รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า วันที่ 20–22 ก.ย.2567 จะมีพายุ "ปูลาซัน" และ"ซูลิก" จะเข้าสู่ประเทศไทย อิทธิพลของพายุ ส่งผลกระทบทุกภูมิภาค ทำให้มีฝนตกหนัก ถึงตกหนักมาก โดยเฉพาะอีสานตอนบน ขณะที่อีสานตอนใต้ อาจมีฝนตกแช่ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังทวีความรุนแรง สร้างความเสียหาย ยากจะรับมือ ทั้งๆที่ผ่านมา ไทยเคยเผชิญเหตุการณ์วิกฤตนี้มาแล้ว
แม้สถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงรายจะลดลงตามลำดับ แต่ความเสียหายต่อสภาพจิตใจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยากจะประเมินออกมาเป็นมูลค่าอุทกภัยครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน (ณ วันที่ 17 ก.ย.2567) แต่หลังน้ำลดยังต้องมีมาตรการฟื้นฟูและทำความสะอาดดินโคลนที่ยังตกค้างตามบ้านเรือนกว่า 60,000 หลังคาเรือน และสถานประกอบการกว่า 90 แห่ง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประมวลความเสียหายเชิงเศรษฐกิจพบมีมูลค่ากว่า 27,000 ล้านบาท
ปัญหาภัยพิบัติ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ยากจะหลีกเลี่ยง หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิช่วงปลายปี 2547 รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤติ เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ซึ่งเกิดขึ้นภายในประเทศ ถึง 6 ช่องทาง คือ
- หอเตือนภัย ซึ่งจะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเตือนไปยังหอเตือนภัยทั่วประเทศ 328 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด ในรูปแบบของการกระจายเสียงไซเรน และเสียงประกาศเตือน
- สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (CSC) ถ่ายทอดสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติผ่านดาวเทียมไปยังเครื่องรับสัญญาณในจำนวน 285 แห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือส่วนราชการในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก โดยกระจายข่าวสารการเตือนภัยโดยใช้คลื่นวิทยุและหอกระจายข่าวในชุมชน
- หอกระจายข่าวในชุมชน ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 674 แห่ง โดยรับสัญญาณเตือนภัยผ่านทางสถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย โดยผ่านคลื่นวิทยุและถ่ายทอดสัญญาณเสียงผ่านหอกระจายข่าว ความสูงไม่น้อยกว่า 12 เมตรจากระดับพื้น ติดตั้งลำโพงขนาด 150 วัตต์ 4 ตัว
- เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) ติดตั้งในสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และในศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเตือนในหน่วยราชการและถ่ายทอดสู่ประชาชนในจังหวัด มีจำนวน 163 ชุด
- แอปพลิเคชันไลน์ (Line Official Account: Line OA) ใช้สำหรับการแจ้งเตือนคำเตือนต่าง ๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงสามารถรายงานปัญหาหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติได้ ด้วยการเพิ่มเป็นเพื่อนกับบัญชีของศูนย์ในแอปพลิเคชันไลน์
- แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT เป็นแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนภัยพิบัติ สามารถแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่แบบเวลาจริง (Real Time) โดยติดตั้งแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟน
มีคำถามว่า 6 ช่องทางเตือนภัยพิบัติ ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร ถูกใช้มาก-น้อย เพียงใด ? และระบบที่มีอยู่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ? สำนักข่าวอิศราฯ รายงานว่า หากนับเฉพาะช่วงปี 2563-2565 รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณการเฝ้าระวังภัยพิบัติไปมากกว่า 1,070 ล้านบาท เฉพาะสัดส่วนของแอปพลิเคชันเตือนภัยมูลค่า 432.7 ล้านบาท ในขณะที่ความเสียหายที่มาพร้อมกับภัยพิบัติยังคงเกิดขึ้น
รัฐบาลแพทองธาร นโยบายแก้น้ำท่วม "เรื่องรอง"
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหมวด 6 มาตรา 72 (4) ระบุว่า แนวนโยบายของรัฐจะต้อง "จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมทั้ง การประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น" สะท้อนการให้ความสำคัญเรื่อง "น้ำแล้ง" มากกว่าน้ำท่วม
การแถลงนโยบายต่อสภาของ แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินแนวนโยบายตามอย่างเคร่งครัด ตามที่กล่าวในส่วนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อที่ 2 ความว่า
"รัฐบาลจะยกระดับการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ และจะเร่งให้น้ำถึงไร่นาโดยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการกระจายน้ำ ควบคู่กับการขยายเขตชลประทาน เพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ร่วมกับทุกภาคส่วนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน"
จากรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้ง 3 ไตรมาส พบว่า มีเพียงไตรมาส 3 เท่านั้นที่มีการจัดสรรโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝูน ที่มีจำนวนกว่า 7,700 ล้านบาท จากวงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของวงเงินงบประมาณกลางในส่วนช่วยเหลือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเยียวยา และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า ฯลฯ)
ส่วน 2 ไตรมาสแรกเป็นการจัดสรรงบกลางสำรองจ่ายเพื่อการบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ที่คิดเป็นร้อยละ 51 โดย 2 เรื่องนี้เป็นภัยพิบัติที่มากับความแห้งแล้งทั้งสิ้น ส่วนความเสียหายต่อครัวเรือนของภัยน้ำท่วมนั้นถือว่าน้อยกว่าภัยแล้งพอสมควร
รายงานเปรียบเทียบของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2532-2566 พบว่า ภัยน้ำท่วมมีผลกระทบต่อความเสียหายต่อครัวเรือนจำนวน 41 ล้านครัวเรือน ส่วนภัยแล้งมีผลกระทบ 77 ล้านหลังคาเรือน
จากสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการบริหารเตือนสาธารณภัย เก็บสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 7 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระยะเวลาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2567 ช่วงเดือน ต.ค.-เม.ย. พบว่า มีเพียงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีความต่อเนื่องของการดำเนินโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด 10 ปี ต่างจากหน่วยงานอื่นที่มีการดำเนินโครงการอย่างน้อยที่สุดคือ 1 จาก 10 ปีเท่านั้น
ในขณะที่รายงานสถานการณ์น้ำประเทศไทย กราฟเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมรายปี ตั้งแต่ปี 2548-2566 พบว่า ระยะเวลา 10 ปีหลังสุด (2556-2566) ในแต่ละปีสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยอยู่ในระดับไม่เกิน 2 หมื่นล้านไร่ และกระจายตัวตามภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เฉลี่ยปีละ 1,000,000 ไร่ มีเพียงปี 2554 เท่านั้นที่แตะระดับ 20,000 ล้านไร่ รวมถึงสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย คาบ 72 ปี (พ.ศ. 2494-2565) จากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มีอัตราพายุเข้าไทยเฉลี่ย 2.85 ลูกต่อปี โดยในช่วงหน้าฝนที่มีปริมาณน้ำฝูนสูงที่สุด ประมาณเดือน ก.ย. และ ต.ค. มีอัตราพายุเข้าไทยเฉลี่ย 0.75 และ 0.78 ลูก
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา
งบ ทส. ตั้งเตือนภัยล่วงหน้า ใช้งบแก้ลำมากกว่าแจ้งเตือน
ข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในงบประมาณส่วนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จะพบว่า งบประมาณก่อสร้างมีอัตรามากที่สุดจำนวนประมาณ 41,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.99 หรือกว่า 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด โดยจำแนกเป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งจำนวนประมาณ 19,000 ล้านบาท การก่อสร้างระบบระบายน้ำและประตูระบายน้ำประมาณ 6,900 ล้านบาท และการสร้างฝายชะลอน้ำประมาณ 5,800 ล้านบาท ทั้งหมดกว่าร้อยละ 60 ของงบประมาณทั้งหมด
ส่วนงบประมาณการบำรุงซ่อมแซมเครื่องมือป้องกันอุทกภัย มีจำนวนประมาณ 6,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 จากงบประมาณทั้งหมด และงบประมาณในส่วนอื่น ๆ มีจำนวน 2,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.58
ในส่วนนี้ นับรวม "การแจ้งเตือนภัยพิบัติน้ำท่วม" เข้าไปด้วย ซึ่งมีอัตราน้อยกว่าการก่อสร้างหรือการซ่อมแซมสิ่งป้องกันอุทกภัยอยู่มากพอสมควร
ตอกย้ำในส่วนของท้องถิ่นที่เกิดผลกระทบ จากสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมของจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2558-2567 ระหว่าง ต.ค.66-เม.ย.67 จะพบว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยมีจำนวน 30 โครงการ จากทั้งหมด 928 โครงการ คิดเป็นอัตราร้อยละ 3 เท่านั้น
โดยมีเพียงงบประมาณจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในโครงการที่ชื่อว่า โครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยง ที่เป็นโครงการที่เน้นแจ้งเตือนเพื่อป้องกันภัยล่วงหน้า นอกนั้นจะเป็นโครงการประเภทอุทกภัยเกิดก่อนและมาแก้ลำในภายหลัง
สตง. ชี้ช่องทางการแจ้งเตือนไร้ประสิทธิภาพ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ พบว่า การบริหารระบบเตือนสาธารณภัยพบปัญหาบางประการเกี่ยวกับการทำงานและการแสดงผลของระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติส่วนใหญ่ไม่ต่อเนื่องและไม่ครบถ้วน ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าขาดความแม่นยำ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติมีปัญหาอยู่มาก
ที่น่าสนใจ นั่นคือ แอป DPM Alert สำหรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ไม่ได้มีการนำเข้าข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้แอปไม่สามารถที่จะทำการแจ้งเตือนประชาชนได้ ตลอดจนไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์การใช้แอปใด ๆ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้
ขณะที่ "ระบบโทรมาตร" ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลการแจ้งเตือนขั้นพื้นฐานก็ได้มีปัญหาเช่นกัน โทรมาตรไม่สามารถตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 2 วันขึ้นไป มากถึง 318 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 57.30 ของจำนวนโทรมาตรที่ตรวจสอบ และแสดงผลข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วนอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 วัน เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ฝุ่นขนาด PM 2.5 ฯลฯ มากถึง 539 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 97.12 ของจำนวนโทรมาตรที่ตรวจสอบ
ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
หรือกระทั่ง ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) ที่มีจุดประสงค์เพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ กลับขาดความแม่นยำอย่างมาก จากการสุ่มตรวจสอบสาธารณภัย (อุทกภัยและวาตภัย) ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 170 ครั้ง เปรียบเทียบกับแผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน พบว่า ระบบ DSS มีการคาดการณ์ไม่แม่นยำ เพราะมีจำนวนถึง 113 ครั้งที่คาดการณ์ผิดพลาด คิดเป็นร้อยละ 66.47 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ ขณะที่ ระบบ DSS ที่คาดการณ์แม่นยำมีเพียง 57 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 33.53 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบเท่านั้น
ทั้งนี้ โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แก้ปัญหาโดยเปิดตัวแอปแจ้งเตือนน้ำท่วมใหม่ ที่ชื่อว่า Help T (ช่วยด้วยน้ำท่วม) ซึ่งเน้นหนักไปที่การแจ้งเตือนในระดับท้องถิ่นมากกว่า
อ่านข่าว:
อัปเดต "พายุดีเปรสชัน" ขึ้นฝั่งเวียดนาม 19 ก.ย.อีสานฝนตกหนัก