วันนี้ (16 ก.ย.2567) เวลาประมาณ 12.00 น. เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และเครือข่ายรักษ์ระนอง ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ขอให้ทบทวนโครงการแลนด์บริดจ์ และระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ทั้ง 2 ฉบับ
หลังทราบว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 77 เรียบร้อยแล้ว เหลือแต่รอการลงนามรับรองจากนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา แต่ทางเครือข่ายเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ มีประเด็นที่น่ากังวลใจของชุมชนหลายประการ คือ
1.ร่างกฎหมายดังกล่าว มีการนำเนื้อหาส่วนใหญ่ มาจากพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ EEC อันเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากย้อนกลับไปในยุคนั้นจะพบว่า มีหลายภาคส่วนพยายามทักท้วงการบัญญัติกฎหมายลักษณะดังกล่าวว่า อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการการบริหารประเทศ เพราะเป็นการสร้างอำนาจซ้อนรัฐขึ้นมาอีกอำนาจหนึ่ง เป็นลักษณะ “รัฐซ้อนรัฐ” จึงถูกคัดค้านจากนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ
และยังผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภา และเล็งเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า จึงไม่ควรเดินตามรอยรัฐบาลก่อน ด้วยการนำแนวกฎหมายที่จะสถาปนาอำนาจพิเศษขึ้นมา ซ้อนกับอำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากประชาชนโดยตรง
2.รัฐบาลควรศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า การใช้กฎหมายดังกล่าว มีความล้มเหลวหลายประการ ทั้งด้านการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรวม ของจังหวัดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC
โดยเฉพาะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษ กากสารพิษ และของเสียจากโรงงาน รวมถึงความเสียหาย และการสูญเสียทางด้านระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทั้งด้านทะเล การประมง พื้นที่การเกษตร จนแทบเยียวยาไม่ได้
ด้วยพบว่า มีการการละเลย ไม่ปฏิบัติและไม่ดำเนินการตามกฎหมายในหลายมาตรา ที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นที่มีความล้มเหลวในการจัดตั้งและบริหารกองทุนต่าง ๆ และเชื่อว่า ยังมีจุดอ่อนอีกหลายประการ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะได้รับทราบ ทั้งนี้การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ถือเป็นเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำเมื่อมีการใช้กฎหมายไปแล้วครบ 5 ปี
3.รายละเอียดในข้อกฎหมาย หลายหมวด หลายมาตรา ล้วนเป็นการสร้างอำนาจพิเศษให้กับคนพิเศษทั้งสิ้น ที่จะสามารถละเว้นหรือยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายปกติ ของประเทศไทยไม่น้อยกว่า 19 ฉบับ และยังให้อำนาจกับคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในการเสนอให้รัฐบาลตรากฎหมายขึ้นมาใหม่
เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ที่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไร้ขอบเขต อันจะนำไปสู่การสร้างระบบกฎหมายหรือระเบียบในการดำเนินการใด ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเอาใจนักลงทุนต่างชาติในหลายมิติ ทั้งด้านการใช้ที่ดิน ด้านแรงงาน ด้านเงินตรา ด้านการอยู่อาศัย การเข้าออกประเทศ การยกเว้นภาษา
หรือแม้แต่การยกเว้น กระบวนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และฐานทรัพยากรสำคัญของประเทศ ในขณะที่นักลงทุนคนไทยและประชาชนทั่วไป ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหล่านั้นต่อไป ซึ่งถือเป็นความเหลื่อมล้ำด้านกฎหมาย ที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
4.ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะนำไปสู่การสร้างระบบ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่มีการสถาปนาอำนาจพิเศษ ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายธุรกิจชั้นนำ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ให้มีอำนาจทับซ้อน กับอำนาจการบริหารประเทศแบบปกติของระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้บริหารประเทศต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
หากแต่ “คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” อันเป็นกลไกสำคัญภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีอำนาจในการบริหารเขตพิเศษที่ถูกประกาศขึ้นตามกฎหมายนี้ ซึ่งเบื้องต้นคือ จ.ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และยังสามารถประกาศเพิ่มเติมไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้อีก ตามคำร้องขอของนักลงทุน
ซึ่งมีข้อสังเกตว่า อำนาจของกลไกดังกล่าวนั้นไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ทั้งยังไม่มีองค์ประกอบของภาคประชาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในกลไกดังกล่าวแต่อย่างใด
จึงขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ออกจากกระบวนการของรัฐสภา และรัฐบาลให้มีการศึกษาเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อให้เห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็งการใช้กฎหมายลักษณะนี้
อ่านข่าว : น้ำโขง "หนองคาย" ลดลง 40 ซม. อีก 4 วันมวลน้ำถึงอุบลราชธานี
MRC ไม่พบเขื่อนจีนระบายน้ำ หลังลาวเตือน ปชช. ระวังน้ำโขงท่วม