จับตา! แฮร์ริส-ทรัมป์ พบกันครั้งแรกบนเวทีดีเบตเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024

ต่างประเทศ
11 ก.ย. 67
07:41
1,731
Logo Thai PBS
จับตา! แฮร์ริส-ทรัมป์ พบกันครั้งแรกบนเวทีดีเบตเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชันวิสัยทัศน์ที่เป็นการพบกันครั้งแรกของ "คามาลา แฮร์ริส-โดนัลด์ ทรัมป์" กำลังจะเริ่มขึ้นท่ามกลางการจับตาของคนทั่วโลก บางคนมองว่าเป็นการเปิดตัวแฮร์ริสในเวทีระดับประเทศครั้งแรกหลังห่างหายไปตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่ทรัมป์ดีเบตมาแล้วอย่างโชกโชนถึง 6 ครั้ง

วันนี้ (10 ก.ย.2567) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี เดินทางถึงเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนน์ซิลเวเนีย เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมการประชันวิสัยทัศน์ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ National Constitution Center

โดยแฮร์ริสให้ความเห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และตัวแทนจากรีพับลิกัน คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จะพูดเรื่องไม่จริงมากมาย ตามสไตล์การดีเบตของเขา และนี่คือสิ่งที่ควรเตรียมพร้อมรับมือว่าทรัมป์ไม่ได้เห็นความสำคัญของการพูดความจริง

เธอยังเชื่อว่าทรัมป์น่าจะต่อสู้เพื่อตัวเอง มากกว่าต่อสู้เพื่อชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะได้เห็นระหว่างการดีเบต

ช่วงหลายวันที่ผ่านมาทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างซุ่มเตรียมตัวกับทีมงาน โดย The New York Times รายงานว่าฝั่งเดโมแครตจำลองเวทีดีเบตขึ้นมาและให้ที่ปรึกษารับบททรัมป์เป็นคู่ซ้อมของแฮร์ริส ที่ไม่ได้ขึ้นเวทีใหญ่แบบนี้มาตั้งแต่ปี 2563 สมัยที่ต้องปะทะ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีคู่ทรัมป์ในขณะนั้น

ในขณะที่ทรัมป์เป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ที่ขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์ในฐานะตัวแทนพรรคใหญ่ มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันสมัยใหม่ ถึง 6 ครั้งด้วยกัน และครั้งนี้คือครั้งที่ 7 ฝั่งทรัมป์ มีรายงานว่าทีมงานลงพื้นที่ฟิลาเดลเฟียไปดูสถานที่จริง วัดขนาดโพเดียม วัดระยะการเดินไปยังโพเดียม ดูตำแหน่งกล้องทุกตัวเพื่อไปให้ข้อมูลกับอดีตประธานาธิบดี

สื่อรายงานว่าทีมงานทรัมป์พยายามให้ความสำคัญกับการนำเสนอนโยบาย ผลงานของทรัมป์ในอดีต ซึ่งทีมงานของทั้ง 2 ผู้สมัครต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ดีเบตครั้งนี้จะเป็นการเปิดตัวแฮร์ริส ให้คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ได้รู้จักแฮร์ริสว่าเป็นคนแบบไหนในสายตาชาวอเมริกัน เพราะพวกเขารู้จักทรัมป์ดีอยู่แล้ว

แนวทางที่น่าจะเห็นในการดีเบตวันนี้ นอกจากแฮร์ริสจะชี้ว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย เหมือนที่ โจ ไบเดน ใช้โจมตีทรัมป์ในการดีเบตนัดที่แล้ว เธอน่าจะชี้ให้เห็นถึงแนวทางอันซ้ำซากของทรัมป์ ที่เป็นคนรวยซึ่งใส่ใจแต่จะช่วยคนรวยด้วยกัน โดยไม่ไปไกลถึงการวิจารณ์ทรัมป์ว่าเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหรือเหยียดเพศอย่างที่ ฮิลลารี คลินตัน อดีตตัวแทนเดโมแครตเคยใช้วิธีนี้แล้วไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะที่มีรายงานว่าทีมงานทรัมป์กังวลว่าเขาจะอดไม่ได้ที่จะแสดงอาการดูหมิ่นแฮร์ริส ทั้งเรื่องเพศและเรื่องเชื้อชาติ คนใกล้ตัวทรัมป์บอกว่าเขาเชื่อว่าแฮร์ริสไม่ฉลาด และไม่มีความสามารถใด ๆ ไม่เหมือนกับอดีตคู่แข่งที่เป็นผู้หญิงอย่างฮิลลารี คลินตัน ที่อย่างน้อย ๆ ทรัมป์ก็ยังเห็นว่าเป็นคนทำงานหนักและมีความสามารถ

ถ้ามาดูผลสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครทั้ง 2 คน ก่อนการดีเบตจะเห็นว่า คะแนนของทั้งคู่สูสีกันมาก ห่างกันไม่ถึงร้อยละ 3 แต่ถ้าแยกคะแนนออกมาดูใน 7 รัฐสมรภูมิ ซึ่งเป็นรัฐที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเห็นว่า ส่วนใหญ่คะแนนชนะกันไม่ถึงร้อยละ 1 อย่างนอร์ท แคโรไลนา แฮร์ริสนำแค่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น ขณะที่ทรัมป์มีคะแนนนำในแอริโซนาและจอร์เจีย

ถ้าออกมาในรูปนี้ หากทรัมป์คว้าชัยชนะในจอร์เจีย เพนน์ซิลเวเนียและนอร์ท แคโรไลนา จะทำให้ทรัมป์ได้คะแนนเพิ่ม 51 เสียง เติมเข้าไปในเสียงคณะผู้เลือกตั้งที่รีพับลิกันน่าจะเก็บได้ กลายเป็น 270 เสียง น่าจะส่งให้ทรัมป์นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัยได้

อ่านข่าวอื่น :

ร่องรอยความเสียหาย "ยางิ" ถล่มเวียดนามเสียชีวิตกว่า 120 คน

เริ่มแล้วการแข่งขัน WorldSkills ครั้งที่ 47 ที่ฝรั่งเศส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง