วันนี้ (11 ก.ย.2567) ฝนตกหนักต่อเนื่องในจังหวัดทางภาคเหนือ ส่งผลให้หลายจังหวัดเผชิญน้ำท่วมหนักจากปริมาณฝน ทั้งที่ จ.เชียงราย และ จ.ตาก ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดดินถล่มที่ บ้านดอยแหลม ต.แม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 คน และบาดเจ็บอีก 3 คน
อ่านข่าว : ไขปม! ดินถล่ม "แม่อาย" ฝนฉ่ำ เตือนปี'68 เสี่ยงเจอรุนแรง
ในช่วงสัปดาห์แถบนี้มีฝนสะสมเกิน 200 มม. และยังมีฝนใหม่ตกลงมาในรอบ 24 ชม.อีก หลายจุดที่ฝนระดับ 100 มม. ทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
ข้อมูลจาก คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง สูงสุด 5 จังหวัดในช่วงระหว่างวันที่ 9- 11 ก.ย.
วันที่ 11 กันยายน 2567
- เชียงราย 236 มม.
- เชียงใหม่ 229 มม.
- แม่ฮ่องสอน 157 มม.
- ตาก 142 มม.
- จันทบุรี 125 มม.
วันที่ 10 กันยายน 2567
- เชียงราย 151 มม.
- ตาก 120 มม.
- เชียงใหม่ 108 มม.
- ตราด 104 มม.
- บึงกาฬ 90 มม.
วันที่ 9 กันยายน 2567
- กาญจนบุรี 87 มม.
- สตูล 86 มม.
- ยะลา 83 มม.
- นราธิวาส 82 มม.
- ตาก 72 มม.
ฝนตกมากน้อยแค่ไหน ตรวจวัดอย่างไร
กรมอุตุนิยมวิทยา มีคำอธิบาย "ปริมาณฝนรายวัน" นั้นหมายถึงปริมาณฝนที่ตกสะสมลงบนพื้นดินคิดเป็นความสูงของน้ำฝนที่ตกสะสมลงบนพื้นดินและสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดฝน มีหน่วยในการวัดเป็นมิลลิเมตร ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 07.00 น.ของเมื่อวานนี้จนถึง เวลา 07.00 น.ของวันนี้ รวมเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง
เกณฑ์การตรวจวัดฝนมีดังนี้
- ฝนวัดจำนวนไม่ได้ : มีปริมาณฝนไม่ถึง 0.1 มิลลิเมตร
- ฝนเล็กน้อย : มีปริมาณฝนตั้งแต่ 0.1 มิลลิเมตร - 10.0 มิลลิเมตร
- ฝนปานกลาง : มีปริมาณฝนตั้งแต่ 10.1 มิลลิเมตร - 35.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนัก : มีปริมาณฝนตั้งแต่ 35.1 มิลลิเมตร - 90.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนักมาก : มีปริมาณฝนตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป
ดังนั้น จึงมีคำถามว่าเหตุใดปีนี้ ฝนจึงตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ไทยพีบีเอสออนไลน์คุยกับ นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์ฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นผลจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจาก "พายุยางิ"
แม้จะอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปแล้วแต่ยังคงมีเมฆฝน ปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคอีสาน และ ภาคตะวันออกของประเทศ โดยผลจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ยังมีคำเตือนฝนหนัก ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ และตาก
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ปีนี้ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ฝนตกหนักมาก นายสมควร อธิบายว่าเพราะมีทั้งหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม และเป็นพายุที่สลายตัวใกล้ประเทศไทย แม้พายุไต้ฝุ่น "ยางิ" จะไม่เข้าไทยโดยตรง แต่มีอิทธิพลกับไทย
ขณะที่ฝนตกต่อเนื่องดินอุ้มน้ำไว้มากแม้ฝนจะตกลงมาเพียง 30 มม.หรือมากกว่านั้นก็จะทำให้เกิดปัญหาดินถล่ม สร้างความเสียหายเกิดขึ้น
ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. เริ่มมีฝนทางด้านภาคอีสาน หลังจากนั้นในวันที่ 8-9 ก.ย.มีฝนเพิ่มขึ้น ในภาคเหนือตอนบน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่เกิดขึ้นตามแนวตอนบนของประเทศไทย หลังจากนี้เมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านไปแล้ว ฝนในพื้นที่ภาคเหนือก็จะเริ่มเบาบางลง จะเหลือเพียงน้ำที่ไหลอยู่ในลุ่มน้ำต่าง ๆ
เช็กพื้นที่ ฝนตกหนัก วันไหนบ้าง
ขณะที่ในช่วงวันที่ 11-12 ก.ย.67 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนได้เคลื่อนตัวไปปกคลุมประเทศเมียนมาแล้ว ส่วนร่องมรสุมกลับมาพาดผ่านทางตอนบนของไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือลมฝนที่พัดปกคลุมมีกำลังปานกลาง ฝนยังตกต่อเนื่องได้ด้านตะวันตกของภาคเหนือใกล้บริเวณที่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน (ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่)
1-2 วันนี้ ฝนจะเริ่มซาลงแล้ว ท้องฟ้าเริ่มเปิด แต่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ยังต้องเฝ้าติดตามและระมัดระวัง
ส่วนภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะด้านรับมรสุม (บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต จันทบุรี และตราด) ยังมีฝนกระจาย โดยมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว ยังต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบริเวณภาคเหนือ
ขณะที่ในช่วง 13-20 ก.ย.67 สถานการณ์และแนวโน้มของฝนบริเวณประเทศไทยจะมีการกระจายเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง
ประกอบมรสุมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังแรงขึ้นและพัดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคอีสาน ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น บริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง(รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ต้องกลับมาเฝ้าระวังฝนตกหนักอีกช่วง โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล นอกจากจะมีฝนหนักแล้วยังมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย ยังต้องระวังน้ำท่วมขัง น้ำรอการระบาย
(***ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)
เช็กพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่า
ปภ.รายงานคาดการณ์ วันนี้ 11 ก.ย.2567 เมื่อเวลา 08.00 น. สำหรับพื้นที่ต้องรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในระยะสั้น
ภาคเหนือ
- จ.เชียงใหม่ (อ.แม่อาย ฝาง)
- เชียงราย (อ.แม่จัน)
เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ
จ.เชียงใหม่ (อ.แม่อาย ฝาง)
เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่จัน แม่ฟ้าหลวง)
ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
รวมถึงเตรียมถุงฉุกเฉิน อุปกรณ์ส่องสว่าง และกระสอบทราย พร้อมตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ตลอดจนงดกิจกรรมและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ
- จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล พญาเม็งราย)
- ตาก (อ.แม่สอด)
- สุโขทัย (อ.กงไกรลาศ)
- พิษณุโลก (อ.เมืองฯ บางระกำ พรหมพิราม)
ภาคกลาง
- จ.อ่างทอง (อ.ป่าโมก วิเศษชัยชาญ)
- พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล บางปะหัน เสนา ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน บางไทร)
พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม
ภาคเหนือ
- จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปางมะผ้า)
- เชียงใหม่ (อ.เชียงดาว แม่อาย ฝาง)
- เชียงราย (อ.แม่ฟ้าหลวง เวียงแก่น เทิง เชียงแสน เชียงของ เวียงชัย)
- ตาก (อ.ท่าสองยาง)
ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่เชิงเขาเสี่ยงภัยดินถล่มและเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวหรือไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ พร้อมวางแผนอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ให้พ้นจากแนวการไหลของดิน
อ่านข่าว : น้ำหลากสะพานซูตองเป้ จ.แม่ฮ่องสอน
"แม่ฟ้าหลวง" เปิดบินปกติ แนะผู้โดยสารเดินทางล่วงหน้า 2-3 ชม.
ช่วยได้แล้ว "ตาเขียงหมู" หนีน้ำท่วมบนเต็นท์แดงนานกว่า 18 ชม.