ภาพความพยายามของหน่วยงานต่างๆ เข้าไปส่งข้าว ส่งน้ำ และอพยพประชา ชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมแม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ต้องฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวกราก เป็นสีโคลน และน้ำลึก ไม่ว่าจะเป็นเจ็ตสกี เฮลิคอปเตอร์ KA-32 หน่วยซีล ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ ประชาชน และมูลนิธิต่าง ๆ
แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ยังไม่ใช่มหาอุทกภัยปี 2554 แต่คำถามเรื่อง "ระบบเตือนภัย" ที่มีประสิทธิภาพอาจจะช่วยลดภารกิจของเจ้าหน้าที่ หน่วยกู้ภัย และจิตอาสาได้มากกว่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะน้ำท่วมแม่สาย ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการเตือนภัยเกิดขึ้น เพียงแต่ช่วงเวลาเตือนกับตอนที่น้ำมาถึง มันเร็วจนคนตั้งตัวไม่ทัน
ปรีชา ศรีคำแหง ผู้ประสบภัยน้ำท่วม อ.แม่สาย สะท้อนว่า ชาวบ้านไม่ได้รับการเตือนภัยเลย แล้วพอเกิดเหตุก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครดี มีแต่ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการเอาโทรศัพท์ที่บางทีแบตก็ชาร์ตไม่ทัน แบตสำรองก็คว้าไม่ทัน
จึงทำให้รอบนี้การใช้พื้นที่โซเชียลในการขอความช่วยเหลือของผู้ประสบภัยน้ำท่วมรอบนี้ มีการอัดคลิปขอความช่วยเหลือ เช่นการไลฟ์เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก และการส่งข้อมูลผ่านทางสื่อต่างๆ
อ่านข่าว เช็กพิกัดพื้นที่ "สีแดง" จุดเสี่ยงดินถล่มภูเก็ต
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ไทยมีระบบเตือนภัย 14 หน่วยงาน
จากการตรวจสอบ ไทยระบบเตือนภัยมากกว่า 14 หน่วยงาน เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำหลาก ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว ก็มีถึง 5 หน่วยงานดูแล ได้แก่กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
นอกจากนี้ยังมีการเตือนผ่านสื่อโซเชียล เพจของตัวเองที่คนต้องเข้าไปดู หรือการเตือนในพื้นที่ ก็ขึ้นกับหน่วยงานในพื้นที่ว่าทำได้เร็วช้าทั่วถึงแค่ไหน
ข่าวล่าสุดที่พูดถึง Cell Broadcast Service (CBS) คือวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่นายชัย วัชรงค์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลว่า ระบบนี้จะเริ่มใช้ได้ต้นปี 2568 และจะเตือนได้ 5 ภาษาโดยจะมีการเตือน 5 แบบด้วยกัน
- การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) แจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด ทุกพื้นที่เสาสัญญาณจะทราบทันที
- การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) เตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน
- การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบเตือนตั้งข้อมูลเมื่อมีเด็กหรือคนหาย
- ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) แจ้งเตือนในพื้นที่ เฝ้าระวัง แจ้งคนอยู่อาศัย ชุมชน
- การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) แจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ ขยายผลสู่การเฝ้าระวัง
ประโยชน์และการใช้งาน Cell Broadcast Service สามารถส่งข้อความเตือนภัยเข้าโทรศัพท์ ทั้งคนไทย ต่างชาติ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพิ่มประสิทธิภาพรับมือเหตุฉุกเฉิน สร้างความมั่นคง ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิต
ระบบแจ้งเตือนได้ 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ครอบคลุมทุกเครือข่าย ไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า เตือนภัยในรูปแบบข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ เสียง แสงบนหน้าจอ รองรับ Text to speech อ่านข้อความเสียง
สำหรับผู้พิการทางสายตาระบบจะส่งสัญญาณเข้าโทรศัพท์มือถือโดยตรง ลบไม่ได้ ซึ่งอนุมานว่าน่าจะช่วยได้มากกว่าการประกาศเสียงตามสาย หรือเปิดสัญญาเตือน แต่ความท้าทายในพื้นที่เชียงราย ก็มีอยู่คือ อย่างที่คุณพรวดีให้ข้อมูลไป ว่าข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชียงราย หรือพื้นที่ที่มีแม่น้ำนานาชาติ อย่างแม่น้ำโขง ต้องอาศัยกลไกระหว่างประเทศ
อ่านข่าว ฝนตกดินสไลด์ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ "ดินถล่ม"
