"ถ้ำหลวง" จมน้ำมิด คาดแรงสุดในรอบ 13 ปี

ภัยพิบัติ
11 ก.ย. 67
10:40
33,036
Logo Thai PBS
"ถ้ำหลวง" จมน้ำมิด คาดแรงสุดในรอบ 13 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงรายจมน้ำมิด น้ำป่าทะลักออกจากถ้ำแรงกว่าน้ำตก "เวิร์น อันสเวิร์ธ" นักสำรวจถ้ำ คาดแรงสุดในรอบ 13 ปี ยังปิดท่องเที่ยวถึง 30 ก.ย.

สถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.เชียงราย จากอิทธิพลพายุยางิ ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมชุมชน อ.แม่สาย และชาวบ้านรอคอยความช่วยเหลือ

วันนี้ (11  ก.ย.2567) น.ส.เพชรรัตน์ สุขสำราญ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (10 ก.ย) ในพื้นที่ถ้ำหลวง มีฝนตกหนักต่อเนื่องปริมาณฝนตก 263 มม. และจนถึงเช้านี้พบระดับน้ำสูง แม้ว่าฝนจะไม่แรงเท่าวันก่อน แต่สถานการณ์ในพื้นที่ยังวิกฤต

โดยพบว่ามีน้ำทะลักออกจากถ้ำหลวง สภาพน้ำเป็นสีแดงขุ่น ไหลแรงเชี่ยวกรากจนถึงด้านหน้าที่ทำการอุทยาน ซึ่งนายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำ ได้เข้าสำรวจสถานการณ์เมื่อเช้านี้ ระบุว่าปริมาณน้ำที่ไหลออกจากถ้ำหลวงมากกว่าปี 2554 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน

ทำงานมา 5-6 ปีไม่เคยเห็นมาก่อน น้ำทะลักออกยิ่งกว่าน้ำตก แสดงว่าน้ำต้องเต็มทุกโถง ตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังอยู่ในพื้นที่ 8 คน และโชคดีที่ถ้ำหลวง ยังปิดการท่องเที่ยวจนถึง 30 ก.ย.นี้ 

อ่านข่าว เช็ก ปริมาณฝนสูงสุดในช่วง 3 วัน จังหวัดไหนฝนเกิน 100 มม. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำไหลออกจากถ้ำหลวง สูงจนถึงทางเข้าปากถ้ำ และน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) วลา 10.30 น.วัดระดับน้ำ 20 ซม.จากนั้นฝนตกลงมาต่อเนื่องผ่านไม่ถึง 20 ชม.ระดับน้ำสูงจนถึงรั้วทางเข้าถ้ำ และล้นทะลักจนถึงบันไดทางขึ้นและป้ายอุทยาน

รู้ทันเตรียมพร้อม รับมือน้ำป่าไหลหลาก

ขณะที่เพจกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ฤดูฝนปีนี้มีฝนตกหนัก และมีปริมาณน้ำฝนสะสมในชั้นดิน ทำให้หลายพื้นที่ประสบกับอุทกภัยจากน้ำป่า ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะน้ำตก ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและไม่ประมาท เรามาเตรียมความพร้อม และทราบถึงวิธีรับมือกับภัยธรรมชาติ หากประสบกับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะได้ระมัดระวังอย่างทันท่วงที

  • ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนไปท่องเที่ยว
  • ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ก่อนไปท่องเที่ยว หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  • สังเกตเส้นทางขึ้นและลง เพื่อความปลอดภัย เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่ออพยพิอกมาได้อย่างปลอดภัย
  •  หากพบสิ่งผิดสังเกตให้ขึ้นจากน้ำและขึ้นที่สูงทันที
  • ปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติอย่างเคร่งครัด หรือสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากเจ้าหน้าที่ 

หากประชาชนประสบเหตุอุทกภัยหรือดินโคลนถล่มในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่ใกล้เคียง สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าว

ร่องรอยความเสียหาย "ยางิ" ถล่มเวียดนามเสียชีวิตกว่า 120 คน





ข่าวที่เกี่ยวข้อง