ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สงคราม ความขัดแย้ง และสิ่งแวดล้อม เส้นทางผ่าน มุม "วรรณสิงห์"

ไลฟ์สไตล์
13 ก.ย. 67
11:20
338
Logo Thai PBS
สงคราม ความขัดแย้ง และสิ่งแวดล้อม เส้นทางผ่าน มุม "วรรณสิงห์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ประสบการณ์เดินทางทั่วโลกกว่า 90 ประเทศ หลากหลายมุมมองผ่านสายตา - การพูดคุย ความเชื่อมโยงที่น่าค้นหา ทำให้ "วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" เริ่มโปรเจกต์ภาพยนต์ที่จะสะท้อนให้เห็นความรุนแรง ความขัดแย้ง ภายใต้สนามสงครามในหลายประเทศ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษแนวคิด และเหตุผล ที่ทำให้ชายผู้นี้ ในฐานะนักเดินทาง นักเขียน นักคิด ยูทูบเบอร์ และนักทำสารคดี อยากถ่ายทอดเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์กว่า 2 ชั่วโมง เขาจะเล่าเรื่องความรุนแรง สงคราม สิ่งแวดล้อม และความเป็นมนุษย์อย่างไร

แม้ตอนนี้ยังไม่ได้เคาะชื่อเรื่อง แต่ "วรรณสิงห์" แง้มว่า เป็นเรื่องที่เน้นการสำรวจความรุนแรงบนโลกใบนี้ ไม่เฉพาะเรื่องสงคราม แต่พยายามสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของโลก แต่ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ ตั้งแต่อดีตกาล – ปัจจุบัน คาดว่าอนาคตก็จะยังคงอยู่

การเดินทางมาหลากหลาย ทำให้เห็นเรื่องราวที่มีความเชื่อมต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นที่แอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ รวมถึงเมียนมา ด้วยความที่เมียนมา มีความซับซ้อนน่าสนใจ และเป็นสงครามยาวนานที่สุดในโลก 76 ปี แล้วก็ไม่เคยสงบ

ทำไมถึงมีสงคราม

ถ้าถามว่า สามารถสรุปได้หรือไม่ ทำไมสงความ ความรุนแรง ยังมีตลอด ตั้งแต่มีมนุษย์มาจนถึงวันนี้ การสรุปของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นภาพยนต์ที่ทำออกมาจึงไม่ใช่เป็นการสอน หรือให้คนดูมานั่งจดจำ แต่จะเป็นเรื่องราวผ่านมุมมองจากสิ่งที่เกิดขึ้น

"ผมเป็นทั้งคนถ่าย กำกับ เขียนบทเอง เพราะว่าไปคนเดียว ซึ่งก็อาจจะเป็นจุดขายว่านี่คือ "วรรณสิงห์" และก็หวังว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ไม่อยากให้มันเป็นสิ่งเดียวนะ สุดท้ายอยากให้เรื่องของมันกลายเป็นหัวใจที่ทำให้คนอยากดู แม้จะเป็นการถ่ายคนเดียว แต่มั่นใจว่าออกมาเหมือนหนังภาพยนตร์แน่นอน เพราะผมขนกล้องถ่ายหนังไปเองเลย"

การเล่าเรื่องราวของมนุษยชาติ ที่โยงกับความรุนแรงในทุกรูปแบบ เริ่มจากที่ตัวเองมีความสงสัยว่าความรุนแรง ความขัดแย้ง มีบทบาทอะไรของพวกเราในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่งของโลกใบนี้ แต่ยังรวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความรุนแรงจากสภาพอากาศ โดยจะถ่ายทอดให้เหมือนหนังแอ็กชัน เพื่อคนดูจะได้ไม่เบื่อ

"ตอนนี้อยากไป แต่ไม่รู้จะได้กลับไปอีกครั้งหรือไม่ คือ อัฟกานิสถาน เพราะสู่ยุคสงบแล้ว คนที่รบกับรัฐบาลไม่มีแล้ว ที่ผ่านมาความรุนแรงเกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจ กับประชาชน แนวก่อการร้ายไม่มีแล้ว การไปไหนมาไหนก็สะดวกมากขึ้น เพียงแค่การเป็นสื่อเข้าไปก็จะมีข้อจำกัดอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่ผมสนใจคือผมอยากเล่าเรื่อง ชีวิตคนที่อยู่ที่นั่น ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคโซเวียต ยุคอเมริกัน ยุคตาลีบัน อยู่มา 40-50 ปี เจออะไรมาบ้าง"

ตั้งเป้าหมายอะไรในชีวิต

บทสนทนามาถึงเรื่องของการใช้ที่ย้อนกลับไป 10 ปี ที่ผ่านมาของวรรณสิงห์ ที่ได้ทำอะไรมากมายหลายอย่าง มุ่งมั่นอยากหลายอย่างมากมาย บทสรุปในตอนนี้ "วรรณสิงห์" บอกว่า มีความสัมพันธ์รัก ๆ เลิก ๆ กับการเดินทาง เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวเบื่อ อาจเพราะถึงจุดอิ่มตัว ทำให้อยากอยู่บ้านมากขึ้น แต่เมื่ออยู่บ้านก็อยากจะกลับไปเดินทาง

"ช่วงอายุน้อย ๆ เราตามหาตัวเอง แล้วพบตัวตนอยู่ในนั้น เรียกได้ว่าเสพติดการเดินทาง แต่พอรู้สึกว่าเสพติดมากเกินไป จนไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีเวลาอยู่บ้าน จึงพยายามเบรกตัวเอง และก็มีช่วงที่มีความรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำมันมีผลอะไรกับโลกจริงหรือเปล่า"

งานการเมือง ในบทบาทกรรมาธิการในการผลักดัน ขับเคลื่อนสังคมในด้านต่าง ๆ เป็นอีกสิ่งที่ได้เข้าไปลองทำ ก็พบว่า มีคุณค่าในอีกแบบ แต่กลับยิ่งสะท้อนว่าเราถนัดทำงานด้านสื่อมากกว่า "วรรณสิงห์" ใช้คำนิยามว่า "มันไม่ถนัดไม้ถนัดมือเหมือนแบบทำสื่อแล้วคิดออกทันที" ขณะเดียวกันการเดินทางเหมือนจะเป็นสมการ ที่รู้สึกได้ว่ามีความเข้าใจ เข้าถึง ในฐานะนักเล่าเรื่อง จนสุดท้ายก็ได้มาลงเอยกับโปรเจกต์ภาพยนตร์ และคิดว่าความสัมพันธ์นี้จะเข้าสู่วัยกลางคนอย่างสนุกสนาน 

ย้อนกลับไปดูชีวิต ไม่ได้รู้สึกเกิดความเสียดาย รู้สึกว่าโอเคแล้ว เพราะมันสนุกกับทุกอย่างที่ได้ทำ คิดเสมอว่าการได้ทำอะไรที่สนุก ก็จะมีความสุข

ถ้าถามว่าตอนไปทำงานการเมือง มันตอบโจทย์ ความต้องการที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมหรือไม่ วรรณสิงห์ มองว่าตอบโจทย์ที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเปลี่ยนแปลง แต่ รู้สึกว่าการมีส่วนร่วมในการคลอดกฎหมาย การประชุมคณะกรรมาธิการ การแก้ประเด็นสิ่งแวดล้อม การผลักดันให้กฎหมายผ่าน ซึ่งเป็นงานเทคนิคหลังบ้านที่ยังไม่ชำนาญมากนัก แต่ก็ยังทำอยู่ แต่ไม่ค่อยได้ออกสื่อ ไม่ได้ทำการเมืองในเชิงโซเชียล

"มันเป็นการทำงานที่ต้องประชุมสัปดาห์ละหลายสิบชั่วโมง ต้องมีวาระหนึ่ง วาระสอง และหากจะผลักดันเรื่องอะไร ก็จะต้องทำเอกสารทุกครั้ง จึงเสมือนเป็นโลกใหม่ที่ไม่ชำนาญ จากคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของธุรกิจตัวเองมาตลอด ไม่มีระเบียบอะไร ทำให้เสร็จก็พอแล้ว"

โปรเจกต์ถ่ายคลิปที่ดาวอังคาร

"ผมก็นั่งถามตัวเองอยู่ตลอดว่า ถ้าวันหนึ่งมีคนมาเสนอโปรเจกต์ให้ไปถ่ายคลิปที่ดาวอังคาร แต่ไม่ได้กลับมาที่โลกแล้ว ผมจะไปไหม ... ? "  หนึ่งในบทสนทนาของ 2 หนุ่มต่างวัย ซึ่ง วรรณสิงห์ ได้เปิดประเด็นขึ้นมา

โดย "คุณสุทธิชัย" ให้คำตอบชัดเจนว่า หากได้รับโอกาส เป็นตั๋วเที่ยวเดียว ไปแล้วแต่ไม่ได้กลับมา แต่สามารถไป ไลฟ์ที่ดาวอังคารได้ ในอายุตอนนี้ก็พร้อมที่จะไป เพราะถือว่าคุ้มและจะชวน "วรรณสิงห์" ไปโดยตั้งชื่อว่า "คน 2 วัยไปดาวอังคาร" ท่ามกลางเสียงหัวเราะของคนสองวัย "วรรณสิงห์" บอกว่าก็น่าคิด ตอนนี้ใจอาจจะบอกว่าไม่อยากไป แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ (หัวเราะ)

วรรณสิงห์ บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และในโลกเร็วมาก เห็นได้จากที่ตัวเองเป็นวัยรุ่นกลุ่มสุดท้ายที่ได้อยู่ในโลกแอนะล็อก โลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต เป็นเจนเนอเรชันแรกที่โตมากับวิดีโอเกมส์ ทำให้เห็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงสั้นลงเรื่อย ๆ เด็ก ๆ มีบทบาทในสังคมมากขึ้น เพราะมีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นและรวมตัวกันในแบบที่ไม่เคยมี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสังคมสูงวัยเชิงกายภาพ แต่ในเชิงผลักดันกลายเป็นสังคมที่เด็กลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงน่าคิดว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ถ้าถามว่าวัยรุ่นหลายคน อยากจะเป็นเหมือน "วรรณสิงห์" เอาจริง ๆ ผมไม่รู้ว่าเขาอยากเป็นวรรณสิงห์หรือเปล่า แต่ถ้าอยากเป็นนักทำสารคดี ก็อยากบอกว่าใจเย็น ๆ พยายามรีดความรู้สึกกดดันที่ต้องมีคอนเทนต์ทุกวันออกไปให้หมด ซึ่งหลัก ๆ ตัวเองก็รีดความรู้สึกนี้ไปได้ด้วยการเลิกเล่นโซเชียล

วรรณสิงห์ บอกว่า 2 ปีมานี้จากร้อยเหลือประมาณ 5-10% ของการเปิดดูโซเชียล มันโล่งหัวมาก ในแง่หนึ่งเขาเกิดอะไรขึ้นในสังคมจะไม่รู้เรื่องเลย แต่มันก็ทำให้อ่านหนังสือจบหลายเล่มมากขึ้น ได้ดูหนังดี ๆ มากขึ้น สิ่งสำคัญคือแรงกดดันที่ต้องเทียบตัวเองกับคนอื่นหายไปเล

"หลายคนอาจจะรู้สึกแปลก ๆ เพราะว่าบางคนก็เทียบตัวเขาเองกับผม เพราะมองว่าวรรณสิงห์ได้ไปนู่นไปนี้มา ซึ่งผมก็หันย้อนกลับมา สิ่งที่เราโพสต์ ๆ ก่อนหน้านี้ มันก็เป็นการสร้างแรงกดดันให้คนอื่น รู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่ถึงไหนบ้างหรือเปล่า มีส่วนสร้างความทุกข์ให้กับคนอื่น เราก็เลยหยุดทำบาปด้วยการเลิกโพสต์"

วรรณสิงห์ แนะนำต่อว่า บางครั้งอาจไม่ต้องมาถึงจุดนี้ก็ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามวัย ต้องมีขั้นตอนตามวัยของมัน ช่วงแรก ๆ แรงจูงใจหลัก ๆ อาจจะเป็นเรื่องของการไปเห็นโลกกว้างแล้วตื่นเต้นกับมันก็ได้เหมือนกัน แต่พอถึงจุดนึงมันก็หายไปและก็โตไปตามกาลเวลาของมัน

"มาถึงจุดนี้เพราะ ผมผ่านมา 90 กว่าประเทศแล้ว ช่วงหลัง ๆ ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเดินทาง แต่สิ่งที่ทำให้ผมออกไปเรื่อย ๆ คือไปเติมเต็มเรื่องราวที่ต้องเล่า จนทำให้เกิดเรื่องราวมากมายที่ต้องเจอ"

พบกับรายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าวอื่น :

อ.เชียงคาน จ.เลย เสี่ยงท่วม แม่น้ำโขงเพิ่มสูงชั่วโมง 3 ซม.

ก้าวแรกพลเรือน SpaceX สร้างประวัติศาสตร์พามหาเศรษฐีชมวิวโลก

“ทองคำ” ขึ้นแรง 200 บาท “ทองรูปพรรณ” ขายออก 39,624 บาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง