีสีอื่น ๆ ด้วย เช่น สีชมพู สีเหลือง

ขนมพอง

ขนมพอง

ขนมพอง

ทอดขนมพอง

ทอดขนมพอง

ทอดขนมพอง

ลักษณะของขนมพองมีน้ำหนักเบา เป็นแผ่น ลอยน้ำได้ขนมชนิดนี้จึงมีนัยยะเป็นสัญลักษณ์แทน "เรือ" หรือ "แพ" ที่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะใช้ในการข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติตามพระพุทธศาสนา 

3. "ขนมกง" หรือ "ขนมไข่ปลา" 

"ขนมกง" หรือ "ขนมไข่ปลา" เป็นหนึ่งในขนมที่มีความสำคัญในประเพณีสารทเดือนสิบ ทำจากถั่วเขียวบดละเอียด น้ำตาล แป้ง และไข่ นำส่วนผสมมาปั้นเป็นแท่ง แล้งจึงจับปลายมาชนกันให้เป็นวง นำไปชุบแป้งทอดจนสุกกรอบ หลายคนเรียกขนมชนิดนี้ว่า "ขนมไข่ปลา" ลักษณะของขนมกงคล้ายกำไล จึงเชื่อกันว่า เป็นสัญลักษณ์แทน "เครื่องประดับ" ตกแต่งร่างกายให้แก่บรรพบุรุษ

ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา

ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา

ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา

4. "ขนมดีซำ" หรือ "ขนมเจาะหู"

เป็นขนมที่ทำมาจากแป้ง น้ำตาล ปั้นเป็นวงคล้ายโดนัทขนาดเล็ก มีรูตรงกลาง จากนั้นนำไปทอดให้เหลืองฟู ลักษณะของขนมดีซำ มีความคล้ายเหรียญสตางค์รูในอดีต ขนมชนิดนี้จึงมีนัยยะเป็นสัญลักษณ์แทนเบี้ย หรือ เงินตรา สำหรับให้บรรพบุรุษนำไปใช้สอยในโลกวิญญาณ

ขนมดีซำ หรือ ขนมเจาะหู

ขนมดีซำ หรือ ขนมเจาะหู

ขนมดีซำ หรือ ขนมเจาะหู

5. "ขนมบ้า" หรือขนมสะบ้า

เป็นขนมที่ทำจากมัน แป้ง และน้ำตาล นำมาปั้นเป็นก้อนกลม แล้วจึงนำไปคลุกงา และกดให้เป็นแผ่นแบน ก่อนจะนำไปทอดจนกรอบ ลักษณะของขนมบ้าที่เป็นทรงกลมแบนคล้าย "ลูกสะบ้า" ซึ่งใช้ในการละเล่นสมัยโบราณ ขนมชนิดนี้จึงมีนัยยะเป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่บรรพบุรุษ

ขนมบ้า หรือ ขนมสะบ้า

ขนมบ้า หรือ ขนมสะบ้า

ขนมบ้า หรือ ขนมสะบ้า

นอกจากขนมทั้ง 5 อย่าง จะมีนัยในการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว ขนมเหล่านี้ยังสามารถเก็บไว้ได้นานร่วมเดือน ไม่บูดหรือเสียง่าย ฉะนั้นเมื่อนำไปถวายให้แก่พระภิกษุ ก็สามารถเก็บไว้ฉันได้นาน 

อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมศิลปากร, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

อ่านข่าว : ปฏิทินวันหยุดตุลาคม 2567 ปิดเทอมใหญ่ โอกาสดีพาครอบครัวเที่ยว

ใครเกิดทันบ้าง? ย้อนอดีตรู้จัก "เพจเจอร์" เครื่องมือสื่อสารยุค 90

ไขรหัสลับในกระแสเลือด จำเป็นไหมที่ต้องรู้จักกรุ๊ปเลือดตัวเอง ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง