- รู้หรือไม่? ต่างชาติทำงานในไทยต้องจ่าย "ภาษี" เหมือนคนไทย
- ซ่อมต่อหรือขายทิ้ง ? วิธีดูแล "รถยนต์" หลังถูกน้ำท่วม
เมื่อชีวิตมนุษย์เปรียบเสมือนเส้นด้าย ไม่มีใครรู้ "เส้นด้าย" แห่งลมหายใจจะขาดหายไปช่วงเวลาใด ในช่วงยังมีแรงทุกคนต่างทุมเทกำลังกายและใจเพื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อร่างกายกำลังจะลาลับในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน
การส่งไม้ต่อ "สินทรัพย์" ให้กับครอบครัว หรือ คนที่รัก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องวางแผน และจัดการทรัพย์สินของตัวเอง หรือ "มรดก" ในขณะที่ยังมีชีวิตมีอยู่ได้ด้วย "การทำพินัยกรรม" และเพื่อแสดงความชัดเจน ว่า ทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกส่งต่อหรือถ่ายโอนไปยังบุคคลที่เจ้าของทรัพย์ประสงค์ที่มอบให้แบบครบถ้วน
เรื่องนี้กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะให้ส่งมอบให้บุคคลใด องค์กร เป็นผู้รับมรดกก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสายเลือดเดียวกัน หรือญาติใกล้ชิดเสมอไป ในกรณีที่มีการทำพินัยกรรมไว้ก่อนเจ้าของทรัพย์สินจะเสียชีวิต
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง "พินัยกรรม" รูปแบบ และขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้ง ข้อยกเว้นในกรณีที่ เจ้าของทรัพย์สิน ไม่ได้ทำพินัยกรรม มรดกจะต้องเป็นของใครตามกฎหมาย
"พินัยกรรม" คืออะไร
"พินัยกรรม" นั้นเป็นเหมือนคำสั่งครั้งสุดท้าย แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายทั้งในเรื่องทรัพย์สิน หรือ กิจการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม เพื่อให้เกิดผลบังคับตามกฎหมาย โดยทำแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้
อ่านข่าว : เกษียณไม่เฉา ส่อง 9 อาชีพเติมไฟให้ชีวิต - สร้างรายได้ปัง
"พินัยกรรม" มีกี่รูปแบบ ข้อดีของแต่ละแบบ
ในการทำ "พินัยกรรม" กฎหมายได้กำหนดไว้ 6 แบบ ดังนี้
- 1.พินัยกรรมแบบธรรมดา
- 2.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
- 3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
- 4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
- 5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา
- 6.พินิยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ
"พินัยกรรม" จะเลือกทำแบบไหนก็ได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามแบบ มิเช่นนั้นอาจตกเป็นโมฆะบังคับตามแบบนั้นไม่ได้ ขณะที่ พินัยกรรมทั้ง 5 แบบ มี 3 แบบ คือ แบบที่ 3 , 4 และ 5 เป็นพินัยกรรมที่อาจใช้กระบวนการโดยเฉพาะที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง และในแต่ละแบบมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น
มาเริ่มทำความเข้าใจ "1.พินัยกรรมแบบธรรมดา" กันก่อนว่ามีหลักเกณฑ์การทำเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับพินัยกรรมแบบธรรมดานี้ ผู้ทำต้องทำเป็น "หนังสือ" จะเขียน หรือ พิมพ์ ก็ได้ ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำเพื่อพิสูจน์ความสามารถของผู้ทำ และ ลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน จากนั้นพยาน 2 ลงลายมือชื่อรับรอง
"2.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ" ผู้ทำพินัยกรรมเขียนขึ้นด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ ฉะนั้นผู้เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถจะทำพินัยกรรมแบบนี้ได้ พินัยกรรมแบบนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ ห้ามไว้ เขียนข้อความเสร็จแล้ว ต้องอย่าลืม ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำลงเพื่อพิสูจน์ความสามารถ รวมทั้งลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม โดยไม่ต้องมีพยาน
"3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง" ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ต้องการใส่ในพินัยกรรมของตนแก่เจ้าหน้าที่และพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อม ที่ สำนักงานเขต (กทม.) หรือที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด) จะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ หากมีการร้องขอ จากนั้นเจ้าหน้าที่ หรือ นายอำเภอจดข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนลงลายมือชื่อ
พินัยกรรมฉบับนี้จะสมบูรณ์ได้ ข้อความที่จดนั้นต้องมีลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ที่จด ใส่ วัน เดือน ปี ที่จด และจดข้อความว่าพินัยกรรมได้ทำขึ้นถูกต้อง และประทับตราตำแหน่งไว้
หลักฐานที่ใช้ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
1. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง พร้อมสำเนา
2. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะทำพินัยกรรม
3. กรณีผู้ทำพินัยกรรมอายุเกิน 60 ปี หรือป่วยควรมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
4. พยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน (ต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับทรัพย์สินในพินัยกรรม)
5. หลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี)
• ค่าธรรมเนียมกรณีทำในสำนักงานเขต 50 บาท คู่ฉบับๆ ละ 10 บาท กรณีทำนอกสำนักงานเขต 100 บาท คู่ฉบับๆ ละ 20 บาท
"4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ" ผู้ทำพินัยกรรม อาจเขียน หรือ พิมพ์ แล้วลงลายมือชื่อตัวเอง ผนึกพินัยกรรมพร้อมทั้งลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก นำพินัยกรรมที่ผนึกไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขต (กทม.) หรือที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด) พร้อมทั้งพยานอย่างน้อย 2 คน และแจ้งต่อบุคคลเหล่านี้ว่าพินัยกรรมนี้เป็นของตน เจ้าหน้าที่จะจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และลง วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไว้บนซองและประทับตราตำแหน่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่และพยานก็จะลงลายมือชื่อบนซอง
หลักฐานที่ใช้ พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. พินัยกรรมซึ่งใส่ซองปิดผนึกแล้ว
4. พยานบุคคล 2 คน
• ค่าธรรมเนียมฉบับละ 20 บาท
"5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา" ผู้ต้องการทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น อยู่ในที่อันตราย ฯลฯ ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งข้อความที่ต้องการในพินัยกรรมต่อหน้าพยานที่อยู่ตรงหน้าอย่างน้อย 2 คน
พยานทั้งหมดไปที่สำนักงานเขต (กทม.) หรือที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด) โดยไม่ชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ด้วยวาจา พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี และสถานที่ทำพินัยกรรม รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เจ้าหน้าที่จดข้อความที่ได้รับแจ้ง พร้อมทั้งให้พยานที่มาแจ้งลงลายมือชื่อ (ในกรณีไม่อาจลงลายมือชื่อก็ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและให้พยานที่หามาใหม่อย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง)
หลักฐานที่ใช้ พินัยกรรมทำด้วยวาจา
1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. พยานบุคคล 2 คน
และ "6.พินิยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ" กรณีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศต้องการทำพินัยกรรม จะทำตามแบบของกฎหมายประเทศที่ตนอยู่ทำพินัยกรรมก็ได้ หรือจะทำแบบของกฎหมายไทยก็ได้
หากทำตามแบบกฎหมายไทย ในกรณีพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมแบบเอกสารลับ และพินัยกรรมแบบวาจา ซึ่งสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็ให้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของบุคคลต่อไปนี้แทน
- พนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย
- พนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรม เป็นผู้รับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานก็ได้
6 ลำดับ ทายาทโดยชอบทำ มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามกฎหมาย
แล้วในกรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ ทรัพย์สินจะถูกจัดสรรให้แก่ทายาทโดยธรรม ตามกฎหมายมีวิธีการแบ่งมรดกอย่างไรบ้าง
ในทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 กำหนดว่า ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ ซึ่งในการแบ่งทรัพย์มรดก ระหว่างทายาทโดยธรรมนั้น จึงต้องแบ่งตามลำดับชั้น ดังนี้
ลำดับที่ 1 : "ผู้สืบสันดาน" คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
ลำดับที่ 2 : "บิดามารดา" ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
ลำดับที่ 3 : "พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน"
ลำดับที่ 4 : "พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน" หรือที่มักเรียกกันว่า "พี่น้องต่างพ่อ หรือ ต่างแม่"
ลำดับที่ 5 : ปู่ ย่า ตา ยาย
ลำดับที่ 6 : ลุง ป้า น้า อา
ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม
สำหรับข้อจำกัดและข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม ดังนี้
- พินัยกรรมเป็นนิติกรรม ที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์
- ผู้ที่เป็นพยานจะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ
- การขูด ลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงลายมือชื่อกำกับไว้
- ผู้เขียนหรือพยานรวมทั้งคู่สมรสของผู้เขียนและพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้
- ตัวบุคคลที่ระบุให้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นบุคคลที่กฎหมายห้ามไว้
- ต้องเขียน วัน เดือน ปี ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและผู้ที่เป็นพยาน
อ้างอิง : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, สำนักงานกิจการยุติธรรม, สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี,สำนักงานเขตวัฒนา
อ่านข่าว :
รู้จัก "อะฟลาท็อกซิน" วายร้ายก่อมะเร็ง