เตือนภัยฝนตกหนัก-ดินถล่ม
ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี มีหน้าที่ในการออกประกาศเตือนภัยด้านธรณีพิบัติภัย เช่น เหตุแผ่นดิน เหตุดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก โดยที่ผ่านมามีการทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว และแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่ม
โดยมีการทำแผนที่เสี่ยงภ้ยดินถล่มครอบคลุม 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล ผ่านไปยังท้องถิ่นทั้งในระดับตำบล ระดับชุมชนกับในจังหวัด และมีเครือข่ายเฝ้าระวังรวมทั้งการ และมีการซักซ้อมการหนีภัย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณทำให้ช่วงที่ผ่านมาการซักซ้อมจึงลดลง
อ่านข่าว ไขปม! ดินถล่ม "แม่อาย" ฝนฉ่ำ เตือนปี'68 เสี่ยงเจอรุนแรง
ก่อนหน้านี้นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผอ.กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี เคยให้สัมภาษณ์หลังเหตุการณ์ดินถล่มบนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ตมีผู้เสียชีวิต 13 คน ยอมรับว่าสถานีเครื่องวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน บนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็น 1 ใน 25 สถานีที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ตั้งแต่ช่วงปี 2557-2558 ไม่เตือนภัยเหตุการณ์ดินถล่ม
ในปี 2567-2568 มีโอกาสที่จะเกิดปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้มีโอกาสฝนตกหนักและตกแช่ในพื้นที่เดิม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถลุ่มที่รุนแรง และต้องทำแผนซักซ้อมเสี่ยงดินถล่มโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
วิธีการต้องรู้ว่าจะเสี่ยงดินถล่ม หากพบว่าฝนหนักมากกว่า 100 มม.พบรอยแยกแผนดิน น้ำป่าไหลหลากเป็นสีแดงขุ่น และเสียงดังของการถล่มของดินบางจุด ชาวบ้านต้องรีบออกจุดนั้นทันที
อากาศ-พายุ-แผ่นดินไหว
เมื่อหันมาดูกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยทั้งการพยากรณ์อากาศรายวัน รายสัปดาห์เฉลี่ยวันละ 3 รอบในเวลา 05.00 น. เวลา 11.00 น.และ 17.00 น.ผ่านทางเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก รวมทั้งการออนแอร์เป็นรายภาคเพื่อสื่อสารไปยังช่องทางต่างๆ รวมทั้งในกรณีการเกิดเหตุใหญ่ๆ เช่น อัปเดตการเตือนภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวในต่างประเทศ และในไทย การเตือนภัยร่องมรสุมพาดผ่านฝนตกหนัก และเส้นทางพายุ
ขณะที่ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทำงานในลักษณะคล้ายกัน เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
เตรียมพร้อม Emergency Survival Kit
ข้อมูลจาก NHK มีคำแนะนำการสำรองสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติแนะนำสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “rolling stock” ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสำรองสิ่งของไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
วิธีการสำรองสิ่งของตามปกติโดยเทียบดูจากสิ่งที่สามารถเก็บได้นาน เช่น เครื่องดื่มและอาหาร ตลอดจนสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน น้ำและอาหารจัดเป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับการเก็บสำรอง ควรสำรองสิ่งของสำหรับกรณีฉุกเฉินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้อย่างน้อย 3 วัน แต่แนะนำให้สำรองไว้สำหรับ 1 สัปดาห์
อ่านข่าว "แพทองธาร" จ่อของบกลางเยียวยาน้ำท่วมเชียงราย
แต่หากมีกระเป๋า Emergency Survival Kit ประจำบ้านไว้ก็เป็นสิ่งที่ดี
เพื่อใช้ดำรงชีพในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ ประกอบด้วยน้ำดื่ม สะอาด ยาสามัญประจำบ้านอาทิ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด แอลกอฮอล์ ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ
อุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืนได้ ไฟฉาย แบตเตอรี่ สำรอง พาวเวอร์แบงค์ เครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน กระดาษทิชชู่ และผ้าอนามัย และอย่าลืม จดบันทึกเบอร์โทรออกฉุกเฉินเอาไว้ในโทรศัพท์มือถือด้วยหรือเบอร์สายด่วน 1669 หากเกิดอุบัติเหตุ
อ่านข่าว
4 วันน้ำท่วม "เชียงราย" กระทบ 51,353 ครัวเรือน เสียชีวิต 4 คน