ไขรหัสลับในกระแสเลือด จำเป็นไหมที่ต้องรู้จักกรุ๊ปเลือดตัวเอง ?

ไลฟ์สไตล์
17 ก.ย. 67
12:06
256
Logo Thai PBS
ไขรหัสลับในกระแสเลือด จำเป็นไหมที่ต้องรู้จักกรุ๊ปเลือดตัวเอง ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กรุ๊ปเลือด" ข้อมูลชีวภาพสำคัญใช้ดูแลสุขภาพ ทั้งการถ่ายเลือด การรักษา การตั้งครรภ์ ยังบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างสมาชิกในครอบครัว การเข้าใจและรู้จักกรุ๊ปเลือดของตัวเองและคนในครอบครัวจะช่วยดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรุ๊ปเลือด (Blood Type) เป็นระบบที่ใช้จำแนกเลือดของมนุษย์ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการถ่ายเลือด การรักษาพยาบาล และแม้แต่ลักษณะทางพันธุกรรมของคนในครอบครัว ระบบที่เราคุ้นเคยและใช้มากที่สุดคือระบบ ABO และระบบ Rh ซึ่งเป็นพื้นฐานในการระบุกรุ๊ปเลือดของคนทั่วโลก แต่กรุ๊ปเลือดนั้นยังเป็นมากกว่าการแบ่งแยกชนิดเลือด เพราะสามารถบ่งบอกถึงความเป็นพันธุกรรม และลักษณะเฉพาะของแต่ละครอบครัวได้

ระบบ ABO และ Rh

ระบบ ABO ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Karl Landsteiner ในปี 1901 แบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ A, B, AB และ O ซึ่งเกิดจากการมีหรือไม่มีสารแอนติเจน (Antigen) A และ B บนพื้นผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง 

  • กรุ๊ปเลือด A มีแอนติเจน A บนเซลล์เม็ดเลือดแดง และมีแอนติบอดี (Antibody) ต่อต้านแอนติเจน B ในพลาสมา
  • กรุ๊ปเลือด B มีแอนติเจน B บนเซลล์เม็ดเลือดแดง และมีแอนติบอดีต่อต้านแอนติเจน A ในพลาสมา
  • กรุ๊ปเลือด AB มี แอนติเจน A และ B บนเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่ไม่มีแอนติบอดีใด ๆ ในพลาสมา คนที่มีกรุ๊ป AB สามารถรับเลือดจากกรุ๊ป A, B, AB และ O ได้ เรียกได้ว่าเป็น "ผู้รับทั่วไป"
  • กรุ๊ปเลือด O ไม่มีแอนติเจน A หรือ B บนเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีแอนติบอดีต่อต้านทั้งแอนติเจน A และ B ในพลาสมา คนที่มีกรุ๊ปเลือด O สามารถให้เลือดแก่ทุกกรุ๊ป เรียกว่า "ผู้ให้ทั่วไป"
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

การทราบกรุ๊ปเลือดที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายเลือด หากให้เลือดผิดกรุ๊ป จะทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรงและอาจถึงชีวิตได้

  • กรุ๊ปเลือด A จะรับ B และ AB ไม่ได้ รับได้แต่ A และ O
  • กรุ๊ปเลือด B จะรับ A และ AB ไม่ได้ รับได้แต่ B และ O
  • กรุ๊ปเลือด AB จะรับได้ทุกกรุ๊ป
  • กรุ๊ปเลือด O จะรับได้เฉพาะกรุ๊ป O

ระบบ Rh (Rhesus factor) ถูกค้นพบในปี 1940 โดย Karl Landsteiner และ Alexander S. Wiene แบ่งคนออกเป็นกลุ่ม Rh+ (มีโปรตีน Rh บนเซลล์เม็ดเลือดแดง) และ Rh- (ไม่มีโปรตีน Rh) โดยคนที่เป็น Rh- ไม่สามารถรับเลือดจากคนที่เป็น Rh+ ได้

ระบบนี้มีความสำคัญมากในด้านการถ่ายเลือดและการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะแม่ที่มีกรุ๊ปเลือด Rh- และทารกในครรภ์มี Rh+ จะเกิดปัญหา Rh incompatibility ซึ่งอาจทำให้แม่สร้างแอนติบอดีที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางรุนแรงหรือแท้งได้ เรียกว่า Hemolytic Disease of the Newborn (HDN) แต่ปัญหานี้มันไม่เกิดขึ้นในครรภ์แรก แต่หลังจากการคลอดหรือแท้ง แม่อาจสร้างแอนติบอดีที่สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของลูกในครรภ์ต่อไปได้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

สำหรับบุคคลทั่วไป หากต้องถ่ายเลือด คนที่มี Rh- สามารถรับเลือดจาก Rh- เท่านั้น ส่วนคนที่มี Rh+ สามารถรับเลือดได้จากทั้ง Rh+ และ Rh- ในกรณีฉุกเฉิน เลือกกรุ๊ป O- มักถูกเลือกใช้เพราะสามารถให้เลือดได้กับทุกกรุ๊ปโดยไม่ต้องคำนึงถึงระบบ Rh

การทราบกรุ๊ปเลือดของตนเองและคนในครอบครัว มีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพทั้งในด้านการถ่ายเลือดและการตั้งครรภ์

ความสัมพันธ์ทางสายเลือด

กรุ๊ปเลือดถูกกำหนดโดยยีนที่สืบทอดจากพ่อแม่ ในทางการแพทย์และกฎหมายสามารถใช้กรุ๊ปเลือดในการตรวจสอบความเป็นเครือญาติได้ ตัวอย่างเช่น พ่อแม่กรุ๊ปเลือด A และ B ลูกสามารถมีกรุ๊ปเลือด A, B, AB หรือ O ได้ หรือ พ่อแม่ที่มีกรุ๊ปเลือด O ทั้งคู่จะมีลูกกรุ๊ปเลือด O เท่านั้น

การทราบกรุ๊ปเลือดสามารถใช้ในการยืนยันความเป็นพ่อแม่ได้ในบางกรณี แต่ไม่สามารถบอกได้อย่างสมบูรณ์แบบเนื่องจากมีปัจจัยทางพันธุกรรมอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ยีนแฝง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างกรุ๊ปเลือดและสุขภาพ

  • คนที่มีกรุ๊ปเลือด O มักมีความเสี่ยงต่ำในการเกิดโรคหัวใจ แต่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสบางชนิดได้ง่ายขึ้น เช่น ไวรัสโนโร (Norovirus)
  • คนกรุ๊ปเลือด A อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิด
  • คนกรุ๊ปเลือด AB และ B มักมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 สูงกว่า

10 เรื่องน่ารู้ของกรุ๊ปเลือด

  1. ระบบกรุ๊ปเลือดไม่ได้มีแค่ ระบบ ABO และ ระบบ Rh
  2. ปัจจุบันมีกรุ๊ปเลือดรวม 39 ระบบ จัดโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระดับนานาชาติ คือ International Society of Blood Transfusion (ISBT) หากมีการศึกษาเพิ่มขึ้นจะสามารถจัดระบบกรุ๊ปเลือดเพิ่มขึ้นกว่านี้ได้อีกในอนาคต
  3. มีความเชื่อที่ว่าโภชนาการบางอย่างเหมาะกับกรุ๊ปเลือดที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่า "Diet by Blood Type" แต่แนวคิดนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอรองรับ
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  4. เลือดมีปริมาณประมาณร้อยละ 7 ของน้ำหนักร่างกาย
  5. ในประเทศญี่ปุ่น มีความเชื่อว่ากรุ๊ปเลือดสามารถบ่งบอกถึงบุคลิกภาพได้ เช่น คนกรุ๊ปเลือด A มักจะเจ้าระเบียบ คนกรุ๊ป B มักเป็นคนอิสระ ส่วนคนกรุ๊ป O มักมีความเป็นผู้นำสูง แม้ว่าแนวคิดนี้จะไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังเป็นที่นิยม
  6. กรุ๊ปเลือดของคนจะคงที่ตลอดชีวิต ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุหรือปัจจัยอื่น ๆ
  7. การให้เลือดที่ไม่เข้ากันอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการต่อต้าน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และอาจถึงแก่ชีวิตได้
  8. 1 ใน 5 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะต้องได้รับเลือด และส่วนใหญ่ใช้ในการผ่าตัดใหญ่
  9. เลือดกรุ๊ป AB- ถือเป็นกรุ๊ปเลือดที่หายากที่สุดในโลก คนที่มีกรุ๊ปเลือดนี้มักประสบปัญหาในการหาเลือดเมื่อต้องการการรักษาหรือการถ่ายเลือด
  10. ไม่มีอะไรทดแทนเลือดมนุษย์ได้
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

ที่มา : ธนาคารเลือด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย 

อ่านข่าว :

รพ.กระทุ่มแบนรับผิด ปมสลับเด็ก "ไทย-เมียนมา"

น้ำป่าซัดรถ-หอพักหน้า ม.พะเยา เสียหาย ไม่มีแจ้งเตือนล่วงหน้า

“ภูเก็ต” ยังมีน้ำท่วมขัง ดินสไลด์หลายจุดเริ่มคลี่คลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง