ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สทนช.ตั้งศูนย์จัดการน้ำภาคกลางที่อยุธยา ตั้งรับมวลน้ำจากเหนือ

ภัยพิบัติ
16 ก.ย. 67
06:50
1,715
Logo Thai PBS
สทนช.ตั้งศูนย์จัดการน้ำภาคกลางที่อยุธยา ตั้งรับมวลน้ำจากเหนือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สทนช.ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำ (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางที่ จ.พระนครศรีอยุธยา บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและพื้นที่หน่วงน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เตรียมตั้งรับมวลน้ำจากภาคเหนือ

เมื่อวันนี้ 15 ก.ย.2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำ (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน พร้อมติดตามความเคลื่อนไหวของมวลน้ำที่ไหลลงมาสู่ภาคกลาง รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณรวม 16,038 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 61%) โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ ภูมิพล แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ ไม่เกิน 52% ยกเว้นอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 82% (วันที่ 15 ก.ย.) ดังนั้นภาพรวมหลายอ่างฯ ยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีก

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยมและน่าน ระดับน้ำไม่สูงมากและมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยมอาจสูงขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ แต่ไม่มากนัก ทำให้ภาพรวมปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยาลดลง

ขณะนี้ระดับน้ำที่สถานี C2 จ.นครสวรรค์ มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.88 ม. และระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอีก ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำจากเดิม 1,200 ลบ.ม./วินาที ลดลงเหลือ 1,150 ลบ.ม./วินาที และอัตราการระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา คงที่อยู่ที่ 219 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง ส่วนการเฝ้าจับตาสถานการณ์พายุพบว่ายังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดอย่างน้อยในช่วง 7 วันข้างหน้านี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่จะสามารถวางแผนตั้งรับสถานการณ์ต่อไปได้

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำ 11 ทุ่งเพื่อเตรียมไว้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ขณะนี้กรมชลประทานได้สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีการเก็บเกี่ยวไปแล้วเกือบ 100% ส่วนพื้นที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวยังมีเวลาพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำจะมาถึง ดังนั้นจึงสามารถใช้พื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำภาคกลางเตรียมรองรับมวลน้ำได้ในสถานการณ์ฝนที่จะเกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้

รองเลขาธิการ สทนช. ย้ำว่า แม้ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากตอนเหนือยังไม่สูงมากจนน่ากังวล แต่ไม่ควรประมาทกับสถานการณ์ฝนและพายุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.เป็นต้นไป จะมีฝนตกในบางจุดของพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะที่ จ.เพชรบูรณ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำป่าสักอาจเพิ่มขึ้น โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาได้

อ่านข่าว

จ.เชียงราย น้ำลดลงหลายพื้นที่ ชาวบ้านเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน

ประเมินจุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง จังหวัดติดริมแม่น้ำโขง

“หอการค้าหนองคาย” คาดน้ำท่วมทำเศรษฐกิจเสียหาย 400 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง