พปชร.ดิ้นหวังกู้ชื่อ กลางมรสุม “นิติสงคราม”

การเมือง
11 ก.ย. 67
16:31
63
Logo Thai PBS
พปชร.ดิ้นหวังกู้ชื่อ กลางมรสุม “นิติสงคราม”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พรรคพลังประชารัฐกำลังอยู่ในช่วงเวลายากลำบาก นอกจากต้องศึกษาปรับตัวการเป็นฝ่ายค้านครั้งแรกแล้ว ยังเสีย สส.20 คนในสาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มิหนำซ้ำถูกบ้านใหญ่ “รัตนเศรษฐ” ของนายวิรัช แห่งนครราชสีมา ยกตระกูลตีจากอ้างไม่เห็นด้วยกับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรค

แถมยังตกอยู่ท่ามกลางกระแส “นิติสงคราม” ที่ถูกจุดพลุขึ้นโดยสื่ออาวุโสที่มีเอฟซีหนาแน่นไม่น้อย ยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง

แม้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังประกาศเดินหน้าสู้ต่อ แต่อนาคตข้างหน้ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่ดี จึงได้เห็น พปชร.ภายใต้คณะบริหารพรรคชุดใหม่ พยายามออกฤทธิ์เดชอย่างหนัก หวังสร้างชื่อ หรือมองไปไกลถึงขั้นเขย่ารัฐบาล หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ไม่เพียงยื่นเรื่องร้องเรียนแบบรายวัน ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ล่าสุดร้อง ป.ป.ช.เอาผิดนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ปมใส่ชุดปกติขาวถ่ายรูป พาคณะรัฐมนตรีชูมือทำมินิฮาร์ท

ยังได้เห็นการตั้งกรรมการตรวจสอบ สส.ของพรรค 20 คน ในสาย ร.อ.ธรรมนัส เข้าข่ายฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค กรณีพา สส.โหวตสนับสนุน น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ

และการโยนแรงกดดันเรื่องใหม่ให้นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร กรณี ร.อ.ธรรมนัส ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และประชุมหารือกับข้าราชการร่วมคณะกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ คนใหม่ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่

ให้นายกฯ ใช้ดุลยพินิจพิจารณาเอง หลังจากก่อนหน้านั้น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ทั้งโพสต์ข้อความและไลฟ์สด เตือน ร.อ.ธรรมนัส อาจผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ที่ห้าม สส.และ สว.ไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

ถือเป็นการเปิดเกมรุกฆาต ขยับหลายทางพร้อมกัน มีเป้าหมายทั้ง น.ส.แพทองธาร ผู้นำรัฐบาล และ ร.อ.ธรรมนัส กับ สส.ในกลุ่ม 20 คน ท่ามกลางการเปิดประเด็นใหม่ของสื่ออาวุโสที่ระบุว่า มีกระบวนการทำนิติสงครามหวังล้ม “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” โดยเปิดรับคำร้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองของบุรุษนิรนาม และนายพลใหญ่ มีค่าคำร้องถึง 2 แสนบาท จนสร้างความฮือฮาไปทั่ว

กระทั่งนายไพบูลย์ต้องออกโรงปฏิเสธว่า เป็นเพียงข่าวโคมลอย ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร ส่วนเรื่องยื่นคำร้องต่าง ๆ ของนายเรืองไกร ทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่พรรค เพื่อหวังตัดไฟแต่ต้นลม เพราะอาจถูกเพ่งเล็ง และเป็นกระแสตีกลับมายัง พปชร.ได้

เพราะเรื่องนี้ได้กลายเป็นปมร้อน ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ และมีกูรูทางการเมืองนำไปวิพากษ์วิเคราะห์กันแพร่หลาย บางส่วนถูกเชื่อมโยงไปถึงการปลุกม็อบลงถนน มีเจตนาขัดขวางการทำงานของรัฐบาลใหม่ชัดเจน จนมีจุดกระแสต่อต้านนักร้องเรียนว่า หาเหตุร้องได้สารพัดเรื่อง และร้องได้ทุกวัน

ขานรับด้วยแกนนำรัฐบาล อย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ออกโรงเปิดประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และจะเสนอให้มีการเอาผิดกับนักร้องเรียนที่ร้องเท็จ หรือใช้ข้อมูลเท็จ แต่ไม่มีระบุบทลงโทษไว้

แต่กระนั้น การยื่นเรื่องของ “นักร้องเรียน” แม้ช่วงหลังจะมียื่นร้องต่อเนื่อง และมีนักร้องเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ใช่ว่าจะสำเร็จผลทุกเรื่อง เพราะส่วนใหญ่ถูกตีตก และในทางปฏิบัติ ต้องมีการตรวจสอบ ไต่สวน ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาก่อน ไม่ว่าจะร้องผ่านปปช.หรือ กกต.

ทั้งนี้การร้องเรียนแบบรายวันของนายเรืองไกร หรือแม้แต่ยื่นเรื่องร้องผ่านบุรุษนิรนาม ต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยเบื้องต้นเป็นอย่างน้อย 1.คือเนื้อหาคำร้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ มีหลักฐานพยานชัดเจนแค่ไหน และ 2.กระบวนการยื่นร้องถูกต้องหรือไม่ หากร้องเรียนผิดช่องทาง จะทำให้เรื่องเดินหน้าไปอย่างล่าช้า

เป้าหมายหากมุ่งหวังไปถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร จึงถูกกูรูทางการเมืองฟันธงว่า ต้องใช้เวลาแน่นอน และเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แม้แต่กรณีผิด มาตรา 185 ว่าด้วยการห้าม สส.และ สว.รวมทั้งฝ่ายการเมือง เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำหน้าที่ของข้าราชการ หรือแม้จะพ่วงเรื่องทำผิดข้อบังคับพรรค กรณีฝ่าฝืนมติกรรมการบริหารพรรค

แต่ฝ่ายตรงข้ามที่เจนจัด ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า ย่อมต้องตระเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว รวมทั้งระดับอดีตรัฐมนตรี ที่ต้องมีทีมงานและนักกฎหมายรายรอบตัว ไม่ให้ “เสียท่า” ง่ายๆ

เท่ากับแรงกดดันต่าง ๆ จะถูกโยนกลับไปที่ พปชร.อีกครั้ง ไม่ต่างจากที่ตกในมรสุม “นิติสงคราม” หวังล้มรัฐบาล

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : ดินถล่มแม่อาย เสียชีวิต 4 คน เร่งค้นหา 2 ผู้สูญหาย

น้ำหลากสะพานซูตองเป้ จ.แม่ฮ่องสอน

"วราวุธ" สั่งเปิดอาคาร 4 หน่วยของ พม.เชียงราย เป็นที่พักพิงผู้ประสบภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง