ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“บาดแผลในใจ” 85 ครอบครัว กรณีตากใบ

อาชญากรรม
13 ก.ย. 67
16:31
510
Logo Thai PBS
“บาดแผลในใจ” 85 ครอบครัว กรณีตากใบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อยากเห็นหน้าพวกเขา คนที่ทำให้เราเสียใจ ทุกวันนี้พวกเขาอยู่สบาย กินเงินเดือนราชการตลอด แต่พวกเราเดือดร้อน พวกเราสูญเสีย สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ คำขอโทษ

นางเจ๊ะฮามียะ หะยีมะ กล่าวพร้อมน้ำตา เมื่อถามถึงความรู้สึกหลังฟังคำสั่งศาลจังหวัดนราธิวาส หลังเธอต้องสูญเสียลูกชายจากคมกระสุนที่ยิงเข้าที่ท้ายทอยทะลุแก้มเสียชีวิต ระหว่างการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส

เกือบ 20 ปีที่รอคอย มีเพียงความหวังเดียว คือ อยากให้กระบวนการยุติธรรมนำตัวคนผิดมาขอโทษ ซึ่งครอบครัวนางเจ๊ะฮามียะ เป็น 1 ใน 85 ครอบครัวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้

โดยวันนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดจำเลย 7 คน มาสอบคำให้การ คือ จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต แม่ทัพภาคที่ 4 จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5 จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศปก.ตร.สน.

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีต ผบช.ภาค 9 จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีต รอง ผอ.กอ.สสส.จชต. และจำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีต ผวจ.นราธิวาส แต่จำเลยทั้งหมดไม่มา และไม่ได้แจ้งเหตุอันควรในการเลื่อนศาล ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 3-6 และจำเลยที่ 8 และ 9

ส่วนจำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ที่อยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภา ศาลไม่สามารถออกหมายจับ หรือจับกุมไม่ได้ แต่ศาลจะมีหนังสือด่วนที่สุด ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม และมีหมายเรียก รวมถึงมีหนังสือด่วนที่สุดขอให้จำเลยแถลงต่อสภาผู้แทนฯ เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า คือ วันที่ 15 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม นายรัษฎา มนูรัษฎา ทีมทนายความฝ่ายโจทย์ เรียกร้องให้จำเลยทั้งหมดเข้ามอบตัว อย่ายื้อเวลาเพื่อให้คดีหมดอายุความ ซึ่งคดีนี้ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องเอง เพราะต้องเห็นความยุติธรรม และผลการสอบสวนก็ชี้ชัดอยู่แล้วถึงสาเหตุการตายของทั้ง 85 คนในเหตุการณ์นี้ ว่าเกิดจากถูกยิงและขาดอากาศหายใจ

“หากจำเลยคิดว่า จะหลบหนีให้พ้นอายุความ แต่สุดท้ายแล้ว คุณก็ยังเป็นจำเลยอยู่ในใจของประชาชนทุกคน เพราะว่าในสายตาของประชาชนเขามีข้อสงสัยว่า คนทั้ง 85 คนที่เสียชีวิต ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของใครบ้าง ใครเป็นผู้สั่งการ และใครมีส่วนรวมบ้าง ผมคิดว่าการออกหมายจับ เป็นโอกาสที่ศาลให้ ภายในอายุความ ก็ยังมีโอกาสที่คุณจะได้พิสูจน์ ความบริสุทธิ์ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ทุกฝ่ายก็พร้อมยอมรับ” นายรัษฎา กล่าว

แม้หลังการออกหมายจับศาล จะให้อำนาจตำรวจ ฝ่ายปกครอง และตำรวจศาลจับกุมทันทีที่พบตัว แต่แนวโน้มของการเข้ามามอบตัว หรือการจับกุมก็ยังเลือนลางในความรู้สึกของ ฮารา ชินทาโร่ นักสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่า หากจำเลยปล่อยให้คดีหมดอายุความโดยไม่เข้ามอบตัว ก็จะยิ่งสร้างบาดแผลในใจ ให้ครอบครัวผู้สูญเสีย

วันนี้จิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ยืนยันได้ว่ายังมีบาดแผล และเป็นบาดแผลที่ยังไม่แห้ง เลือดยังคงไหลอยู่ในจิตใจของพวกเค้า การดำเนินคดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะนำความยุติธรรมมาคืนให้พวกเขา

นายฮารา กล่าว

แม้ศาลจะมีคำสั่งรับฟ้องในคดีอาญาจำเลยทั้ง 7 คน และออกหมายจับในข้อหาฆ่าผู้อื่น,พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่จากพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมา จำเลยเกือบทุกคนไม่สามารถติดต่อได้ หรือเปลี่ยนที่อยู่

นับถอยหลังอีก 43 วันก่อนคดีจะหมดอายุความ จึงเป็นห้วงเวลาแห่งการรอคอยอีกครั้ง สำหรับครอบครัวผู้สูญเสีย ที่ไม่อยากให้คดีประวัติศาสตร์นี้ เลือนหายไปกับการเวลา เหลือทิ้งไว้เพียงมรดกแห่งความคับแค้น

รายงาน : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว : ด่วน! เตือน 35 อำเภอ 16 จว.เสี่ยงดินถล่ม-น้ำป่าหลาก

4 วันน้ำท่วม "เชียงราย" กระทบ 51,353 ครัวเรือน เสียชีวิต 4 คน

ฝ่ายค้านอย่าเป็นฝ่ายแค้น วาทะกึ่งหวาดผวาของ “นายกฯ แพทองธาร”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง