ล้างวงจรอุบาทว์ส่วย "สติกเกอร์" โจทย์หิน ! จนท.รัฐเอี่ยวนายทุน

อาชญากรรม
13 ก.ย. 67
12:33
160
Logo Thai PBS
ล้างวงจรอุบาทว์ส่วย "สติกเกอร์" โจทย์หิน ! จนท.รัฐเอี่ยวนายทุน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

6 ก.ย.2566 สารวัตรแบงค์ หรือ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. ถูก "คนสนิท" ของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ อดีตกำนันนก ยิงเสียชีวิต ในพื้นที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม คมกระสุนราว 7 นัด ฝังเข้าที่ร่าง ทำให้เส้นทางรับราชการของนายตำรวจหนุ่มอนาคตไกล ต้องปิดฉากลงก่อนวัยอันควร 

แม้ปลายทางของ สารวัตรแบงค์ ตำรวจน้ำดีนายนี้ จะถูกจัดวางตำแหน่งหน้าที่ไว้อย่างมั่นคงก้าวหน้า จากความตั้งอกตั้งใจปฏิบัติงาน แน่วแน่ด้วยอุดมการณ์ เป็นที่จักษ์สายตาตั้งแต่เพื่อนร่วมงาน ขึ้นไปสู่สายตาของผู้บังคับบัญชาแล้วก็ตาม

ทว่ากลับตอกย้ำความสูญเสียซ้ำสอง ด้วยการจากไปของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง หรือ ผู้กำกับเบิ้ม ตำรวจน้ำดีอีกนาย ใช้ปืนจบชีวิตตัวเองภายในบ้านพัก จากหลายเสียงยืนยันว่า ผู้กำกับเบิ้มจบชีวิต ก็เพราะเป็นคนโทรไปชักชวนให้สารวัตรแบงค์ ไปนั่งอยู่ในวงงานเลี้ยงที่บ้านอดีตกำนันนกผู้กว้างขวาง และมากบารมีในจังหวัดนครปฐม ซึ่งอำนาจและบารมีที่ว่านั้น เป็นผลพวงมาจากการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหลายประเภท ผูกขาดมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อจนมาสู่รุ่นลูก มีทั้งที่ถูกกฎหมาย และอาจละเมิดกฎหมาย

กลายมาเป็นชนวนความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในค่ำคืนวันนั้น ก่อนจะเกิดข้อขัดแย้งในวงสนทนาบางช่วง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมเพียงไม่กี่นาทีต่อมา คือการเจราจาต่อรอง"เรื่องส่วยรถบรรทุก"

หากย้อนเวลากลับไป ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ดูเสมือนปัญหาการรับส่วยรถบรรทุกจะเริ่มทุเลาเบาลง จากจำนวนข่าวที่ปรากฏตามสื่อทุกแขนง แต่กระนั้นก็ตาม การเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ระบบเส้นสาย ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยหายไปจากเมืองไทย

เปิดช่องเอื้อทุจริต ชุด Spot Check เจ้าหน้าที่รัฐ- นายทุน

สามวันก่อนหน้าที่จะถึงวันครบรอบหนึ่งปีคดีกำนันนก หรือวันที่ 3 ก.ย.2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ( ป.ป.ท.) เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) และตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกันสืบสวน หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการรถบรรทุกหลายร้อยราย โซนภาคอีสาน ว่า มีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเรียกรับส่วยรถบรรทุก พบชื่อผู้เกี่ยวข้อง คือ นายนพดล แสนงาย หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก และนายอเนก คำโฉม หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้า นครราชสีมา และยังปรากฏหลักฐานที่เชื่อมโยงเส้นทางการเงิน จากผู้ประกอบการรถบรรทุก ผ่านบัญชีม้า ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง ตรวจสอบมีเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาท

สำหรับพฤติการณ์ในคดี นายนพดล ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ หรือชุด Spot Check อุปกรณ์ที่ใช้ช่างน้ำหนักรถบรรทุกเคลื่อนที่ ตรวจจับตามเส้นทางถนนสายรอง หรือจุดที่ไม่ผ่านด่านตรวจช่างน้ำหนักถาวร เพื่อเลี่ยงการถูกจับ โดยมีนายอเนก และพลเรือนอีกคน ถูกจ้างให้มาช่วยทำงานชุดเฉพาะช่างน้ำหนักรถบรรทุก เมื่อทำการช่างน้ำหนัก

หากน้ำหนักเกิน จะตกลงต่อรองกันหน้างาน ราคาตั้งแต่หลักพัน พุ่งไปถึงหลักแสนบาทต่อเดือน หากตกลงราคากันได้ บิลค่าคำนวณน้ำหนักที่ออกมาจากเครื่อง Spot Check จะถูกขยำโยนทิ้งข้างทาง ข้อมูลจึงไม่ได้เข้าระบบสถานีด่านตรวจน้ำหนัก

นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ สถานีตรวจน้ำหนักวังน้อย เป็นจุดที่นายนพดลเคยปฏิบัติ มีความผิดปกติหลายจุด โดยเฉพาะการบันทึกข้อมูลจำนวนรถบรรทุกที่เข้าด่านตรวจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และจากการลงพื้นที่วันนั้น พบว่า ทางเข้าด่านตรวจ ถูกปิดด้วยแบริเออร์หน้าทางเข้าด่าน โดยอ้างว่าถนนชำรุด

นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

เราเห็นความหละหลวมของระบบในการตรวจสอบรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน ยังไม่นับตามด่านทั่วไปที่มีจำนวนกว่า 105 ด่าน ด่านที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีข้าราชการเพียงหนึ่งนาย เป็นหัวหน้าด่าน นอกนั้นเป็นลูกจ้างทั้งหมด

"ทางหลวง"รับขาดแคลนบุคลากร-อุปกรณ์

แม้ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง จะออกมายอมรับว่า ชุดตรวจ Spot Check มีปัญหาเรื่องความใกล้ชิดกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ประกอบการรถบรรทุก จึงกลายเป็นช่องหว่างให้ทั้ง 2 ฝ่าย "ยินยอมและพร้อมจ่าย" รับส่วยรถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่สาเหตุดังกล่าว เกิดจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องมือซื้ออุปกรณ์ไว้ตรวจจับน้ำหนักที่ทันสมัยมีคุณภาพ และกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน คือระบบ Weight in Motion หรือเรียกว่า WIM ราคาตัวละประมาณ 20 ล้านบาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง

ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว คือ ความเร่งด่วนที่กรมทางหลวงพยายามหาทางแก้ไข แต่ชุดตรวจ Spot Check ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ตรวจจับ แม้จะถูกได้สั่งปิดชุดเฉพาะกิจชั่วคราวของส่วนกลางไปแล้ว แต่ทางภูมิภาคก็ยังคงดำเนินไป

อีกด้านหนึ่งจะเพิ่มความเข้มงวดคัดกรองบุคลากรออกพื้นที่ตรวจช่างน้ำหนัก ใครสุ่มเสี่ยงเรียกรับผลประโยชน์ ให้อยู่ภายใน ทำงานด้านอื่นแทน

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เล่าเบื้องหลังของคดี ว่า ยังพบร่องรอยบัญชีม้าอีกหลายราย ที่เกี่ยวข้องกับการรับส่วยรถบรรทุก นี่เป็นเพียงแค่ 1 กลุ่ม จาก 6 ชุดเฉพาะกิจเท่านั้น ที่เรียกรับผลประโยชน์ แนวทางสืบสวนจึงต้องขยายผลต่อ และให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ร่วมสอบสวน ว่ามีข้าราชการระดับสูงของกรมทางหลวงเกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายต่อรัฐเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่มันเกิดขึ้นเรื่องส่วย ทำให้ตำรวจของเราเสียชีวิตไป เป็นคดีของกำนันนก และมีการยิงตัวตาย มันก็เกี่ยวกับส่วย การที่ไปกวาดล้างมีปัญหาตามมา วันนี้ครบรอบหนึ่งปี ถือว่าเป็นการปฏิบัติการที่มอบให้กับน้องๆ ที่เสียสละชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่

เป็นที่น่าเสียดาย เหลือเพียงไม่กี่ปี ที่หัวหน้าสถานีตรวจน้ำหนักรถบรรทุกทั้ง 2 คน เกษียณอายุราชการอย่างภาคภูมิใจ แต่มาแตกแถวช่วงโค้งสุดท้ายเสียก่อนกับอุปกรณ์เจ้าปัญหา เพราะนำไปใช้ในทางที่ผิด ถูกครอบงำด้วยความโลภจากวงจรอุบาทว์ที่เรียกว่า" ส่วย" ประหนึ่งหมายถึง"ซวย"และพังกันทั้งระบบ

รายงานโดย: ชาติชาย ถุงเงิน ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมไทยพีบีเอส 

อ่านข่าว : "ภูมิธรรม" ซัดฝ่ายค้านสร้างวาทกรรม 3 นาย เมินคลิปเสียงหลุด

"พิชัย" รับแล้วยังไม่มีเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2

รัฐบาลดัน "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" หวังดึงนักลงทุน - สร้างงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง